สนทนาธรรม ณ แพรวอาภาเพลส ราชบุรี - ความตาย ๓ อย่าง
โดย ใหญ่ราชบุรี  17 ก.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23198

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความตาย ๓ อย่าง

คุณจุฑามาศ มีคำถามจากท่านผู้ฟัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาใหม่ ซึ่งมาเป็นครั้งแรก ก็ขอกราบเรียนถาม ท่านอาจารย์และท่านวิทยากร ว่า เวลาที่ตาย ตายแล้วไปไหน แล้วใครในสมัยนี้ เป็นผู้รู้ได้หรือไม่นะคะ แล้วถ้าตายแล้ว จำเป็นต้อง สวด พระอภิธรรม หลายคืน ไหม แล้วเวลาพระท่าน สวดพระอภิธรรม ค่ะ คือ ไม่ทราบว่า พระท่าน สวดให้ ผู้ที่ไป ฟัง ได้ฟัง หรือเปล่า แล้วก็ขณะที่กำลังจัดพิธีสวด แล้วเราเอาข้าวไปให้ที่ข้างโลง ท่านผู้เสียชีวิตไปแล้วเนี่ย จะได้รับหรือไม่ค่ะ นี่เป็นคำถาม จากท่านผู้ฟัง ค่ะ ขอกราบเรียน ถาม ท่านอาจารย์ ค่ะ

ท่านอาจารย์สุจินต์ คำถามยาวนะคะ แต่คำตอบยาวกว่า ถ้าจะให้ เข้าใจ จริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเข้าใจได้เลยทันที แต่ว่า ต้องเป็นคนที่ “คิด” ขณะนี้ตายหรือยัง (มีเสียงผู้ตอบว่า ยังค่ะ) ยังไม่ตายเหรอคะ เห็นเกิดแล้ว เห็นตายไป หรือเปล่า สิ่งใดก็ตาม ที่เกิดแล้ว หายไป ไม่กลับมาอีกเลย ชาวบ้านจะใช้คำว่า “ตาย” ถูกต้องไหมคะ

เพราะฉะนั้น ในพระธรรมคำสอน จะมี ความตาย ๓ อย่าง คือ ขณิกมรณะ (ขะ-นิก-กะ-มอ-ระ-นะ) มาจากคำว่า ขณะ ทุกขณะ ตายทุกขณะ ไม่เคยรู้ตัวเลย เห็นเกิดแล้ว เห็นตายแน่ๆ เพราะว่า หมดแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งใดก็ตามหมดแล้ว ไม่กลับมาอีก ไม่เหลือเลย เหมือน ไฟดับ นะคะ ไฟที่ดับ ใครจะไปตามหาไฟนั้น ได้ไหมคะ ไม่มีร่องรอยเลย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ค่ะ ขณิกมรณะ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นดับ จนกว่า จะถึง สมมติมรณะ (สัม-มะ-ติ-มอ-ระ-นะ) ที่เราสมมติว่า “ตาย” แต่ว่า ตายอยู่ทุกวัน

เพราะฉะนั้น เวลาที่ตาย ก็คือว่า จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ เฉพาะชาตินี้ เกิดแล้วดับ จึงชื่อว่า “ตาย” ถ้า จิตขณะนี้ เช่น เห็นเกิด แล้วก็ดับไป แล้วก็มีเห็นต่อไป แล้วก็มีได้ยินต่อไปสืบต่อ อยู่เรื่อยๆ ในชาตินี้ ยังไม่ชื่อว่า “ตาย”

แต่ว่าเมื่อ จิตขณะสุดท้าย เกิดขึ้นแล้วดับไป ทำกิจ เคลื่อนพ้น สภาพความเป็นบุคคลนี้ โดยสิ้นเชิง จะกลับมาอีก ไม่ได้เลย ถ้าเรานอนหลับ นะคะ แล้วก็ตื่น ตอนหลับ อยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้เลย ใช่ไหม ชื่ออะไร ตอนหลับ บ้านอยู่ที่ไหน นอนอยู่ที่ไหน มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีความทุกข์ความสุขยังไง ไม่มีเลย ในขณะที่หลับ แต่ก็ต้องตื่น เพราะ ยังไม่ตาย เพราะเหตุว่า กรรม ที่ทำให้เป็น บุคคลนี้ ค่ะ ยังไม่สิ้นสุด แต่เวลาที่ กรรม ทำให้ สิ้นสุด ความเป็นบุคคลนี้ จิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับไป สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีใครรู้เลย ว่า จิต เป็น ธาตุ ที่น่าอัศจรรย์ เป็น ธาตุ ที่เกิดขึ้น ต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ขณะนี้ อะไรปรากฏ เพราะ จิต เกิดขึ้น จึง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รู้ว่าเสียงเป็นอย่างนี้ รู้ว่ากลิ่นเป็นอย่างนี้ รู้ว่านิมิตเครื่องหมายต่างๆ ในห้องนี้ เป็นอย่างนี้ เป็นโต๊ะบ้าง เป็นอะไรบ้าง นี่เป็น “ธาตุ รู้ ”

แต่ว่า “จิต” น่าอัศจรรย์ ที่ว่า จิตเกิดขึ้นแล้ว ถ้าจิตนั้นยังไม่ดับไป จิตอื่นเกิดสืบต่อไม่ได้ด้วยเหตุนี้ จิต แต่ละหนึ่งขณะ เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ดับไปแล้ว ทันทีที่จิตนั้นดับไป ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น “จิตขณะแรก” ที่เราใช้คำว่า “เกิด” ภาษาบาลี ใช้คำว่า ปฏิสันธิจิต (ปะ-ติ-สัน-ธิ-จิต) หมายความว่า จิตนี้ เกิดสืบต่อจาก จิตสุดท้ายของชาติก่อน คือ ตาย

ตาย เมื่อไหร่ เกิดทันที เหมือนเมื่อกี้นี้ น่ะค่ะ ดับไป ก็มีขณะต่อไป เกิดสืบต่อ ทันที แต่ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้นะคะ ก็ไม่ใช่คำว่า “ตาย” เพราะเหตุว่า เป็นเพียง ขนิกมรณะ ตายอยู่เรื่อยๆ ทุกขณะ จนกว่าจะถึง ขณะสุดท้าย ที่ทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ที่เราใช้คำว่า “ตาย” เพราะฉะนั้น เมื่อจิตขณะนี้นะคะ เกิดแล้วดับ เป็นปัจจัยให้ จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น ฉันใด เวลาที่ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ ดับ ก็เป็นปัจจัยให้ จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น ไม่รู้ที่ไหน ใครรู้บ้าง ตายแล้วไปไหน แต่ไปแน่

เหมือนกับชาติก่อน เราเป็นใคร อยู่ที่ไหน แล้วเราก็อาจจะสงสัย ว่าตายแล้วจะเกิดอีกหรือเปล่า แต่ว่าจากชาติก่อนที่สงสัย เคยเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาที่ จิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับไป ก็เป็นธรรมดา คือว่า ต้องมี จิต เกิดสืบต่อจาก จิตที่ดับไป จนกว่าจะถึง สมุจเฉทมรณะ (สะ-หมุด-เฉ-ทะ-มอ-ระ-นะ) คือ การตายของพระอรหันต์ ที่ใช้คำว่า ปรินิพพาน หมายความว่า เมื่อจิตนั้นดับแล้วนะคะ จะไม่มีการเกิดอีกเลย

พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรินิพพาน เข้าใจได้ ใช่ไหมคะ เดี๋ยวนี้ ไม่มีอะไรเลยที่เหลือ ที่จะเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า ดับโดยรอบ ที่ยังคงเหลืออยู่ในเวลานี้ ก็คือ พระบรมสารีริกธาตุ เป็น ส่วนของรูป ซึ่งก็คงเกิดดับสืบต่อยั่งยืนจนกว่าจะถึงกาละที่ อันตรธาน ไม่มีอีกแล้ว ในกาลครั้งหนึ่ง ข้างหน้า ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การเกิด การตาย เป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะรู้ได้ว่า เราเกิดมาในชาตินี้ เราก็ต้องตายแน่ๆ มีใครบ้างไหม ที่เกิดมาแล้วไม่ตาย เคยเห็นใครเกิดมาแล้ว ไม่ตายบ้าง ไม่มีเลยนะคะ ตายทุกคน แต่ ตายแล้วไปไหน ตามกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำกรรมไม่ดีไว้นะคะ เหตุที่ไม่ดีมี ผลที่ไม่ดีก็คือว่า เกิดในที่ไม่ดี ถ้าทำกุศลกรรม กรรมดีนะคะ ไม่ทำให้ไปสู่ที่ไม่ดีเลย แต่ว่าจะทำให้สู่โลกที่เป็นสุคติที่ดี เช่น เกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นเทพ หรือว่าถ้าสูงกว่านั้น เพราะกุศลที่ยิ่งกว่านั้น ก็เกิดเป็นพรหม ถึงความเป็น อรูปพรหม ได้ (อะ-รูป-ปะ-พรหม) แต่ก็ยังกลับมาสู่ ความเป็นอย่างนี้ เพราะว่า กรรม ที่ได้กระทำแล้ว มีมากมาย เพียง กรรมหนึ่ง ทำให้เกิด เป็นอย่างนั้น พอสิ้นสุดกรรมนั้นแล้วนะคะ ก็ยังมีกรรมอื่นที่ให้ผล

เพราะฉะนั้น ทุกคน มีกรรมที่ทำมาแล้วมาก ในอดีต อาจจะเป็น อกุศลกรรม ที่ร้ายแรงมาก ยังไม่ได้ให้ผล เพราะว่า กรรมดี นะคะ ให้ผล ทำให้เกิด ในชาตินี้ แต่กรรมอื่น ก็ยังมีโอกาสที่จะทำให้เกิดต่อจากชาตินี้ได้ เพราะฉะนั้น พระปัจฉิมวาจา (ปัด-ฉิม-มะ-วา-จา) นะคะ คือ ท่านทั้งหลาย จงยัง ความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม เพราะเหตุว่า ใครจะตายเมื่อไหร่นี่ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยค่ะ แต่ก็มีเหตุ ที่จะทำให้ต้องเกิดอีก

คุณจุฑามาศ ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ

อาจารย์ประเชิญ ขออนุญาต เสริม อีกนิดนึง เวลาก็ใกล้จะหมดแล้ว เรื่องตายแล้วไปไหนนี่ ในสมัยพุทธกาล ก็มีปรากฏว่า เมื่อมีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แม้แต่ พระภิกษุเอง ก็จะมี ผู้ไปทูลถาม พระผู้มีพระภาค ว่า ภิกษุรูปนี้ หรือ อุบาสก อุบาสิกา ท่านนี้นะครับ ที่ได้ฟังธัมมะแล้ว เค้าตายแล้ว ไปเป็นอย่างไร คติ สัมปรายภพ ของเขา เป็นอย่างไร ซึ่งบางท่านนะครับ พระผู้มีพระภาค ก็พยากรณ์ว่า ท่านนั้น ภิกษุ อย่างเช่น ท่านพระพาหิยะ เป็นต้น ก็ปรินิพพาน คือ ไม่เกิดอีก นะครับ คือ ไม่มีเหตุให้เกิด ที่ท่านอาจารย์ ได้กล่าวแล้ว บางท่านนะครับ เป็นพระอนาคามี ก็ไปเกิดในพรหมโลก บางท่านก็ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยอำนาจของกุศลกรรม บางท่านก็เกิดในอบาย ด้วยอำนาจของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น แล้วแต่กรรม ที่จะทำให้เกิดขึ้น ถ้า ยังไม่ดับกิเลส ยังไม่ดับอกุศล ก็อยู่ที่กรรม จะนำเกิด อาจจะเกิดในอบายภูมิ อาจจะเกิดในสุคติภูมิ ก็แล้วแต่กรรม อยู่ที่กรรมเท่านั้น ไม่มีใคร ที่จะไป บังคับ หรือ บันดาล ให้เป็นไป อย่างที่ต้องการได้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ แม้บุคคลในสมัยครั้งพุทธกาล ก็ยังมีการสอบถาม ซึ่งก็มี ภพภูมิ ทั้ง ๓๑ ภพภูมิ ที่เป็น ที่เกิด ของ ผู้ที่ได้สะสมเหตุให้เกิด ในภูมินั้นๆ แล้วบางท่าน ก็ไม่ต้องเกิด อีกเลย เพราะว่า หมดเหตุ ที่จะให้เกิด ในภพภูมิต่างๆ แล้ว



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 17 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย mon-pat  วันที่ 19 ก.ค. 2556

กราบขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 22 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คัดลอก สารธรรม จากเว็บไซต์บ้านธัมมะ

บ้านธัมมะ > กระดานสนทนา > ปกิณณกธรรม

มรณะ หรือ ความตายนั้น มี ๓ ประเภท คือ

ขณิกมรณะ คือ การเกิดขึ้น และ ดับไป ของ สังขารธรรมทั้งหลาย

สมมติมรณะ คือ ความตาย ใน ภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง

สมุจเฉทมรณะ คือ ปรินิพพาน การตายของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น อีกเลย

บ้านธัมมะ > กระดานสนทนา > ธัมมนิทเทส

ขณิกมรณะ

ขณิก (ชั่วขณะ) + มรณ (ความตาย) ความตายชั่วขณะ หมายถึง การดับไป ของ นามธรรมและรูปธรรม ทุกๆ ขณะ ซึ่งเป็นความตาย โดยปรมัตถ ฉะนั้น นามและรูปซึ่งเป็น สังขารธรรม จึงมีการเกิดและการตาย อยู่ตลอดเวลา ส่วนนามที่เป็น วิสังขารธรรม หมายถึง พระนิพพาน ไม่มีการเกิด จึงไม่มีการตาย

บ้านธัมมะ > กระดานสนทนา > ธัมมนิทเทส

สมมติมรณะ

สมมติ (ความรู้พร้อม โวหาร) + มรณ (ความตาม) ความตายโดยสมมติ หมายถึง ความสิ้นชีวิตของ สัตว์บุคคลในชาติหนึ่งๆ คือ เมื่อกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนั้น สิ้นสุดลง จุติจิต ซึ่งเป็น วิบากจิต เป็น ผลของกรรม เดียวกันกับ ปฏิสนธิจิต ในชาติเดียวกัน จะเกิดขึ้น เป็น จิตดวงสุดท้าย ในภพชาตินั้น เมื่อ จุติจิต ดับ ก็ทำให้ ความเป็นบุคคล นั้น สิ้นสุดลง จึงได้โวหารว่า คนตายหรือสัตว์ตาย เมื่อ ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้น ในภพใหม่ เพราะ กรรมใดกรรมหนึ่ง ให้ผล เป็น ชนกกรรม จึงกลายเป็น บุคคลใหม่ พ้นจาก ความเป็นบุคคลเก่า ทันที เพียงแต่ยังมี กรรมกิเลส และ อุปนิสัยต่างๆ ซึ่งนอนเนื่องและสะสมสืบต่อ ในจิตดวงต่อๆ ไป

บ้านธัมมะ > กระดานสนทนา > ธัมมนิทเทส

สมุจเฉทมรณะ

สํ (พร้อม ดี) + อุจฺเฉท (ตัด ขาด) + มรณ (ความตาย) ความตายอย่างเด็ดขาด หมายถึง ความตาย ของ พระอรหันตขีณาสพ คือ ขณะที่จุติจิตของพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ในภพชาติใหม่อีก เป็น ความตายครั้งสุดท้าย ในสังสารวัฏฏ์ เพราะ ไม่มี ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุ ให้เกิด นามรูป ในภพใหม่ อีกต่อไป


ความคิดเห็น 4    โดย Endeavor  วันที่ 22 ก.ค. 2556

เป็นประโยชน์แก่การเจริญสติในชีวิตประจำวันมากทีเดียวครับ

ขออนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ และท่านผู้ถอดคำบรรยายครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ