ชื่อว่า ย่อมกลัวแต่สิ่งที่ควรกลัว และชื่อว่า ผู้ไม่งมงาย ส่วนบุคคลใดกลัวแต่สิ่งที่ไม่ควรกลัว บุคคลนั้นชื่อว่า ผู้งมงาย
ข้อความในพระธัมมปทัฏฐกถา ฑัณฑวรรควรรณา
[๑๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงเรื่องในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า สมัยนั้นท่านสุมังคลเศรษฐีได้สร้างพระวิหารถวายพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า โจรผู้หนึ่งผูกอาฆาตในท่านเศรษฐี เมื่อท่านเศรษฐีเพียงปรารภถึงโจรผู้นั้นในขณะนอนคลุมผ้าตลอดศีรษะ ทั้งมีเท้าเปื้อนโคลนอยู่ในศาลาหลังหนึ่งใกล้ประตูพระนครว่า ผู้นี้คงเป็นผู้ที่เที่ยวกลางคืนจึงมีเท้าเปื้อนโคลน ด้วยความอาฆาตนั้นโจรจึงเผานาของท่านเศรษฐี ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคทั้งหลายในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง แต่ก็ยังไม่หมดความแค้นเคือง เมื่อสืบรู้ว่าพระคันธกุฎีเป็นที่ยังความปิติยินดีอย่างยิ่งแก่ท่านเศรษฐี จึงได้ทำลายพระคันธกุฎีแล้วจุดไฟเผาเมื่อท่านเศรษฐีเห็นพระคันธกุฎีไหม้แล้วก็มิได้เสียใจเลย กลับปรบมือยินดีที่จะได้สร้างพระคันธกุฎีถวายพระผู้มีพระภาคอีก แล้วท่านก็ได้สร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระผู้มีพระภาค ซึ่งมีภิกษุ ๒ หมื่นรูปเป็นบริวาร โจรเห็นอย่างนั้นก็ยังไม่หมดความแค้นเคือง จึงเดินเตร่คอยฆ่าท่านเศรษฐีอยู่ในพระวิหารนั้นถึง ๗ วัน
ฝ่ายท่านเศรษฐีก็ได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขสิ้น ๗ วัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่งเผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ ครั้งเผาเรือน ๗ ครั้ง บัดนี้แม้แต่พระคันธกุฎีก็จักเป็นผู้นั้นแหละเผา ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เขาก่อน
เมื่อโจรได้ยินดังนั้นก็รู้สึกผิดที่ได้กระทำกรรมอันหนักต่อท่านเศรษฐีผู้ไม่โกรธเคืองโจรเลยแม้แต่น้อย และยังให้ส่วนบุญแก่โจรก่อนด้วย โจรเข้าไปหมอบใกล้เท้าของท่านเศรษฐี และขอให้ท่านเศรษฐีอดโทษ (ยกโทษ) ให้ เมื่อท่านเศรษฐีสอบถาม โจรก็สารภาพเรื่องทั้งหมด รวมทั้งเหตุที่ทำให้โจรแค้นเคืองท่านเศรษฐีด้วย เมื่อท่านเศรษฐีอดโทษให้โจรแล้ว โจรก็ขอเป็นทาสรับใช้ในเรือนของท่านเศรษฐี แต่ท่านเศรษฐีก็ไม่รับไว้ เพราะเห็นว่าเพียงท่านกล่าวคำมีประมาณเท่านั้น โจรยังแค้นเคืองถึงเพียงนี้ ฉะนั้น ถ้าโจรอยู่ในเรือนของท่าน ท่านย่อมไม่อาจที่จะไม่ให้โจรแค้นเคืองท่านอีกได้และแม้ว่าท่านเศรษฐีจะอดโทษให้โจรนั้นแล้ว เมื่อโจรสิ้นชีวิตลง ด้วยผลของอกุศลกรรมนั้น จึงเกิดในอเวจีมหานรกสิ้นกาลนาน และภายหลังจากนั้นก็เกิดเป็นอชครเปรต ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้
ท่านเศรษฐีไม่โกรธเคืองโจรผู้แค้นเคืองท่าน ท่านมีเมตตา ให้ส่วนบุญแก่โจรผู้กระทำอกุศลกรรมอันหนักก่อน เพื่อโจรจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนาในกุศลของท่านด้วย ซึ่งถ้าท่านเศรษฐีโกรธโจรและผูกอาฆาตในโจรนั้น ท่านเศรษฐีก็จะต้องได้รับผลของความโกรธและการกระทำอันเกิดจากความอาฆาตของท่านเอง
ผู้กลัวเวรภัยใดๆ พึงเว้นจากเวร ๕ อันมีปาณาติบาต เป็นต้น เพราะบุคคลเมื่อทำอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ชื่อว่า ย่อมกลัวแต่สิ่งที่ควรกลัว และชื่อว่าผู้ไม่งมงาย ส่วนบุคคลใดกลัวแต่สิ่งที่ไม่ควรกลัว บุคคลนั้นชื่อว่า ผู้งมงาย
ผู้ประพฤติตามพระธรรม ควรกลัวการกระทำอกุศลกรรม หรือคิดว่าควรกลัวเจ้ากรรมนายเวร?
..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ