ถ้ามีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น อย่าปล่อย อย่าละเลย ต้องพยายามทุกประการที่จะระงับความวิวาทนั้น โดยพิจารณาว่า ขณะนี้มีความวิวาทไหม ถ้าไม่มีก็อย่าให้เกิดขึ้น โดยการแสดงธรรมตรงตามธรรมวินัย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความวิวาท หรือถ้ามีการวิวาทเกิดขึ้น ก็ต้องพยายามระงับที่จะไม่ให้ลุกลาม โดยการแสดงธรรมวินัยตามที่พระผู้ที่พระภาคทรงแสดงแล้ว
พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอธิกรณ์ ๔ คือการวิวาท ๔ ประการ และการระงับอธิกรณ์ คืออธิกรณสมถะ ๗ ตามพระธรรมวินัย โดยให้สติ ไม่ใช่ว่าให้โดยว่ากล่าวอย่างรุนแรง แต่ว่าโดยความเมตตา โดยให้สติบุคคลที่เห็นผิด เข้าใจผิดนอกจากให้สติแล้วก็ปลอบโยน จนกว่าจะระลึกได้ว่าผิด เพราะใครก็ตามจะรู้สึกตัวว่าผิด บางทียาก เพราะเป็นผู้ที่ยึดถือความเห็นของตนเองอย่างมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะให้บุคคลอื่นรู้สึกตัวว่าผิดได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีเมตตา ให้สติปลอบโยน จนกว่าบุคคลนั้นจะระลึกได้ว่าผิดแล้ว ทรงแสดงธรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ๖ เพื่อสงเคราะห์กัน ไม่วิวาทกัน คือ มีกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในที่แจ้งและที่ลับ
ท่านที่จะเจริญความสงบ เพราะว่าไม่ควรจะเป็นแต่ผู้ที่ตั้งใจจะอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว โดยปล่อยให้อกุศลธรรมเกิดกลุ้มรุมมากมาย แต่ควรจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลทุกประการ และการที่เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเกื้อกูลต่อสติที่จะให้เกิดกุศลทุกขั้น แม้ในขั้นของความสงบ ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องเป็นผู้ที่ระลึกได้ คือ สติเกิดรู้ว่า ท่านมีกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับหรือไม่ บางท่านอาจจะมีกายกรรมที่ดีเฉพาะในที่แจ้ง แต่ในที่ลับอีกอย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีสติ สามารถที่จะระลึกได้ว่ามีกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับด้วย
มีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับ วจีกรรมในที่ลับจะมีไหม?
ในที่แจ้งมีคำพูด ซึ่งจะพูดกับบุคคลตั้งแต่ ๑ คน ๒ คน ๓ คน หลายคน แต่ในที่ลับ คิด นึก พูดในใจ เตรียมที่จะพูดกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะวจีทวารโดยสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแล้ว ได้แก่วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ไม่ว่าจะในที่แจ้ง หรือในที่ลับ เป็นสภาพธรรมที่ตรึกเป็นคำ เป็นเรื่องต่างๆ แล้วการที่จะยับยั้งไม่ให้นึกคิดถึงใคร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่มีสภาพการจำ การรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ เป็นปัจจัยให้เกิดการนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ ถึงบุคคลต่างๆ ซึ่งสติจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะที่คิดนั้นด้วยอกุศลหรือด้วยกุศล
เพราะฉะนั้น กายกรรมจึงมีทั้งในที่แจ้งและที่ลับ บางคนต่อหน้าในที่แจ้ง กายกรรมงามมาก แต่เพียงคนนั้นหันหลังนิดเดียว เป็นที่ลับ กายกรรมก็ไม่งามแล้วเวลาที่โกรธ จะเห็นได้ อาจจะแสดงกิริยาอาการบางประการ ลับหลัง หรือในที่ลับ นั่นก็เป็นกายกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาในที่ลับ แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีในที่แจ้ง ฉันใด วจีกรรมก็เช่นเดียวกัน ควรจะประกอบด้วยเมตตาทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศลโดยตลอดทั้งในที่แจ้ง หรือในที่ลับ นอกจากนั้นแล้ว ควรจะมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับ
บรรยายโดยท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คัดลอกข้อความบางตอนมาจาก แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๘๒๐
ศึกษาธรรมะ จุดประสงค์เพื่อขัดเกลาความไม่ดี ทีสำคัญเป็นคนดีและทำความดีอบรมปัญญา ค่ะ
อนุโมทนาค่ะ
นำมาเตือนกันอย่างนี้ ดีมากเลย
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ
นอกจากเป็นการนำคำกล่าวของท่านอาจารย์มาเตือนแล้ว ข้อความ ยังแสดงให้เห็นถึงความละเอียดและลึกซึ้งของท่านอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเมื่อใด ความสงบในกายวาจาใจ เป็นสิ่งที่มั่นคงขึ้นจริงๆ
อ่านดีมากครับ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและไม่ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อเป็นคนดีและน้อมประพฤติปฏิบัติ อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสครับ
ขออนุโมทนา
เป็นข้อความที่มีประโยชน์ ทำให้ได้คิด เป็นเครื่องเตือนที่ดี ควรจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลทุกประการ
ขออนุโมทนาด้วยนะครับ
ขออนุโมทนาครับ
เป็นคำเตือนที่ดีจริงๆ ค่ะ แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีการสะสมหลากหลาย และปัญญาน้อย ความสำเร็จเช่นนี้ ยากยิ่งนัก.
ปุถุชนผู้มีปัญญาน้อย อ่านแล้วเกิดความสดับ แม้จะยากก็จะพยายามเพียรต่อไปค่ะ สาธุ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ