[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 449
๕. วัจฉนขชาดก
ว่าด้วยดาบสผู้มีเล็บงาม
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 449
๕. วัจฉนขชาดก
ว่าด้วยดาบสผู้มีเล็บงาม
[๓๑๙] ข้าแต่ท่านวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงินและโภชนาหารบริบูรณ์ เป็นเรือนมีความสุข ท่านบริโภคและดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวายก็ได้นอน.
[๓๒๐] บุคคลผู้เป็นฆราวาส ไม่มีมานะทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ... ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่น การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีได้แสนยากเล่า.
จบ วัจฉนขชาดกที่ ๕
อรรถกถาวัจฉนขชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภนักมวยปล้ำชื่อ โรชะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุขา ฆรา วจฺฉนขา ดังนี้.
ได้ยินว่า นักมวยปล้ำชื่อ โรชะ นั้นเป็นสหายของพระอานนท์. วันหนึ่ง เขาส่งข่าวไปถึงพระเถระเพื่อนิมนต์พระเถระมา. พระเถระจึงทูลพระศาสดาไปหา. เขานิมนต์พระเถระให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 450
บริโภคอาหารที่มีรสเลิศต่างๆ แล้วนั่งอยู่ข้างหนึ่ง กระทำปฏิสันถารกับพระเถระ เชื้อเชิญพระเถระด้วยกามคุณ อันเป็นโภคะของคฤหัสถ์ กล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าพระอานนท์ รัตนะทั้งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ที่เรือนของกระผมมีมากมาย กระผมจะแบ่งให้ท่านกึ่งหนึ่ง ท่านจงมาเถิด เราจะครอบครองเรือนอยู่ด้วยกันทั้งสอง. พระเถระแสดงโทษในกามคุณแก่เขา ลุกจากอาสนะกลับไปยังวิหาร พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์ เธอพบกับโรชะแล้วหรือ กราบทูลว่า พบแล้วพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า เธอพูดอะไรกับเขา กราบทูลว่า โรชะ เชื้อเชิญให้ข้าพระองค์อยู่ครองเรือน ข้าพระองค์จึงแสดงถึงโทษในการครองเรือนและในกามคุณแก่เขา พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ นักมวยปล้ำชื่อ โรชะ มิได้ชักชวนนักบวชให้อยู่ครองเรือนในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ได้ชักชวนแล้วเหมือนกัน พระอานนทเถระทูลอาราธนา จึงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ในตำบลหนึ่ง ครั้นเจริญวัย ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลาช้านาน ได้ไปกรุงพาราณสีเพื่อเสพของเค็มของเปรี้ยวพักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นได้เข้าไปยังกรุงพาราณสี. ครั้งนั้นเศรษฐีกรุงพาราณสี เลื่อมใสในมารยาทของพระโพธิสัตว์ จึงนำไปสู่เรือนให้บริโภคแล้วรับเอาปฏิญญา เพื่อให้อยู่ในสวน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 451
ปรนนิบัติอยู่. ชนทั้งสองได้เกิดความรักความใคร่ต่อกันและกัน. อยู่มาวันหนึ่ง เศรษฐีกรุงพาราณสีได้คิดอย่างนี้ด้วยความรัก และความคุ้นเคยในพระโพธิสัตว์ว่า ชื่อว่าการบวชเป็นทุกข์ เรายังปริพาชก ชื่อว่า วัจฉนขะผู้เป็นสหายของเราให้สึก แล้วแบ่งสมบัติทั้งหมดออกกึ่งหนึ่ง แล้วให้แก่วัจฉนขปริพาชกนั้น ทั้งสองก็จักอยู่ด้วยความปรองดองกัน. วันหนึ่งเศรษฐีนั้นในเวลาสำเร็จภัตตกิจ ได้ทำปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานกับวัจฉนขปริพาชก แล้วกล่าวว่า พระคุณเจ้าวัจฉนขะ ชื่อว่าการบรรพชาเป็นทุกข์ ฆราวาสเป็นสุข มาเถิดท่าน เราทั้งสองปรองดองกัน บริโภคกามกันอยู่เถิด แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-
ข้าแต่ท่านวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงิน และโภชนาหารบริบูรณ์เป็นเรือนมีความสุข ท่านบริโภคและดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวายก็ได้นอน.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สหิรญฺา คือถึงพร้อมด้วยรัตนะ ๗. บทว่า สโภชนา คือมีของเคี้ยวของบริโภคมาก. บทว่า ยตฺถ ภุตฺวา ปิวิตฺวา จ ได้แก่ บริโภคโภชนามีรสเลิศต่างๆ และ ดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ในเรือนซึ่งมีทั้งเงินและทั้งของบริโภค. บทว่า สเยยฺยาสิ อนุสฺสุโก ความว่า ท่านไม่ต้องขวนขวายก็ได้นอนบนที่นอนอันมีสิริที่ตกแต่งไว้แล้ว. ด้วยเหตุนั้นชื่อว่า การอยู่ครองเรือนเป็นสุขอย่างยิ่ง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 452
ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ ฟังเศรษฐีแล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อนมหาเศรษฐี. ท่านเป็นผู้ติดอยู่ในกาม กล่าวคุณของฆราวาสและ โทษของบรรพชา ก็เพราะความไม่รู้ เราจะกล่าวถึงโทษของฆราวาสแก่ท่าน ท่านจงฟังในบัดนี้เถิด แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
บุคคลผู้เป็นฆราวาสไม่มีมานะทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่น การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีด้วยแสนยากเล่า.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ฆรา นานีหมานสฺส ความว่า ขึ้น ชื่อว่า ฆราวาสผู้ขาดมานะ ไม่พยายามทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นต้น ตลอดกาลไม่มี. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนจะตั้งอยู่ไม่ได้. บทว่า ฆรา นาภณโต มุสา ความว่า ชื่อว่าเรือนจะมีอยู่ไม่ได้ แม้ไม่ยอมกล่าวเท็จเพื่อประโยชน์ไร่นาเรือกสวนเงินและทองเป็นต้น. บทว่า ฆรา ฯเปฯ อนิกุพฺพโต ความว่า ผู้ไม่ถือท่อนไม้ วางท่อนไม้เสียแล้ว ไม่รังแกผู้อื่น เรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้. ส่วนผู้ใดมือถือท่อนไม้ลงโทษผู้อื่นมีทาสและกรรมกรเป็นต้น ด้วยการฆ่า จองจำ ตัดอวัยวะและเฆี่ยนเป็นต้น ตามสมควรแก่ความผิดข้อนั้นๆ การครองเรือนของผู้นั้นแหละย่อมมั่นคงอยู่ได้. บทว่า เอวํ ฉิทฺทํ ฯเปฯ ปฏิปชฺชติ ความว่า เมื่อไม่มีการต้องโกหกเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อเปิดช่องแก่ความเสื่อมนั้นๆ แม้ต้อง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 453
ทำเป็นนิจซึ่งกิจของฆราวาสให้ครบพร้อมกันได้ยาก ให้น่ายินดีได้ยาก เพราะต้องทำเป็นนิจทีเดียว เราก็หมดความดิ้นรนคิดจักครอบครองเรือนอันให้มีครบได้ยากยิ่ง ให้บริบูรณ์ได้ยากนั้น ด้วยเหตุนั้น ใครเล่าจักครองเรือนนั้นได้.
พระมหาสัตว์กล่าวโทษของฆราวาสอย่างนี้แล้ว ได้กลับคืนอุทยานดังเดิม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. เศรษฐีกรุงพาราณสีในครั้งนั้นได้เป็นนักมวยปล้ำชื่อ โรชะ ในครั้งนี้ ส่วนวัจฉนขะปริพาชก คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาวัจฉนขชาดกที่ ๕