เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
"เจตนาเป็นกัมมปัจจัย โลภะโทสะโมหะเป็นเหตุปัจจัย เจตสิกอื่นเป็นอุปนิสสยปัจจัย" พจนาท่านอาจารย์ กระผมพอเข้าใจในกัมมปัจจัยและเหตุปัจจัยแต่เจตสิกอื่นยังไม่เข้าใจ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ จงใจขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย กัมมปัจจัย จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย กับ นานักขณิกกัมมปัจจัย
สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เป็นผลของปัจจัย) คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ที่ทำให้เกิดรูปได้
นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา นี้คือ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม
สำหรับเจตนาที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก กับ ชาติกิริยา แม้จะเป็นกรรม แต่ก็ไม่ใช่กรรมที่จะให้ผลในภายหน้า เพราะชาติวิบาก เป็นการรับผลของกรรม ส่วนชาติกิริยาเป็นเพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้เลย ครับ
เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท ที่จะเป็นเหตุเป็นมูลรากให้สภาพธรรมอื่นๆ เจริญขึ้น ได้แก่ อกุศลเหตุ ๓ (โลภะ โทสะ โมหะ) และโสภณเหตุ ๓ (อโลภะอโทสะและอโมหะ)
อุปนิสสยปัจจัย คือ ที่อาศัยที่มีกำลังจากการสะสมที่จะทำให้สภาพธรรมะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปสภาพธรรมนั้นเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ สภาพธรรมนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อมีสภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยนั่นเอง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน อาศัยกันและกัน จึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากกันแล้วก็เกิดไม่ได้เลย อุปนิสสยปัจจัย มี ๓ ดังนี้
๑.ปกตูปนิสสยปัจจัย
๒.อารมณูปนิสสยปัจจัย
๓.อนันตรูปนิสสยปัจจัย
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมาก ถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย
แต่ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ ว่า สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ก็เป็นการกล่าวโดยรวมให้เข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป เช่น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัย ทั้ง ที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีสีเป็นอารมณ์ ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตให้ผลทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องกรรม ก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย แต่กรรมที่จะให้ผลเกิดในภายหน้าต้องเป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เท่านั้น เพราะกรรมมี ๒ อย่าง ได้แก่ สหชาตกัมมะ และ นานักขณิกกัมมะ ดังข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้
"กัมมปัจจัยอีกประเภทหนึ่ง คือ “นานักขณิกกัมมปัจจัย” ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบัน คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิก ซึ่ง เป็นกัมมปัจจัยเกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย”
เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และ กัมมชรูปเกิดขึ้น ในภายหลัง เมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว
เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา
ถ้าเจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบากหรือเจตนาในจิตที่เป็นกิริยาแล้ว เป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ถ้าเป็นเจตนาในกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่าเมื่อจิตและเจตนาเจตสิกอื่นๆ นั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นในภายหลัง ต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน"
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
อุปนิสสยปัจจัย คือเป็นปัจจัยที่อาศัยที่มีกำลัง เจตสิกอาศัยเจตสิกอื่นๆ เช่น โลภเจตสิก อาศัยโลภะก่อนๆ เป็นปัจจัยทำให้มีกำลังติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตามการสะสมค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ