ขุททกนิกาย เถรคาถา สิริมาเถรคาถา มีข้อความว่า
ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงคนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
แสดงให้เห็นว่า การเจริญสตินั้น เป็นการเจริญปัญญา เพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริง รู้จักตัวเองถูกต้องตามความเป็นจริงทุกอย่าง ไม่ใช่หลอกลวง หรือไม่ใช่ทำให้ผิดไปจากปกติ แต่หมายความว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเคยสะสมเหตุปัจจัยที่จะเป็นบุคคลนั้น มีความพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากน้อยแค่ไหนก็ตาม สามารถเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่หวั่นไหวไปเพราะความไม่รู้ ถึงแม้ว่าชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่น คือไม่หวั่นไหวไปเพราะอวิชชา ไม่ใช่ไปยับยั้งไม่ให้โลภะเกิด โทสะเกิด ไม่ให้มีลาภปลิโพธ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไปบังคับ ไปฝืน ไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้ตามปกติ แต่ผู้ที่จะรู้ชอบตามความเป็นจริงนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้ตามปกติ จึงจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เป็นผู้มีจิตมั่นคง เป็นผู้มีปัญญารู้ชัด เป็นผู้รู้จักตนดี แม้คนอื่นจะยังไม่รู้ ยังไม่มีอะไรปรากฏทางกายหรือทางวาจาเลย แต่โลภะเกิดขึ้นขณะใด ผู้เจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นนั้นตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง ถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริง
ไม่ทราบว่าผู้ฟังคิดว่า การรู้จักตัวเองนั้นดีไหม ต้องดีแน่ ดีกว่าที่จะให้คนอื่นรู้จัก คนอื่นรู้จักก็ยังอาจจะคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง ใครคิดว่าใครรู้จักใครดีแล้ว ก็ยังคลาดเคลื่อนได้ แต่ผู้ที่ไม่คลาดเคลื่อน คือผู้ที่มีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏแก่ตน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 50