ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ชัมพุขาทกสังยุตต์ ชัมพุขาทกปริพาชกได้สนทนากับท่านพระสารีบุตรด้วยข้อความคล้ายๆ กับในสูตรก่อน คือ ใน สามัณฑกสังยุตต์ แล้วได้กล่าวถึงหนทางใดที่ทำให้รู้ธรรมได้ อย่างเวทนา ๓ ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี ความสุขทุกคนก็ต้องมี อุเบกขาก็ต้องมี ทุกขเวทนาก็ต้องมี ไม่ใช่ว่ามีแต่ทุกข์
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นจะรู้แต่ทุกข์ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะถูกหรือผิด เพราะเหตุว่าเวทนามีถึง ๓ บางครั้งก็เฉยๆ เป็นอุเบกขาเวทนา บางครั้งก็เป็นโสมนัสเวทนา หรือสุขเวทนา และบางครั้งก็เป็นทุกขเวทนา
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะมีแต่ทุกข์ที่สติจะต้องระลึกรู้ แต่ไม่ว่าขณะใดบุคคลใดมีเวทนาใดสติก็ระลึกรู้ได้ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็สามารถรู้ลักษณะของความรู้สึกในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น สุขเวทนา สติก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น หรือในขณะใดที่เป็นทุกข์ โทมนัส ในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพความรู้สึกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น หรือในขณะที่เป็นอุเบกขาก็เหมือนกัน
ให้ทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นปกติ เป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่มีหนทางจะปฏิบัติให้รู้ความจริงของธรรมนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสามารถรู้ลักษณะของเวทนา เหมือนอย่างที่ชัมพุขาทกะได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า มีหนทางหรือไม่ที่จะรู้ชัดในเวทนาทั้ง ๓ ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่า หนทางซึ่งเป็นปฏิปทาที่จะให้รู้เวทนา ๓ นั้นก็มี คือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
ชัมพุขาทกปริพาชกได้ถามถึงเรื่องอาสวะ ๓
อาสวะ ๓ นี้เป็นธรรมเครื่องหมักดองทำให้ไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ด้วยความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามาสวะ ด้วยความยินดีในภพ เป็น ภวาสวะ ด้วยความไม่รู้ เป็นอวิชชาสวะ
การรู้ลักษณะของอาสวะ ๓ ซึ่งมีจริงทุกๆ ขณะนี้ได้ ก็มีหนทาง คือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
สำหรับอวิชชา ๔ ก็เช่นเดียวกัน อวิชชา ๔ คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ได้แก่ความเกิดขึ้นและความดับไปของนามและรูปทั้งปวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เจริญสติไม่รู้ว่าสภาพที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง
แต่จะรู้ได้ต้องเจริญสติ สามารถรู้ลักษณะของอวิชชาทั้ง ๔ คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทุกข์
สำหรับตัณหา ๓ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานั้น จะรู้ได้ถึงลักษณะของสภาพตัณหาเหล่านั้นในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏโอฆะ อุปาทาน ก็เช่นเดียวกัน
สำหรับภพ ๓ ซึ่งได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เวลานี้ที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่เป็นกามภพ ขณะใดที่จิตรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นไปกับสีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา เป็นไปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย
จิตขณะนี้เป็นกามาวจรจิต เมื่อยังไม่ได้เจริญรูปฌานยังไม่ใช่รูปภพ ยังไม่ได้เจริญอรูปฌานก็ไม่ใช่อรูปภพ ในขณะนี้เป็นกามาวจรจิต เพราะไม่ว่าจะคิด จะนึก จะชอบ ไม่ชอบ ก็เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง
ในวันหนึ่งๆ ของบุคคลที่อยู่ในกามภพ เป็นกามบุคคลก็ต้องรู้กามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น จิตในวันหนึ่งๆ ก็ไม่พ้นไปจากกามาวจรจิต ยังไม่พ้นไปจากกามภพ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่รูปฌานจิต ยังไม่ใช่อรูปฌานจิต
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดในกามภพ ไม่ใช่รู้ชาติหน้า หรือไม่ใช่รู้ชาติก่อน ผู้ที่จะรู้ชัดในลักษณะของภพ คือ กามภพของจิต หรือกามาวจรจิต ก็ต้องขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังคิดนึก กระทบกามารมณ์ทั้งหลายทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง
และหนทาง ปฏิปทาที่จะให้รู้ชัดในกามภพ คือ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง จะเห็นได้ว่า ธรรมที่ชัมพุขาทกะได้สนทนากับท่านพระสารีบุตรเป็นธรรมที่ทุกคนมี แล้วก็มีหนทางที่จะรู้แจ้ง รู้ชัดได้จริงๆ
ในตอนสุดท้ายของการสนทนา ชัมพุขาทกะก็ได้กล่าวถามพระสารีบุตร เหมือนกับสามัณฑกปริพาชก คือ ถามว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ มรรคาดีนัก ปฏิปทาดีนัก เพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง และเพียงพอเพื่อความไม่ประมาท
ดูกร ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้
คำตอบก็เช่นเดียวกัน คือ ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า
บรรพชา ผู้มีอายุ
ปริพาชกชัมพุขาทกะก็ได้ถามต่อไปมีข้อความเช่นเดียวกับที่สามัณฑกปริพาชก ถามว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันบุคคลผู้บวชแล้วกระทำได้โดยยาก
ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า
ความยินดียิ่ง ผู้มีอายุ
ปริพาชกชัมพุขาทกะก็ได้ถามต่อไปว่า
ก็สิ่งอะไร อันภิกษุผู้ยินดียิ่งแล้วกระทำได้โดยยาก
ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เป็นชีวิตจริงๆ ถ้าจะสังเกตจากการสนทนาของท่านทั้งสอง จะเห็นได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่กระทำได้ในธรรมวินัยนี้ แต่สิ่งที่กระทำยากกว่านั้น คือ การละอาคารบ้านเรือนบรรพชาอุปสมบทเป็นบรรพชิต เป็นอุปนิสัยจริงๆ ที่จะเจริญสติปัฏฐานในลักษณะของการละ สละอาคารบ้านเรือน ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนก็ทราบชัดว่า กระทำได้ยาก
ทุกท่านอาจรู้สึกว่าสะดวกดี สบายดี การมีชีวิตสงบๆ แต่ชีวิตจริงๆ ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้สะสมเนกขัมมะที่จะละอาคารบ้านเรือน ท่านก็ยังคงเป็นฆราวาสที่ครองเรือน หรือไม่ครองเรือน แต่ไม่ใช่เพศบรรพชิต
นี่ก็เป็นชีวิตจริงๆ ธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนฟังแล้วพิจารณาได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีธรรมเหล่านั้น นอกจากนั้นผู้ที่บวชแล้วสิ่งที่กระทำได้ยากก็คือ ความยินดียิ่งในการบรรพชา และถึงแม้ว่าเป็นภิกษุผู้ยินดียิ่งแล้ว สิ่งที่กระทำได้โดยยากนั้นก็ยังคงยาก คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
การเจริญสติ ต้องอบรมเจริญให้มากขึ้นเป็นปกติ การที่บุคคลทั้งหลายมีอวิชชาที่สะสมมาในอดีตอนันตชาติมาก หลงลืมสติมาก ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเห็นในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินในภพหนึ่งชาติหนึ่งสะสมไว้มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น มากขึ้นจนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะคลายการยึดถือความเห็นผิดนั้น ก็เป็นสิ่งที่ยากมาก
สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีโลภะเกิดขึ้น มีโทสะกำลังปรากฏ มีเห็น มีได้ยิน สิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ผู้เจริญสตินั้นจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ วันไหนจะละความไม่รู้ วันไหนจะละคลายการเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน ก็ไม่มีวันที่จะละคลายได้เลย
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 78
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 79