ตัวอย่าง เมื่อรสเกิดขึ้นกระทบกับชิวหาปสาทและกระทบกับภวังค์เป็นอดีตภวังค์ดับไป ภวังคจลนะเกิดต่อแล้วดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อแล้วดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ รำพึง คือ รู้ว่าอารมณ์กระทบชิวหาทวารแต่ยังไม่ได้ลิ้มรสนั้น อุปมาเหมือนขณะที่รู้ว่ามีแขกมาที่ประตูแต่ยังไม่เห็นแขก จึงยังไม่รู้ว่าเป็นใคร เพียงแต่รู้ว่ามีแขกมาเท่านั้น ทุกท่านย่อมมีแขกไปมาหาสู่ เวลาคิดถึงแขกก็มักจะคิดถึงคน แต่ความจริงแขก คือ อารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเอง ขณะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแขก
ขณะได้ยินเสียง เสียงเป็นเสียง ขณะไม่ได้ยินเสียงปรากฏ แขกทางหูจึงยังไม่มา ขณะที่รสปรากฏ รสเป็นแขกที่ปรากฏทางลิ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไป ขณะใดที่อารมณ์ปรากฏทางทวารใด ขณะนั้นอารมณ์นั้นก็เป็นแขกของทวารนั้น ชั่วระยะเวลาสั้นที่สุด แล้วก็ดับหมดสิ้นไปไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์
ผู้ใหญ่บางท่านรู้สึกเหงา เพราะระหว่างที่ยังไม่ใช้ผู้สูงอายุ ท่านพบปะบุคคลมากหน้าหลายตา รื่นเริงสนุกสนานกับญาติมิตรสหาย แต่เมื่อสูงอายุขึ้นแล้ว แขกซึ่งเป็นบุคคลต่างๆ ในความรู้สึกของท่านก็ลดน้อยลง เมื่อถามท่านผู้สูงอายุว่าท่านชอบอะไรมากที่สุด บางท่านก็บอกว่าท่านชอบคน คือชอบให้คนมาหา พูดคุยกันเพลิดเพลิน
แต่ความจริงทุกคนมีแขกทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และตามธรรมดานั้นพอแขกมา โลภมูลจิต ก็เกิดขึ้นยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั้นๆ
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
บทความดีมากเลยครับ อ่านแล้วเข้าใจง่าย ขออนุโมทนาผลบุญนี้ไปถึงทางทีมงานผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วถึงกันทุกคนครับ
กราบเรียนท่านผู้เขียนบทความ แขก
นโมตัสสะ ฯลฯ
สาธุ อนุโมทนามิ
ดิฉันอ่านบทความนนี้ ขอเสนอความเห็นและเรียนซักถามท่านอาจารย์และผู้รู้หากมีข้อผิดพลาดต่อพระธรรมขอได้โปรดแก้ไขเพื่อผู้เจริญธรรมได้ถูกต้องด้วย ดิฉันเข้าใจว่า
1. การที่มีแขกมาตามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น แขกก็จะมาปลุกกามสัญญาที่จิตของเราสั่งสมมาแต่อดีต ว่า อ้ออันนี้ สวย ไพเราะ หอม อร่อย หรือตรงข้าม เมื่อจิตเรารับรู้หากเราใช้ เจตสิกเป็นเครื่องมือกำกับจิต โดยใช้ตัวเจตสิก หิริ โอตตัปปะ มากำกับจิตว่า สิ่งที่ก่อเกิด มาจากกามสัญญานี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่ควรไปหยิบฉวยมาเป็นของเรา อันนี้เราเรียกว่าอะไรคะ เรียกว่าจิตเจตสิกทำงานในกามภูมิหรือ ภูมิใดคะ
2. หากเราใช้หลักไตรลักษณ์มาพิจารณาว่า สิ่งต่างๆ ที่ก่อให้เกิดคือแขกที่มา ตาหู จมูกลิ้น กาย ใจนี้ ไม่มีตัวตน ไม่จีรัง เป็นทุกข์ แล้วเราก็ไม่สนใจสิ่งเหล่านั้น ไป ในสภาพธรรมที่เกิดขณะที่เราคิดแบบนี้ ทางธรรมเรียกว่า จิตอยู่ในภพ ภูมิใดคะ
ขอพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โปรดคุ้มครองบ้านธัมมะให้มีกัลยาณมิตรในธรรมมากขึ้นๆ รวบรวมพุทธบริษัทที่ใคร่ในธรรมและสิกขาจนเข้าใจ สามารถเผยแพร่ธรรมได้ตราบนานเท่านานค่ะ
ขออนุโมทนา
แขกในที่นี้ ท่านหมายถึง อารมณ์ที่จิตรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ครับ แขก ไม่ใช่กิเลสในจิต แต่แขกเป็นปัจจัยให้กิเลสขั้นกลาง หรือกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะยังมีอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ แต่ละขณะที่ แขก คืออารมณ์ของรูปที่ยังไม่ดับมากระทบกับทวารต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่รวดเร็ว แสนสั้น เกินกว่าที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะ หลังจากที่เห็นขณะนี้ เป็นกุศลหรืออกุศล ขณะหลังจากที่ได้ยินขณะนี้ เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะสภาพของความไม่รู้ คือ โมหะ ไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริงได้ บางที่กุศลเกิดขึ้นนิดเดียว เช่น หิริ โอตตัปปะ จึงวิรัติทุจริตทางกาย วาจา หรือสติเกิดระลึกไปในการให้ทาน เมตตา กรุณาเกิดในสัตว์บุคคล เป็นต้น
สภาพธรรมะเหล่านี้ยากกว่าที่เราเคยคิดว่าเราจะสามารถรู้ได้โดยแม่นยำในแต่ละขณะจิตว่าเป็นกุศลจริงๆ เพราะกุศลก็ดับไปแล้วอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีอกุศลเกิดคั่นตามมา ถ้าไม่ใช่สติและปัญญาที่เจริญจากการอบรมอย่างยิ่งแล้ว ก็จะรู้สภาพธรรมะที่เกิดปรากฏได้อย่างถูกต้องจริงๆ ไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่วันหนึ่งๆ จะเป็นการคิดถึงสภาพธรรมะที่ดับไปแล้ว แต่ไม่ใช่การระลึกถึงสภาพจริงของธรรมะที่เกิดปรากฏในขณะนั้น ตรงนั้นทันที ครับ
ขอบพระคุณท่านความคิดเห็นที่ 4
เห็นด้วยว่าที่เราคิดๆ กันล้วนแต่คิดเรื่องที่ผ่านมาแล้วทั้งนั้น เพราะจิต รูปสภาพธรรมต่างๆ เกิดรวดเร็ว ดังนั้น พุทธบริษัทจำเป็นต้องรับการอบรมเจริญธรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง ให้เกิดสติทันกับสภาพธรรมที่เกิดกับเราอย่างเก่งเราได้แต่สำรวมกาย วาจาไม่ไปตอบโต้ต่อแขก จนเห็นเป็นรูปธรรม ปุถุชนยังไงๆ คงต้องรับแขกในใจแบบ ดีใจ เสียใจ โมโห อดกลั้นประมาณนั้นใช่หรือไม่คะ การอบรมธรรมคงใช้เวลาหลายแสนล้านๆ ๆ ๆ ปี อันนี้เพื่อไม่ให้ท้อนะคะ ไม่ใช่ให้ถอย
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ