สติสัมปชัญญะจากพระสูตรนี้ สอดคล้องกับความเป็นอนัตตาอย่างไร
โดย Witt  23 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38943

กราบเรียนถามอาจารย์วิทยากรครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

๓. สติปัฏฐานสังยุต

๑. อัมพปาลิวรรค

๓. ภิกขุสูตร

ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย”



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจนจริงๆ ก่อนอื่นก็ต้องกล่าวถึง สติ กับ สัมปชัญญะ ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภทไม่มีเว้น ส่วนสัมปชัญญะ เป็นอีกชื่อหนึ่งของปัญญา เป็นความไม่หลง เป็นความรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง (ปัญญาเจตสิก) สติสัมปชัญญะ มักจะเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญความสงบของจิต ที่เป็นสมถภาวนา และ การอบรมปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา หรือ สติปัฏฐาน เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สติเกิด โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะเกิดก็จะต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด เมื่ออาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเริ่มเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้นว่า ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นได้โดยที่สติทำกิจระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง และปัญญาทำกิจรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สติเป็นสติ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเป็นปัญญาไม่ใช่สติ สรุปได้ว่า

สติ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เกิดกับจิตที่ดีงาม สัมปชัญญะ เป็นอโมหเจตสิกหรือปัญญา สติสัมปชัญญะ มักเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมภาวนา ขั้นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) สติเกิด โดยไม่มี สัมปชัญญะ (ปัญญา) ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดจะต้องมีสติ เกิดด้วยเสมอ เพราะสติ เป็นสภาพธัมมะที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเสมอ แต่ปัญญา ไม่เสมอไปครับ เมื่อเราพิจารณาคำนี้ จะทำให้เข้าใจเรื่องการอบรมวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) ว่าเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ (มีสัมปชัญญะ) และต้องรู้ว่า สติระลึกอะไร สัมปชัญญะ (ปัญญา) รู้อะไร ก็รู้สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้เองครับ ว่าเป็นธัมมะ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องของปัญญา มิใช่ขั้นทาน และศีลเท่านั้น

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ ต้องแยกกันเจ้าค่ะ เวลาที่กล่าวถึงสติสัมปชัญญะ และลักษณะของสติสัมปชัญญะ จะแยกเลยว่า ลักษณะของสติ เป็นอย่างไร กิจของสติ เป็นอย่างไร อาการปรากฏของสติ เป็นอย่างไร และ ลักษณะของสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร กิจของสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร แต่เวลาที่พูดรวมกัน สติสัมปชัญญะ ต้องหมายความถึง สติเจตสิก และ ปัญญาเจตสิก เจ้าค่ะ ซึ่งขณะใดที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่มีแต่สติเจตสิกเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณาในเหตุผล และมีความเข้าใจ ในขณะนั้นก็ต้องเป็น สติสัมปชัญญะ คือต้องมี ปัญญาเจตสิก ซึ่งเป็น สัมปชัญญะ เกิดร่วมกับ สติ นั้นด้วย

พระภิกษุ ถ้าอย่างนั้นในการเจริญสติปัฏฐาน ที่สติเกิดแต่ละครั้ง ในขณะที่พิจารณา รูปธรรม หรือนามธรรมก็ดี ในขณะนั้น ชื่อว่ามี สัมปชัญญะ ด้วยใช่ไหม

ท่านอาจารย์ เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน ธรรมดาแล้วจะต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่พิจารณา สังเกตลักษณะ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่า ลักษณะของปัญญา ยังไม่ปรากฏชัด แต่ที่ปัญญา จะเจริญได้ ต้องเริ่มจากการสังเกต พิจารณา ศึกษา ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญา ก็เกื้อกูลเป็นลำดับขั้น เจ้าค่ะ


ข้อความแสดงว่า รู้สึกตั่วทั่วพร้อมที่แท้จริง คือ อย่างไร

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒[เล่มที่ 14] - หน้าที่ 298

นิเทสวารกถา

ข้อความบางตอนจาก...

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สัมมาสติมีอารมณ์ ๔

อิริยาบถบรรพ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนา โดยทางแห่ง ลมอัสสาสะปัสสาสะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยทางแห่งอิริยาบถ จึงตรัสว่า ปุน จปร อีกอย่างหนึ่งดังนี้เป็นต้น. ในอิริยาบถนั้น พึงทราบความ ว่า แม้สัตว์ดิรัจฉาน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกเป็นต้น เมื่อเดินไปก็รู้ว่า ตัวเดิน ก็จริงอยู่ แต่ในอิริยาบถนั้น มิได้ตรัสหมายเอาความรู้เช่นนั้น. เพราะ ความรู้เช่นนั้น ละความเห็นว่าสัตว์ไม่ได้ เพิกถอนความเข้าใจว่าสัตว์ไม่ได้. ไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือ สติปัฏฐานภาวนาเลย.


สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิด ครับ

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

สมดังข้อความในอรรถกถา อธิบายว่า สุนัขบ้าน เดิน มันก็รู้ว่ามันเดินอยู่ แต่ ไม่ใช่การรู้ในการอบรมปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สติสัมปชัญญะ มีทั้งสติ มีทั้งปัญญา ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะทุกขณะ เป็นธรรม มีธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ไม่ปราศจากธรรมเลย ที่สำคัญ คือ มีรากฐานที่มั่นคงจากการมีโอกาสได้ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง จนมีความเข้าใจอย่างถูกต้องมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย Witt  วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขอขอบพระคุณและกราบเรียนถามเพิ่มเติม

จากข้อความในพระสูตรข้างต้น

ประโยคที่ว่า "..ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ.."

มีผู้เริ่มศึกษาพระธรรม เข้าใจพระพุทธพจน์คลาดเคลื่อนไปว่า ทรงให้ภิกษุทำให้เกิดสติ ขณะที่มีอิริยาบถต่างๆ เนื่องจากไปยึดติดที่คำว่า "ทำความรู้สึกตัว"

ขอความกรุณาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นช่วยอนุเคราะห์ แนวทางในการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ศึกษาใหม่ด้วยครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 24 ต.ค. 2564

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ต้องอ่าน อรรถกถา ประกอบคำอธิบายครับ

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 684

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ถึงสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา. แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา.


สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิด ครับ

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

สมดังข้อความในอรรถกถา อธิบายว่า สุนัขบ้าน เดิน มันก็รู้ว่ามันเดินอยู่ แต่ ไม่ใช่การรู้ในการอบรมปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 24 ต.ค. 2564

อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 3 โดย Witt

ขอขอบพระคุณและกราบเรียนถามเพิ่มเติม

จากข้อความในพระสูตรข้างต้น

ประโยคที่ว่า "..ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ.."

มีผู้เริ่มศึกษาพระธรรม เข้าใจพระพุทธพจน์คลาดเคลื่อนไปว่า ทรงให้ภิกษุทำให้เกิดสติ ขณะที่มีอิริยาบถต่างๆ เนื่องจากไปยึดติดที่คำว่า "ทำความรู้สึกตัว"

ขอความกรุณาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นช่วยอนุเคราะห์ แนวทางในการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ศึกษาใหม่ด้วยครับ

จึงต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น มั่นคงว่า ไม่มีเรา ไม่มึใครทำอะไรได้ ไม่มีใครไปกำหนดอะไรได้ ไม่ตัวตนที่จะไปทำอะไรได้ แต่เพราะเมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ก็สามารถเข้าใจถูก รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ครับ


ความคิดเห็น 7    โดย petsin.90  วันที่ 24 ต.ค. 2564

กราบอนุโมทนาทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย Witt  วันที่ 24 ต.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 25 ต.ค. 2564

ขออนุญาตร่วมแสดงความเห็นครับ

ประโยคที่ว่า "..ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ.."

แสดงว่า พึงรู้ธรรมที่ปรากฏในขณะอิริยาบถนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้ก็ต้องได้ปัจจัยมาจากฟังธรรมแต่ละอย่างให้เข้าใจถูกต้อง

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 10    โดย Witt  วันที่ 29 ต.ค. 2564

อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 9 โดย ทรงศักดิ์

ขออนุญาตร่วมแสดงความเห็นครับ

ประโยคที่ว่า "..ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ.."

แสดงว่า พึงรู้ธรรมที่ปรากฏในขณะอิริยาบถนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้ก็ต้องได้ปัจจัยมาจากฟังธรรมแต่ละอย่างให้เข้าใจถูกต้อง

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ