สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๗ เม.ย. ๒๕๕๐
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.
อัญญตราเถรีคาถา
[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 1
นำการสนทนาโดย..
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และคณะวิทยากร
[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 1
๑. อัญญตราเถรีคาถา
[๔๐๒] ได้ยินว่า ภิกษุณีเถรีองค์หนึ่งไม่ปรากฏชื่อได้ภาษิตคาถาไว้อย่างนี้ว่า :- ดูก่อนพระเถรี ท่านจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม แล้วพักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของท่านสงบแล้ว เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ.
จบ อัญญตราเถรีคาถา
อรรถกถาอัญญตราเถรีคาถา
เมื่อภิกษุณีสงฆ์ตั้งมั่นดีเป็นปึกแผ่นอย่างนี้แล้ว เหล่าหญิงมีตระกูลสะใภ้ของตระกูล และกุมาริกาในตระกูลทั้งหลาย ในคามนิคมชนบทและราชธานีนั้นๆ ได้ฟังความที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีแล้ว ความที่พระธรรมเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว และความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว มีความเลื่อมใสในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และเกิดความสังเวชในสังสารวัฏฏ์ จึงขออนุญาตสามี บิดามารดา และญาติของตนๆ บวชถวายชีวิตในพระศาสนา และครั้นบวชแล้วเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ ได้รับโอวาทในสำนักของพระศาสดาด้วยของพระเถระเหล่านั้นด้วย เพียรพยายามอยู่ ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต ก็คาถาทั้งหลายที่พระเถรีภาษิตในที่นั้นๆ ด้วยอำนาจเปล่งอุทานเป็นต้นเหล่านั้น ภายหลังพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายร่วมกันยกขึ้นสู่สังคีติ จัดเป็นเอกนิบาตเป็นต้น คาถาเหล่านี้ชื่อเถรีคาถา การแบ่งคาถาเหล่านั้นเป็นนิบาต เป็นต้น ได้กล่าวไว้แล้วให้หนหลังนั่นแล บรรดานิบาตเหล่านั้น เอกนิบาตเป็นนิบาตแรก แม้ในเอกนิบาตนั้น คาถานี้ว่า
ดูก่อนพระเถรี ท่านจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม แล้วพักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของท่านสงบแล้ว เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ ดังนี้ เป็นคาถาแรก คาถานั้นเกิดขึ้นอย่างไร
เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล กุลธิดาคนหนึ่งเลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามโกนาคมนะ นิมนต์พระศาสดา ในวันที่สองให้สร้างมณฑปกิ่งไม้ ลาดทราย ผูกเพดานข้างบน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นแล้วให้คนไปกราบทูลกาลแด่พระศาสดา พระศาสดาเสด็จไปที่มณฑปนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ กุลธิดานั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า อังคาสด้วยของเคี้ยวของบริโภคอย่างประณีตแล้วให้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จลดพระหัตถ์ลงจากบาตร ครองไตรจีวร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแก่นางแล้วเสด็จหลีกไป กุลธิดานั้นทำบุญตลอดอายุ เวลาสิ้นอายุบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายนั่นเองตลอด ๑ พุทธันดร
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกัสสปะ บังเกิดในตระกูลคฤหบดี พอรู้เดียงสาก็เกิดความสังเวชในสังสารวัฏฏ์ จึงบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา บวชเป็นภิกษุณีอยู่สองหมื่นปี ตายทั้งที่เป็นปุถุชนบังเกิดในสวรรค์ เสวยสมบัติในสวรรค์ตลอด ๑ พุทธันดรบังเกิดในตระกูลกษัตริย์มหาศาล กรุงเวสาลี ในพุทธุปปาทกาลนี้ คนทั้งหลายเรียกเธอว่า เถริกา เพราะมีรูปร่างสมส่วน เธอเจริญวัย บิดามารดาให้แก่ขัตติยกุมารผู้มีชาติเสมอกันโดยตระกูลและประเทศเป็นต้นเธอบูชาสามีเหมือนเทวดาอยู่ ได้ศรัทธาในพระศาสนาคราวพระศาสดาเสด็จกรุงเวสาลี ย่อมาเธอได้ฟังธรรมในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เกิดชอบใจบรรพชา บอกแก่สามีว่า จักบวช สามีไม่อนุญาต แต่เพราะเธอสร้างบุญบารมีมา เธอพิจารณาธรรมตามที่ได้ฟัง กำหนดรูปธรรมและอรูปธรรมประกอบวิปัสสนาอยู่เนืองๆ
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเธอหุงหาอาหารอยู่ในครัวใหญ่ เปลวไฟใหญ่ได้ตั้งขึ้น เปลวไฟนั้นทำให้ภาชนะที่สิ้นเกิดเสียงเปรี๊ยะๆ เธอเห็นดังนั้นจึงยึดข้อนั้นแหละเป็นอารมณ์ ใคร่ครวญความไม่เที่ยงที่ปรากฏขึ้นอย่างดียิ่ง จากนั้นได้ยกความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นในครัวนั้น เจริญวิปัสสนา ขวนขวายโดยลำดับ ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลตามลำดับแห่งมรรค ตั้งแต่นั้นมาเธอไม่ใช้เสื้อผ้าที่สวยงามหรือเครื่องประดับ เมื่อสามีถามว่า นางผู้เจริญ เพราะเหตุไรเดี๋ยวนี้ เธอจึงไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวยงามหรือเครื่องประดับเหมือนเมื่อก่อน นางจึงบอกว่าตนไม่ควรอยู่เป็นคฤหัสถ์ แล้วขออนุญาตบวช สามีนำเธอไปสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีด้วยบริวารใหญ่ กล่าวว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า โปรดบวชให้นางนี้เถิด เหมือนวิสาขอุบาสกนำธรรมทินนาไป ฉะนั้น.
ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีให้นางบรรพชาอุปสมบทแล้ว นำไปวิหารแสดงแก่พระศาสดา เมื่อทำอารมณ์ที่เห็นตามปกตินั่นเองให้แจ่มแจ้งแก่นาง ตรัสพระคาถานี้ว่า ดูก่อนเถรี เธอจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม แล้วพักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของเธอสงบแล้ว เหมือนผักดองแห่งอยู่ในหม้อ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุข แสดงภาวนปุงสกะ.
บทว่า สุปาหิ เป็นคำสั่ง.
บทว่า เถริเก เป็นคำเรียก.
บทว่า กตฺวา โจเฬน ปารุตา เป็นคำประกอบด้วยความมักน้อย.
บทว่า อุปสนฺโต หิ เต ราโค เป็นคำประกาศผลการปฏิบัติ.
บทว่า สุกฺขฑาก ว เป็นคำแสดงความไม่มีสาระแห่งกิเลสที่พึงให้สงบ.
บทว่า กุมฺภิย เป็นคำแสดงความไม่เที่ยงคือว่างเปล่าของหม้อที่ใส่ผักดองนั้น.
อนึ่ง บทว่า สุข นี้ เป็นชื่อของสิ่งที่ปรารถนา ความว่า มีสุขปราศจากทุกข์. ก็บทว่า สุปาหิ นี้ เป็นคำแสดงการผ่อนอิริยาบถสี่ ความว่า เพราะฉะนั้น ท่านจงสำเร็จอิริยาบถทั้งสี่ตามสบายทีเดียว คือ จงอยู่อย่างสบาย.
บทว่า เถริเก นี้เป็นบทประกาศชื่อของพระเถรีนั้นก็จริง แต่ก็มีความว่า ถึงความเป็นผู้มั่นในพระศาสนาที่มั่น เพราะภาวะที่รู้ตามเนื้อความได้เป็นส่วนมาก คือ ประกอบด้วยธรรมมีศีลเป็นต้นอันมั่น.
บทว่า กตฺวา โจเฬน ปารุตา ความว่า จงเอาท่อนผ้าบังสุกุลทำจีวรปกปิดสรีระ คือ นุ่งและห่มผ้านั้น.
หิ ศัพท์ในบทว่า อุปสนฺโต หิ เต ราโค มีเนื้อความว่า เหตุ อธิบายว่า เพราะกามราคะที่เกิดในสันดานของท่านสงบแล้ว คือ ถูกเผาด้วยไฟ คือ อนาคามิมรรคญาณ บัดนี้ท่านจงเผาราคะที่ยังเหลืออยู่นั้นด้วยไฟคือมรรคญาณอันเลิศ พักผ่อนให้สบายเถิด.
บทว่า สุกฺขฑาก ว กุมฺภิย ความว่า ย่อมสงบเหมือนผักดองเล็กน้อย ในภาชนะร้อนนั้น เขาเคี่ยวด้วยเปลวไฟแรงร้อนแห้งไป. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนเมื่อเอาผักดองเจือน้ำ ขึ้นตั้งเคี่ยวบนเตา เมื่อน้ำยังมีอยู่ ผักดองนั้นย่อมเดือดพล่าน แต่เมื่อหมดน้ำ ย่อมสงบนิ่งฉันใด กามราคะในสันดานของท่านสงบแล้ว ท่านจงทำกิเลสแม้ที่เหลืออยู่ให้สงบแล้ว พักผ่อนให้สบายเถิด ฉันนั้น.
พระเถรีบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในเวลาจบคาถา เพราะอินทรีย์แก่กล้าและเพราะพระศาสดาเทศนาไพเราะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า
เราสร้างมณฑปถวายพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และได้ถวายพระสถูปอันบวรแด่พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์มนุษย์ เราไปในที่ใดๆ เป็นชนบทก็ตาม นิคมและราชธานีก็ตาม ย่อมมีคนบูชาในที่นั้นๆ ทุกแห่ง นี้เป็นผลของการทำบุญ เราเผากิเลสแล้ว ภพทั้งหมดเราถอนได้แล้ว เราตัดเครื่องผูกพัน เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ดังช้างพังตัดเชือกแล้ว การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของเรา เป็นการมาดีแล้วหนอ เราได้บรรลุวิชชาสามตามลำดับ เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทาสี่ วิโมกข์ทั้งแปดและอภิญญาหก เราทำให้แจ้งแล้ว เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
ครั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถรีเมื่อเปล่งอุทานได้ภาษิตคาถานั้นทีเดียว เหตุนั้น คาถานี้จึงได้เป็นคาถาของพระเถรีนั้น.
ด้วยคาถาที่พระเถรีกล่าวในที่นั้น เป็นอันกำหนดราคะได้อย่างไม่เหลือ เพราะบรรลุความสงบนั้นได้ด้วยมรรคอันเลิศ. และที่กล่าวถึงความสงบกิเลสทั้งหมดในที่นี้ ก็ด้วยความสงบราคะนั่นเอง ฉะนั้นพึงเห็นข้อนั้น เพราะกิเลสธรรมทั้งหมดสงบได้ เพราะตั้งอยู่ร่วมกัน. สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า โมหะใดเกิดร่วมกับอุทธัจจะและวิจิกิจฉา อันเรารู้แล้ว โมหะนั้นก็รวมกันกับราคะ เพราะตั้งอยู่ร่วมกันโดยการละ.
เหมือนอย่างว่า ความสงบแห่งสังกิเลสทั้งปวงท่านกล่าวไว้ในที่นี้ ฉันใด แม้ในที่ทุกแห่งท่านก็กล่าวความสงบแห่งสังกิเลสเหล่านั้น ฉันนั้น ฉะนั้น พึงทราบโดยที่สงบกิเลสได้สำเร็จในตอนต้น ด้วยตทังคปหานะละด้วยองค์นั้นๆ ในขณะแห่งสมถะและวิปัสสนาด้วยวิกขัมภนปหานะละด้วยข่มไว้ ในขณะแห่งมรรคด้วยสมุจเฉทปหานะละด้วยถอนขึ้น ในขณะแห่งผลด้วยปฏิปัสสัทธิปหานะละด้วยสงบระงับ ความสำเร็จแห่งปหานะทั้งสี่ พึงทราบด้วยความสงบนั้น.
บรรดาปหานะทั้งสี่นั้น ความสำเร็จแห่งสีลสัมปทา ท่านแสดงด้วยตทังคปหานะ ความสำเร็จแห่งสมาธิสัมปทา ท่านแสดงด้วยวิกขัมภนปหานะ ความสำเร็จแห่งปัญญาสัมปทาท่านแสดงด้วยปหานะนอกนี้ โดยความสำเร็จคือบรรลุด้วยปหานะ. พระโยคาวจรยังการบรรลุสัจฉิกิริยา และการบรรลุปริญญาให้สำเร็จเหมือนยังการบรรลุภาวนาให้สำเร็จนั่นเอง เพราะไม่มีสิ่งนั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีแล บัณฑิตพึงทราบว่า สิกขา ๓ ท่านประกาศด้วยความสำเร็จ คือ การบรรลุ ๔ ความงาม ๓ อย่างท่านประกาศด้วยการปฏิบัติ วิสุทธิ ๗ ที่บริบูรณ์ท่านประกาศด้วยคาถานี้. พระเถรีองค์หนึ่งไม่มีใครรู้จัก คือ ไม่ปรากฏชื่อและโคตร เป็นต้น อธิบายว่า ภิกษุณีผู้เป็นเถรี ถึงพร้อมด้วยลักษณะองค์หนึ่งได้ภาษิตคาถานี้.
จบ อรรถกถาอัญญตราเถรีคาถา
จะเห็นได้ว่า การบรรลุธรรมนั้นไม่ได้เลือกวัน เวลา สถานที่ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ ปัญญาและบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนาขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น