[คำที่ ๑๑๘] วิริยารมฺภกถา‏
โดย Sudhipong.U  28 พ.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 32238

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ วิริยารมฺภกถ

คำว่า วิริยารมฺภกถา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำว่า วิริย (ความเพียร) อารมฺภ (ปรารภ,เริ่ม) และ กถา(ถ้อยคำ,คำพูด)  รวมกันเป็น วิริยารมฺภกถา อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ - ริ - ยา - รำ - พะ - กะ - ถา แปลว่า ถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อการปรารภความเพียรหรือเริ่มความเพียร ซึ่งไม่พ้นไปจากพระธรรมคำสอนทั้งหมดที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก อุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้ไม่ย่อท้อต่อการที่จะสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง จนกว่าจะดับหมดสิ้นไปในที่สุด เช่นข้อความจากพระไตรปิฎกที่ได้ยกมา ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ วิริยะเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมปรารภความเพียร เพื่อละกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เรียกว่า กำลัง คือ วิริยะ

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต วิตถตสูตร)

 บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี, พึงห้ามจิตเสียจากบาป, เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท)


แต่ละบุคคลที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ และอวิชชา หรือโมหะ ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป และจะเห็นได้ว่าในอดีตชาติที่ผ่านๆ มานั้น เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าใครทำอะไร และที่ไหนมาบ้าง เพราะชาติก่อนๆ เป็นเหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ ในชาตินี้ รู้ได้เลยว่า เราทำอะไรมาบ้างแล้ว ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม และประการที่สำคัญ คือ ควรที่รู้ว่าชาตินี้ ปัญญายังไม่พอที่จะสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ และเป็นเรื่องที่ยาวไกลมากสำหรับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น  

บุคคลผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถพบเห็นสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิได้ประเภทหนึ่ง คือ สัตว์ดิรัจฉาน เช่นสุนัข แมว นก เป็นต้น การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นผลของกุศลกรรม ไม่เหมือนกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะได้คิดพิจารณาว่า สัตว์ดิรัจฉานเกิดมาแล้ว ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเป็นสัตว์ที่มีกุศลจิตเกิดเป็นอย่างมาก ทั้งโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) โทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) โมหมูลจิต (จิตที่มีโมหะเป็นมูล) แล้วคนที่เกิดเป็นมนุษย์ ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าหากจะปล่อยให้มีแต่กุศลเกิดมากๆ ในชีวิตประจำวัน ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น  ซึ่งบางครั้งมีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ก็มี ก็คงไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉานซึ่งเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าผู้ใดมีการเจริญกุศล สะสมความดี  มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เป็นต้น นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ต่างกัน  เพราะโอกาสของการเกิดเป็นมนุษย์ ควรจะเป็นโอกาสที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ เพราะถ้าเกิดในอบายภูมิแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะเจริญกุศลได้ โดยเฉพาะกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

ที่แสดงมานี้ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งแห่งถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้ปรารภหรือเริ่มมีความเพียรในทางกุศล ทำให้ความเพียรในทางกุศล เจริญขึ้น แสดงให้เห็นตามความเป็นจริง ว่าควรที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพราะว่าการเกิด การตายเป็นธรรมดาของชีวิต เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครรอดพ้นไปได้ ความตายจักต้องมีอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้เลย ดังนั้น พึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการและไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาในชีวิตประจำวัน มีชีวิตอยู่เพื่อฟังพระธรรม เพื่อชาตินี้จะได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ดิรัจฉานอย่างแท้จริง.  

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย มกร  วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ