๑๒. เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ [๑๐๖]
โดย บ้านธัมมะ  25 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34896

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 61

๑๒. เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ [๑๐๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 61

๑๒. เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ [๑๐๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงปรารภเจ้าศากยะ พระนามว่าสุปปพุทธะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ" เป็นต้น.

เจ้าสุปปพุทธะแกล้งนั่งปิดทางเสด็จพระศาสดา

ดังได้สดับมา เจ้าสุปปพุทธะพระองค์นั้น ผูกอาฆาตในพระศาสดา ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ คือ พระสมณโคดมนี้ทิ้งลูกสาวของเราออกบวช ประการ ๑ ให้ลูกชายของเราบวชแล้วตั้งอยู่ในฐานะแห่งผู้มีเวรต่อลูกชาย นั้นประการ ๑, วันหนึ่ง ทรงดำริว่า "บัดนี้ เราจักไม่ให้พระสมณโคดมนั้นไปฉันยังสถานที่นิมนต์" ดังนี้ จึงปิดทางเป็นที่เสด็จไป นั่งเสวย น้ำจัณฑ์ในระหว่างทาง.

ลำดับนั้น เมื่อพระศาสดามีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมเสด็จมาที่นั้น พวกมหาดเล็กทูลท้าวเธอว่า "พระศาสดาเสด็จมาแล้ว." ท้าวเธอตรัสว่า "พวกเจ้าจงล่วงหน้าไปก่อน, จงบอกพระสมณะนั้นว่า พระสมณโคดมองค์นี้ไม่เป็นใหญ่กว่าเรา เราจักไม่ให้ทางแก่พระสมณโคดมนั้น "แม้พวกมหาดเล็กทูลเตือนแล้วๆ เล่าๆ ก็คงประทับนั่งรับสั่งอย่างนั้นแล.

พระศาสดาไม่ได้หนทางจากสำนักของพระมาตุละ (ลุง) แล้วจึงเสด็จกลับจากที่นั้น. แม้ท้าวเธอก็ส่งจารบุรุษ (คนสอดแนม) ไปคนหนึ่ง ด้วยกำชับว่า " เจ้าจงไป ฟังคำของพระสมณโคดมนั้นแล้วกลับมา."


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 62

เจ้าสุปปพุทธะทำกรรมหนักจักถูกแผ่นดินสูบ

แม้พระศาสดาเสด็จกลับมา ทรงทำการแย้มพระโอษฐ์ พระอานนทเถระทูลถามว่า "อะไรหนอแล? เป็นปัจจัยแห่งกรรมคือการแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ พระเจ้าข้า " จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอเห็นเจ้าสุปปพุทธะ ไหม? "

พระอานนทเถระ ทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า."

พระศาสดา ตรัสว่า "เจ้าสุปปพุทธะนั้นไม่ให้ทางแก่พระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา ทำกรรมหนักแล้ว, ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ ท้าวเธอจักเข้าไปสู่แผ่นดิน (ธรณีสูบ) ณ ที่ใกล้เชิงบันได ในภายใต้ปราสาท. "

เจ้าสุปปพุทธะมุ่งจับผิดพระศาสดาด้วยคำเท็จ

จารบุรุษได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ไปสู่สำนักของเจ้าสุปปพุทธะๆ ตรัสถามว่า "หลานของเราเมื่อกลับไปพูดอะไรบ้าง?" จึงกราบทูลตาม ที่ตนได้ยินแล้ว.

ท้าวเธอได้สดับคำของจารบุรุษนั้นแล้ว ตรัสว่า "บัดนี้ โทษใน การพูด (ผิด) แห่งหลานของเราย่อมไม่มี, เธอตรัสคำใด คำนั้นต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทีเดียว, แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น คราวนี้ เราจักจับผิดเธอ ด้วยการพูดเท็จ, เพราะเธอไม่ตรัสกะเราโดยไม่เจาะจงว่า "ท่านสุปปพุทธะจักถูกธรณีสูบในวันที่ ๗" ตรัสว่า ท่านสุปปพุทธะจักถูกธรณีสูบ ที่ใกล้เชิงบันได ในภายใต้ปราสาท ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักไม่ไปสู่ที่นั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้น เราไม่ถูกธรณีสูบในที่นั้นแล้ว จักข่มขี่เธอด้วยการ พูดเท็จ."


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 63

เจ้าสุปปพุทธะทรงทำการรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง

ท้าวเธอรับสั่งให้พวกมหาดเล็กขนเครื่องใช้สอยของพระองค์ออก ทั้งหมดไว้บนปราสาท ๗ ชั้น ให้ชักบันได ปิดประตู ตั้งคนแข็งแรง ประจำไว้ที่ประตู ประตูละ ๒ คน ตรัสว่า "ถ้าเราเป็นผู้มุ่งจะลงไปข้าง ล่างโดยความประมาทไซร้, พวกเจ้าต้องห้ามเราเสีย." ดังนี้แล้วประทับ นั่งในห้องอันเป็นสิริบนพื้นปราสาทชั้นที่ ๗.

จะหนีผลแห่งกรรมชั่วย่อมไม่พ้น

พระศาสดา ทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เจ้าสุปปพุทธะมิใช่จะนั่งบนพื้นปราสาทอย่างเดียว, ต่อให้เหาะขึ้นไปสู่เวหาส นั่งในอากาศก็ตาม, ไปสู่สมุทรด้วยเรือก็ตาม, เข้าซอกเขาก็ตาม, ธรรมดาพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสองไม่มี, ท้าวเธอจักถูกธรณีสูบในสถานที่เราพูดไว้นั่นแหละ" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

๑๒. น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ

น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวีสํ

น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส

ยตฺรฏฺิตํ นปฺปสเหยฺย มจฺจุ.

"บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้, หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้, หนีไปสู่ซอกภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ) เขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด ความตายพึงครอบงำไม่ได้ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่."


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 64

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า นปฺปสเหยฺย มจฺจุ ความว่า ประเทศคือแผ่นดิน แม้เพียงเท่าปลายผม ที่มรณะไม่พึงย่ำยี คือไม่พึง ครอบงำผู้สถิตอยู่ ย่อมไม่มี, คำที่เหลือ ก็เช่นกับคำก่อนนั่นเทียวดังนี้แล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

ม้ามงคลเป็นเหตุให้ท้าวเธอเสด็จลงจากปราสาท

ในวันที่ ๗ ในเวลาคล้ายกับเวลาที่เจ้าสุปปพุทธะปิดหนทางภิกษาจารของพระศาสดา ม้ามงคลของเจ้าสุปปพุทธะในภายใต้ปราสาทคึกคะนอง กระแทกแล้วซึ่งฝานั้นๆ.

ท้าวเธอประทับนั่งอยู่ชั้นบนนั่นเอง ได้สดับเสียงของม้านั้น จึงตรัสถามว่า "นั่นอะไรกัน?" พวกมหาดเล็กทูลว่า "ม้ามงคลคะนอง." ส่วนม้านั้น พอเห็นเจ้าสุปปพุทธะ ก็หยุดนิ่ง.

เกิดเหตุน่าประหลาดเพราะกรรมชั่ว

ขณะนั้น ท้าวเธอมีพระประสงค์จะจับม้านั้น ได้เสด็จลุกจากที่ประทับบ่ายพระพักตร์มาทางประตู. ประตูทั้งหลายเปิดเองทีเดียว; บันไดตั้งอยู่ในที่ของตนตามเดิม. คนแข็งแรงผู้ยืนอยู่ที่ประตูจับท้าวเธอที่พระศอ ผลักให้มีพระพักตร์คะมำลงไป. โดยอุบายนั้นประตูที่พื้นทั้ง ๗ ก็เปิดเองทีเดียว, บันไดทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในที่เดิม. พวกคนที่แข็งแรง (ประจำอยู่) ที่ชั้นนั้นๆ จับท้าวเธอที่พระศอเทียวแล้วผลักให้มีพระพักตร์คะมำลงไป.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 65

ท้าวเธอถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีนรก

ขณะนั้น มหาปฐพีแตกแยกออกคอยรับเจ้าสุปปพุทธะนั้นผู้ถึงที่ ใกล้เชิงบันไดที่ภายใต้ปราสาทนั่นเอง, ท้าวเธอไปบังเกิดในอเวจีนรกแล้วแล.

เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ จบ

ปาปวรรควรรณนา จบ

วรรคที่ ๙ จบ.