๔. มหาจุนสูตร ว่าด้วยข้อควรศึกษาของผู้เจริญฌานและประกอบธรรม
โดย บ้านธัมมะ  31 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39393

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 672

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๔. มหาจุนสูตร

ว่าด้วยข้อควรศึกษาของผู้เจริญฌาน และประกอบธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 672

๔. มหาจุนสูตร

ว่าด้วยข้อควรศึกษาของผู้เจริญฌาน และประกอบธรรม

[๓๑๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะ อยู่ที่นิคมชื่อ สัญชาติ ในแคว้นเจดี ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะ เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระมหาจุนทะแล้ว ท่านพระมหาจุนทะ ได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบธรรมในธรรมวินัยนี้ ย่อมรุกราน ภิกษุผู้เพ่งฌานว่า ภิกษุผู้เพ่งฌานเหล่านี้ ย่อมเพ่งฌาน ยึดหน่วงฌานว่า เราเพ่งฌานๆ ดังนี้ ก็ภิกษุเหล่านี้ เพ่งฌานทำไม เพ่งฌานเพื่ออะไร เพ่งฌานเพราะเหตุไร ภิกษุผู้ประกอบธรรม ย่อมไม่เลื่อมใสในการเพ่งฌานนั้น และภิกษุผู้เพ่งฌาน ย่อมไม่เลื่อมใส ในการประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เพ่งฌานในธรรมวินัยนี้ ย่อมรุกราน พวกภิกษุผู้ประกอบธรรมว่า ก็ภิกษุผู้ประกอบธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้ฟุ้งเฟ้อ เย่อหยิ่ง วางท่า ปากจัด พูดพล่าม มีสติหลงใหล ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตฟุ้งซ่าน มีอินทรีย์ปรากฏว่า เราประกอบธรรมๆ ดังนี้ ก็ภิกษุเหล่านี้ ประกอบธรรมทำไม ประกอบธรรมเพื่ออะไร ประกอบธรรมเพราะเหตุไร ภิกษุผู้เพ่งฌาน ย่อมไม่เลื่อมใสในการประกอบธรรมนั้น และภิกษุผู้ประกอบธรรม ย่อมไม่เลื่อมใส ในการเพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก...


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 673

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้ประกอบธรรม ในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญภิกษุ ผู้ประกอบธรรมเท่านั้น ไม่สรรเสริญภิกษุ ผู้เพ่งฌาน ภิกษุผู้ประกอบธรรม ย่อมไม่เลื่อมใส ในการเพ่งฌานนั้น และภิกษุผู้เพ่งฌาน ย่อมไม่ เลื่อมใส ในการประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก...

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เพ่งฌานในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญภิกษุผู้เพ่งฌานเท่านั้น ไม่สรรเสริญภิกษุผู้ประกอบธรรม ภิกษุผู้เพ่งฌานย่อมไม่เลื่อมใส ในการประกอบธรรมนั้น และภิกษุผู้ประกอบธรรม ย่อมไม่เลื่อมใสในการเพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย.

เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบธรรม จักสรรเสริญภิกษุผู้เพ่งฌาน ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บุคคลผู้ที่ถูกต้องอมตธาตุด้วยกาย เป็นอัจฉริยบุคคล หาได้ยากในโลก.

เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย เป็นผู้เพ่งฌาน จักสรรเสริญภิกษุผู้ประกอบธรรม ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บุคคลผู้ที่แทงทะลุ เห็นข้ออรรถอันลึกซึ้งด้วยปัญญานั้น เป็นอัจฉริยบุคคล หาได้ยากในโลก.

จบมหาจุนทสูตรที่ ๔


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 674

อรรถกถามหาจุนทสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในมหาจุนทสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เจตีสุ ได้แก่ ในเจติรัฐ. บทว่า สญฺชาติยํ ได้แก่ ในนิคมที่มีชื่ออย่างนี้. บทว่า มหาจุนฺโท ได้แก่ พระน้องชายคนเล็ก ของพระธรรมเสนาบดี.

ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ธัมมโยคะ เพราะมีการประกอบ คือ การทำเนืองๆ ในธรรม. คำว่า ธมฺมโยคา นั่นเป็นชื่อของพระธรรมกถึกทั้งหลาย. ภิกษุชื่อว่า ฌายี เพราะเพ่ง.

บทว่า อปสาเทนฺติ ได้แก่ กระทบกระทั่ง คือ รุกราน. บทว่า ฌายนฺติ ได้แก่ คิด. บทว่า ปชฺฌายนฺติ เป็นต้น ขยาย (รูป) ออกไป ด้วยอำนาจอุปสรรค. บทว่า กิญฺหิเม ฌายนฺติ ความว่า ภิกษุธรรมกถึกเหล่านี้ เพ่งอยู่อย่างไร.

บทว่า กินฺติเม ฌายนฺติ ความว่า ภิกษุธรรมกถึกเหล่านี้ เข้าฌานเพื่ออะไร? บทว่า กถญฺหิเม ฌายนฺติ ความว่า ภิกษุธรรมกถึกเหล่านี้ เข้าฌานเพราะเหตุไร?

บทว่า อมตํ ธาตุํ กาเยน ผุสิตฺวา วิหรนฺติ เป็นต้น มีความว่า ภิกษุทั้งหลายกำหนดกรรมฐาน มุ่งถึงนิพพานธาตุ ที่เว้นจากมรณะอยู่ คือ ถูกต้อง นิพพานธาตุนั้น ด้วยนามกาย ตามลำดับอยู่.

บทว่า คมฺภีรอตฺถปทํ ได้แก่ ความหมายของขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น ที่ลี้ลับ คือ ถูก (อวิชชา) ปกปิดไว้. บทว่า ปญฺาย อติวิชฺฌ ปสฺสนฺติ ความว่า เห็นโดยแทงตลอด ด้วยมรรคปัญญา พร้อมทั้งวิปัสสนาปัญญา.

แต่ในที่นี้ ย่อมควรทั้งปัญญาเครื่องแทงตลอด ด้วยการพิจารณา ทั้งปัญญาในการเรียน และการสอบถาม.

จบอรรถกถา มหาจุนทสูตรที่ ๔