สักกายทิฏฐิ 20
โดย วิริยะ  12 ม.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20349

เรียนถาม

สักกายทิฏฐิ ๒๐ มีอะไรบ้างคะ

ขอบพระคุณอย่างสูง



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สักกายทิฏฐิ สก (ของตน) + กาย (ที่ประชุม) + ทิฏฺฐิ (ความเห็น)

ความเห็นว่าเป็นกายของตน ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน หมายถึง ความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาพธรรม เช่น ยึดถือ ขณะที่ว่า เห็น เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นต้น

สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่เป็นพื้นฐาน เป็นอนุสัยกิเลสซึ่งมีอยู่กับทุกบุคคลที่ไม่ใช่พระอริยะ เรียกว่า ทิฏฐิสามัญ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิพิเศษที่มีโทษมากได้ เช่น สัสสตทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ คือ เห็นว่าบุญไม่มี บาปไม่มี และ สักกายทิฏฐิ ยังแบ่ง เป็น ๒๐ ประการ ด้วย ลักษณะของความยึดถือ ว่าเป็นตัวตน มีลักษณะ หลายประการ ๒๐ ประการมีดังนี้ครับ

๐๑. เห็นรูปเป็นตน คือ ขณะที่เห็นผิดยึดถือว่า รูปร่างกายเป็นเรา (ตน) อุปมา เหมือนเห็นเปลวไฟและสีของเปลวไฟเป็นอย่างเดียวกัน

๐๒. เห็นตนมีรูป คือ ขณะที่ยึดถือว่า นามธรรมเป็นเราที่มีรูปร่างกาย อุปมา เหมือนเห็นต้นไม้มีเงา

๐๓. เห็นรูปในตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า นามธรรมเป็นเรา และรูปอยู่ในนามที่เรา อุปมาเหมือนกลิ่นในดอกไม้

๐๔. เห็นตนในรูป คือ ขณะที่ยึดถือว่า นามธรรมเป็นเราที่อยู่ในรูปร่างกาย อุปมา เหมือนแก้วมณีในขวด

๐๕. เห็นเวทนาเป็นตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า ความรู้สึกเป็นเรา (ตน) อุปมาโดยนัยเดียวกันกับรูป

๐๖. เห็นตนมีเวทนา คือ ขณะที่ยึดถือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีเวทนา

๐๗. เห็นเวทนาในตน คือ ขณะที่ยึดถือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็น เรา และมีเวทนาในเรา

๐๘. เห็นตนในเวทนา คือ ขณะที่ยึดถือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็น เรา และเรามีอยู่ในเวทนา

๐๙. เห็นสัญญาเป็นตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า ความจำเป็นเรา (ตน)

๑๐. เห็นตนมีสัญญา คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็น เรา และเรามีสัญญา

๑๑. เห็นสัญญาในตน คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็น เรา และมีสัญญาในเรา

๑๒. เห็นตนในสัญญา คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็น เรา และเรามีอยู่ในสัญญา

๑๓. เห็นสังขารเป็นตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า สังขารตัวปรุงแต่งเป็นเรา

๑๔. เห็นตนมีสังขาร คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ว่าเป็น เรา และเรามีสังขาร

๑๕. เห็นสังขารในตน คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ว่าเป็น เรา และมีสังขารในเรา

๑๖. เห็นตนในสังขาร คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ว่าเป็น เรา และเรามีอยู่ในสังขาร

๑๗. เห็นวิญญาณเป็นตน คือในขณะที่ยึดถือว่า วิญญาณเป็นเรา (ตน)

๑๘. เห็นตนมีวิญญาณ คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็น เรา และเรามีวิญญาณ

๑๙. เห็นวิญญาณในตน คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็น เรา และมีวิญญาณในเรา

๒๐. เห็นตนในวิญญาณ คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็น เรา และเรามีอยู่ในวิญญาณ


ความคิดเห็น 2    โดย วิริยะ  วันที่ 13 ม.ค. 2555

เรียนถาม

ปุถุชน มีสักกายทิฏฐิครบทั้ง ๒๐ ข้อ เพียงแต่ว่า แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า เมื่อใดจะมีความเห็นผิดในข้อไหน

ดิฉันอ่านแล้วยังแปลไม่ได้หมดทุกข้อ ยังพยายามคิดอยู่ว่า สักกายทิฏฐิในข้อนั้นๆ มีลักษณะเช่นไร


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 13 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

สำหรับหนทางในการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่จะต้องว่า เมื่อเกิดความเห็นผิดขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเราจะต้องพิจารณาว่า เป็นความเห็นผิด ประภทไหน ใน ๒๐ ประการนะครับ แต่การอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ ค่อยๆ เข้าใจ ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ขณะที่เกิดความยึดถือ ก็ค่อยๆ เข้าใจว่าความเห็นผิดว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เริ่มจากการเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวเราที่ยึดถือ ที่มีความเห็นผิดครับ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นลักษณะใด ใน ๒๐ ประการ เพราะปัญญายังไม่สามารถถึงลักษณะความจริงอย่างนั้นได้ครับ


ความคิดเห็น 4    โดย วิริยะ  วันที่ 13 ม.ค. 2555

เป็นความจริงค่ะที่พยายามจะเข้าใจเรื่องราวอยู่ เพราะแปลไม่ออก ถ้ากล่าวว่า เราเห็นรูป หรือสิ่งนั้นคือรูปของเรา นี่คือง่ายที่สุดที่เข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม ก็จะทำตามที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ในความเห็นที่ 3 ค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เซจาน้อย  วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะมีแต่ธรรมเกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน กล่าวได้ว่า ไม่มีตัวเราแทรกอยู่ในจิต เจตสิก และรูปเลย มีแต่ธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ที่ยังมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็เพราะว่ายังมีความเห็นผิดที่ยังไม่ได้ดับ ซึ่งจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง บ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็จะสามารถละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย bsomsuda  วันที่ 14 ม.ค. 2555

"... เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็จะสามารถ ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย nong  วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย เข้าใจ  วันที่ 11 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ อาจารย์อย่างมากครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย PaChom  วันที่ 23 พ.ย. 2555

กราบเรียนถาม

- ถ้าละสักกายทิฏฐิได้แล้วจะยังมีความโกรธหรือมีความอยากในรูป รส กลิ่น เสียงไหมครับ

- ผมอยากจะละสักกายทิฏฐิให้ได้ จะต้องปฏิบัติธรรมข้อไหนครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย prachern.s  วันที่ 23 พ.ย. 2555

พระอริยขั้นต้น คือ พระโสดาบันบุคคล ท่านละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ท่านยังมีความโกรธ และยังมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะฯ ผู้ที่จะละสักกายทิฏฐิได้ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ และอบรมเจริญปัญญาไปเป็นลำดับขั้น เจริญโพธิปักขิยธรรม มีสติปัฏฐาน เป็นต้น จึงจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิได้ครับ


ความคิดเห็น 12    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 22 ก.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย chatchai.k  วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย Kalaya  วันที่ 28 พ.ค. 2565

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย ฤกษ์  วันที่ 9 พ.ย. 2565

ประตูไปสู่พระอริยะ ชั้นแรกตั้งแต่โสดาปฏิมรรค ก็ต้องละสักกายทิฎฐิ ให้ได้เสียก่อนคือสังโยชน์๓ บางรูปยังถือตัว ถือตน ถือยศฐาบันดาศักดิ์ ฐานะ ทั้งองค์เอง และบริวาร เป็นได้แค่สมมติ ติดอยู่ในความหลง