ถ. ขอให้อธิบายเรื่องพิจารณาเห็นอีกครั้งหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะเหตุว่าพอเห็นก็รู้ว่าเป็นนาม
สุ. อย่าปนกันระหว่างการนึกรู้ด้วยความคิดว่ากำลังเห็นเป็นนาม กับการรู้ลักษณะจริงๆ ที่กำลังเห็นว่าเป็นสภาพรู้ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาคนละขั้น ถ้าขณะที่กำลังเห็นนึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นนามเป็นสภาพรู้ นั่นเป็นปัญญาขั้นการคิด ซึ่งอาจจะเกิดโดยไม่มีใครบังคับได้ จะห้ามไม่ให้คิดอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าการคิดเรื่องอะไรนั้นก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดให้ทราบว่า เป็นสภาพคิด เป็นนามอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ขณะที่กำลังคิดอย่างนั้นไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะที่กำลังเห็นว่าเป็นนาม แต่ว่าเป็นการคิด เป็นปัญญาขั้นคิดที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะคิดหลายๆ ครั้ง ขณะที่กำลังนั่งแล้วเห็น ก็อาจจะนั่งคิดว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นนาม กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นนามๆ อาจจะคิดสัก ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้ง แต่ถึงแม้ไม่คิด เห็นก็มี การพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา ต้องเป็นผู้ละเอียด ต้องรู้ว่าขณะที่คิดนั้นอย่างหนึ่ง และถึงแม้ไม่คิด เห็นก็มี กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่เสียใจ แต่เป็นสภาพรู้ทางตา กำลังเห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ ระลึกได้ แล้วก็รู้ว่ากำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะชินเนืองๆ บ่อยๆ เพราะเหตุว่าการเจริญสตินั้น เพื่อกั้นกระแสของโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ถ้าไม่ระลึกรู้ในขณะที่เห็น ก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง แต่ถ้าระลึกได้ พิจารณาเห็น หรือได้ยิน หรือสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือคิดนึกที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าคิดนึกก็บังคับไม่ได้ สติรู้ที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นมากขึ้น แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญานั้นจะรู้ชัด
เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น เห็นไม่ใช่สี เห็นเป็นสภาพรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่ปัญญาระลึกรู้ได้ว่า กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติ ไม่ต้องจ้องหรือไม่ต้องทำอะไรที่จะดูนามที่เห็น แต่รู้ว่ากำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ ละความไม่รู้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ สติก็ไม่ได้ระลึก เมื่อสติไม่ได้ระลึก ปัญญาก็ไม่รู้ว่า กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ แต่ที่จะรู้อย่างนี้ได้หมายความว่า ต้องระลึกได้ และปัญญาก็รู้ว่าที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพรู้เท่านั้น
เพราะฉะนั้น อย่าไปจ้องตรงจักขุปสาท เพราะเหตุว่านั่นไม่ใช่การรู้สภาพรู้ การรู้สภาพรู้เป็นแต่เพียงรู้ว่าเป็นสภาพรู้เท่านั้น
ถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น แต่โดยมากท่านไม่ได้แยกลักษณะของสติกับสมาธิเลยว่า สตินั้นเป็นสภาพที่ระลึก ได้ตามปกติธรรมดา และก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏที่เป็นปกติธรรมดาด้วย เห็นก็เห็นตามปกติ ได้ยินก็เป็นได้ยินตามปกติ แต่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏนั้น
จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณหรือยัง ไม่ต้องสนใจเลย เป็นเรื่องของผลซึ่งต้องอาศัยเหตุ ถ้าเหตุคือสติที่ระลึกได้ และปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เนืองๆ บ่อยๆ แล้ว ทำไมจะต้องห่วงถึงผล คือ นามรูปปริจเฉทญาณ
มีท่านผู้ใดยังต้องการที่จะดูอะไรไหม แน่ใจหรือยังว่า ไม่ได้ต้องการดูอะไร แต่เจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 36