กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
ขออนุญาตกราบเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ
ขณะที่ ไม่ปรารถนาอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้น เป็นจิตอะไรครับ เป็นโทสมูลจิต โลภมูลจิต หรือกุศลครับ เช่น ขณะที่เห็นไอติม แต่ไม่ได้อยากกิน ใครชวนก็บอกไม่เอา ไม่อยากกิน หรือขณะที่เห็นสิ่งของมีเขานำมาขาย มีทรวดทรงเฉยๆ ไม่น่าใคร่ไม่น่าซื้อ แต่ก็ไม่ถึงกับเกลียดหรือไม่ชอบ พอเขาชักชวนให้ซื้อก็ไม่เอา ไม่ซื้อ เพราะไม่ได้อยากได้ ซึ่งเวทนาขณะนั้น พิจารณาแล้วก็เป็นอุเบกขา ไม่ถึงกับโทมนัส ไม่ถึงกับขุ่นเคือง แต่เป็นความรู้สึกว่าไม่อยากได้ แต่เวทนาเป็นอุเบกขา จึงไม่น่าจะเป็นโทสะ และเพราะเป็นอาการไม่อยากได้ จึงไม่น่าจะใช่โลภะอีกเช่นกัน เช่นเดียวกันว่าไม่น่าจะเป็นกุศลด้วย เพราะไม่ได้เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุหรือกุศลกรรมบถ อะไรๆ เลย
จึงสงสัยว่า สามารถเป็นจิตประเภทใดได้บ้างครับ อกุศล หรือ กุศล หรือเป็นลักษณะของเจตสิกอะไร เกิดกับจิตประเภทไรได้บ้างครับ เพื่อประโยชน์ในการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นกุศลหรืออกุศล
กราบขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก มีความละเอียดลึกซึ้ง เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้และเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะเห็นได้ก็ด้วยปัญญา ซึ่ง สำหรับจิตประเภทต่างๆ อย่างเช่น โลภมูลจิต ก็ต้องมีเวทนาเจตสิก ที่เป็นความรู้สึกเกิดร่วมด้วยเสมอ คือ เกิดเวทนาเจตสิก ที่เป็นอุเบกขาเวทนา และ โสมนัสเวทนา ส่วนโทสมูลจิต จิตที่ขุ่นเคือง เป็นต้น ก็จะต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอเช่นกัน เพราะเหตุว่า เวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกๆ ดวง ทุกๆ ประเภท ซึ่งโทสมูลจิต เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จะต้องเป็นโทมนัสเวทนาเท่านั้น ไม่ใช่อุเบกขาเวทนาที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ และ โสมนัสเวทนา ความรู้สึกยินดี แช่มชื่น เป็นต้น
ซึ่ง โทมนัสเวทนา ที่เกิดกับโทสมูลจิต เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ไม่แช่มชื่น แต่ในความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็มีระดับของสภาพธรรมของธรรมนั้นแตกต่างกันไปด้วย เช่น โลภะ ก็มีระดับของความติดข้องเพียงเล็กน้อย โลภะอย่างละเอียด ที่ไม่แสดงลักษณะให้รู้เลยแต่ติดข้องแล้ว กับ โลภะที่มีกำลังมาก ติดข้องมาก แสดงออกมาทางกาย วาจา ด้วยวิธีทุจริต มีการขโมย เป็นต้น ฉันใด โทสมูลจิต ความโกรธ ไม่พอใจ ที่มีเวทนาเจตสิกที่เป็นโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ที่มีความรู้สึกไม่สบายใจในขณะนั้น ก็มีระดับของโทสมูลจิตที่แตกต่างกันด้วยแม้เพียงเล็กน้อย ละเอียดมากจนถึงมีกำลังมาก ที่แสดงลักษณะความโกรธออกมาชัดเจน ซึ่ง ความโกรธ โทสมูลจิตที่เพียงเล็กน้อย ซึ่ง ไม่รู้ตัวเลยก็มี เช่น กระทบสภาพธรรมที่แข็ง ย่อมเกิดความขุ่นเคืองใจได้ในชวนวิถีต่อๆ มา แต่ก็ไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดโทสมูลจิตแล้ว และเกิดความรู้สึกที่เป็นโทมนัสเวทนาด้วย เพียงแต่ขุ่นใจเล็กน้อยมาก และ ก็เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ โทมนัสเวทนาที่เล็กน้อยมากไม่อาจรู้ได้ นอกเสียจากปัญญาระดับสูง จึงสำคัญว่า เฉยๆ เพราะ ไม่รู้ความจริงในขณะนั้น และ โทสะไม่ได้มีกำลังจนปรากฎลักษณะของเวทนาที่ไม่สบายใจขึ้นมา จนมีกำลัง ครับ
แท้ที่จริงแล้วก็เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เกิดโทสมูลจิตแล้วในขณะนั้น เพียงเล็กน้อยนั่นเอง จนสำคัญว่าเป็นความรู้สึกเฉยๆ
ซึ่งคำถามที่ผู้ถามกล่าวว่า แม้แต่การไม่อยากได้สิ่งใด ขณะที่ผู้อื่นให้ และ ไม่เอา ไม่อยากได้ แสดงว่าไม่มีความต้องการในขณะนั้น ไม่ได้ติดข้อง ก็ไม่ใช่โลภะ และไม่ใช่กุศล เพราะ ไม่ได้เป็นในทาน ศีล ภาวนา แต่ขณะนั้นก็สามารถเกิดจิตที่เป็นโทสมูลจิตที่เล็กน้อย มีความไม่ต้องการ ไม่ชอบ มีความรู้สึกขุ่นใจเพียงเล็กน้อย ก็ได้ จนสำคัญเอาเองว่า เป็นความรู้สึกเฉยๆ เพราะเบาบางและเล็กน้อยมากนั่นเอง ตราบเท่าที่ คนที่จะให้ พูดบ่อยๆ ว่า จะให้สิ่งนี้กับเรา ก็จะเกิดโทสะเพิ่มขึ้น ที่ไม่ต้องการสิ่งนั้น แสดงลักษณะของความขุ่นใจมากขึ้น ว่าไม่ต้องการ ครับ
ดังนั้น เป็นโทสมูลจิตได้ ที่มีความรู้สึกไม่สบายใจที่เป็นโทมนัสเวทนา เพียงแต่ว่า เป็นโทสมูลจิตที่เบาบาง เล็กน้อย จนสำคัญเอาเองว่า เป็นความรู้สึกเฉยๆ เพราะความคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ย่อมสำคัญผิดได้ เพราะ ไม่ใช่ปัญญาระดับสูงที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนั้น ครับ
และ อีกนัยหนึ่ง การไม่ปรารถนา ไม่อยากได้ ด้วยกุศลจิตก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอกุศลเสมอไป ด้วยอุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิต ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีความมักน้อย สันโดษ เป็นต้น พระภิกษุที่ท่านได้รับอาหารบิณฑบาตรที่เสมอขอบบาตรแล้ว ท่านก็ไม่รับ ไม่อยากได้ ปฏิเสธด้วยความเคารพพระวินัย และ ความเป็นผู้มักน้อย สันโดษด้วยกุศลจิตก็ได้ เช่นกัน ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่ได้ตัดสินที่คำพูด แต่ขึ้นอยู่กับสภาพจิตในขณะนั้นเป็นสำคัญ เพราะโดยปกติแล้ว ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของความอยาก ความติดข้องต้องการ หรือ ความไม่อยากได้ (ด้วยอกุศล ที่ไม่พอใจ ไม่ชอบ เป็นต้น) ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แม้ว่าจะใส่ชื่อหรือไม่ใส่ชื่อก็ตาม ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่มีทางรู้เลยว่า สภาพธรรมที่กล่าวถึงนั้น เป็นธรรม เป็นอกุศล เพราะ เพียงแต่เข้าใจเผินว่าๆ จะเป็นอกุศลก็ต่อเมื่ออยากได้มากๆ ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม หรือ จะเป็นอกุศลก็ต่อเมื่อโกรธแค้นมากๆ แล้วทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย วาจา เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้าขณะใดก็ตามถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งหมด (ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก) ส่วนผู้ที่มีการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม โอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลก็ย่อมมี ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด สถานการณ์ใดก็ตาม ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เห็นคุณของกุศล อย่างสิ้นเชิง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
การไม่ปรารถนาอยากได้ เป็นทั้งกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แล้วแต่จิตในขณะนั้น คนที่มีปัญญาจะรู้เองว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือ อกุศล ค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ