[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 358
๘. โกสัมพีสูตร
ว่าด้วยชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 358
๘. โกสัมพีสูตร
ว่าด้วยชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ
[๒๖๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระมุสิละ ท่านพระปวิฏฐะ ท่านพระนารทะ และท่านพระอานนท์ อยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี.
[๒๖๙] ครั้งนั้น ท่านพระปวิฏฐะได้กล่าวคำนี้กะท่านพระมุสิละว่า ดูก่อนท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ และจากการทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ดังนี้หรือ.
พระมุสิละกล่าวว่า ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ และการทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ.
ป. ท่านมุสิละ เว้นจากตามเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ฯลฯ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ... เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป... เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารดังนี้หรือ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 359
ม. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร.
[๒๗๐] ป. ดูก่อนท่านมุสิละ อนึ่ง เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การมีญาณเฉพาะตัวว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ดังนี้หรือ.
ม. ดูก่อนท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ.
ป. ดูก่อนท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่าน เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ฯลฯ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ... เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ดังนี้หรือ.
ม. ดูก่อนท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ.
[๒๗๑] ป. ดูก่อนท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 360
ฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า ภพดับ เป็นนิพพานหรือ.
ม. ดูก่อนท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า ภพดับ เป็นนิพพาน.
ป. ถ้าอย่างนั้น ท่านมุสิละ ก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ.
เมื่อพระปวิฏฐะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมุสิละได้นิ่งอยู่.
[๒๗๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระนารทะได้กล่าวกะท่านปวิฏฐะว่า สาธุท่านปวิฏฐะ ผมพึงได้ปัญหานั้น ท่านจงถามปัญหาอย่างนั้น ผมจะแก้ปัญหานั้นแก่ท่าน ท่านปวิฏฐะกล่าวว่า ท่านนารทะได้ปัญหานั้น ผมขอถามปัญหานั้นกะท่านนารทะ และขอท่านนารทะจงแก้ปัญหานั้นแก่ผม ดูก่อนท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ดังนี้หรือ.
นา. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ.
ป. ท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา การตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ดังนี้หรือ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 361
นา. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร.
[๒๗๓] ป. ดูก่อนท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ฯลฯ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ดังนี้หรือ.
น. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ.
[๒๗๔] ป. ดูก่อนท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า ภพดับเป็นนิพพาน ดังนี้หรือ.
น. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น อย่างนี้ว่า ภพดับเป็นนิพพาน.
ป. ถ้าอย่างนั้น ท่านนารทะ ก็เป็นพระอรหันตขีณาสพหรือ.
น. อาวุโส ข้อว่า ภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ อาวุโส เปรียบเหมือนบ่อน้ำในหนทางกันดาร ที่บ่อนั้นไม่มีเชือก โพงจะตักน้ำก็ไม่มี ลำดับนั้น บุรุษถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 362
เดินมา เขามองดูบ่อน้ำนั้น ก็รู้ว่ามีน้ำ แต่จะสัมผัสด้วยกายไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนอาวุโส ข้อว่า ภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๒๗๕] เมื่อท่านพระนารทะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะท่านพระปวิฏฐะว่า ดูก่อนท่านปวิฏฐะ ท่านชอบพูดอย่างนี้ ท่านได้พูดอะไรกะท่านนารทะบ้าง พระปวิฏฐะกล่าวว่า ท่านอานนท์ ผมพูดอย่างนี้ ไม่ได้พูดอะไรกะท่านนารทะ นอกจากกัลยาณธรรม นอกจากกุศลธรรม.
จบโกสัมพีสูตรที่ ๘
อรรถกถาโกสัมพีสูตรที่ ๘
ในโกสัมพีสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อญฺตฺเรว ความว่า ก็คนบางคนเชื่อต่อผู้อื่น ย่อมยึดถือว่า ข้อที่ผู้นี้กล่าวนั้นเป็นความจริง ย่อมชอบใจเหตุที่ผู้อื่นนั่งคิดอยู่ เขาย่อมยึดถือตามความชอบใจว่า นั่นมีได้ คนหนึ่งยึดถือตามที่เล่ากันมาว่า เรื่องเล่าลืออย่างนี้มีมานาน นั่นเป็นความจริง.
เมื่อคนอื่นตรึกอยู่ ย่อมปรากฏเหตุเป็นอย่างหนึ่ง เขายึดถือโดยตรึกตามอาการว่า นั่นมีได้ ย่อมทนต่อทิฏฐิอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแก่อีกคนหนึ่ง ผู้คิดเพ่งพินิจถึงเหตุอยู่ เขาย่อมยึดถือด้วยความทนต่อการเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิว่า นั่นมีได้.
แต่พระเถระปฏิเสธเหตุทั้ง ๕ เหล่านี้ เมื่อถามถึงภาวะที่แทงตลอดด้วยญาณ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 363
ที่ประจักษ์ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อญฺตฺเรว อาวุโส มุสิล สทฺธาย ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อญฺตฺร ได้แก่ เว้นเหตุมีศรัทธาเป็นต้น อธิบายว่า เว้นจากเหตุเหล่านั้น.
บทว่า ภวนิโรโธ นิพฺพานํ ได้แก่ พระนิพพานคือการดับสนิทแห่งเบญจขันธ์.
บทว่า ตุณฺหี อโหสิ ความว่า พระเถระผู้ขีณาสพ ไม่กล่าวว่า ก็เราเป็นขีณาสพ หรือว่าไม่เป็น ได้แต่นิ่งอย่างเดียว.
เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวว่า อายสฺมา นารโท อายสฺมนฺตํ ปวิฏฺํ เอตทโวจ.
เพราะเล่ากันมาว่า พระเถระนั้นคิดว่า การดับสนิทแห่งภพ ชื่อว่านิพพาน ปัญหานี้ พระเสขะก็ดี พระอเสขะก็ดี ควรรู้ แต่พระนารทเถระนี้ ให้พระปวิฏฐเถระทำด้วยอเสขภูมิ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักให้รู้ฐานะนี้.
บทว่า สมฺมปฺปญฺาย สุทิฏฺํ ความว่า เห็นด้วยดีพร้อมด้วยวิปัสสนาปัญญา และมรรคปัญญา.
ด้วยคำว่า น จมฺหิ อรหํ พระเถระแสดงว่า เรามิได้เป็นพระอรหันต์ เพราะยังตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค.
ก็ญาณของท่านในบัดนี้ว่า การดับสนิทแห่งภพ ชื่อว่านิพพานนั้น พ้นจากปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ชื่อว่าปัจจเวกขณญาณ.
บทว่า อุทปาโน ได้แก่ บ่อน้ำลึก ๒๐ - ๓๐ ศอก.
บทว่า อุทกวารโก ได้แก่ กระบอกรดน้ำ.
บทว่า อุทกนฺติ หิ โข าณํ อสฺส ความว่า เมื่อยืนพิจารณาอยู่ที่ริมฝั่ง พึงมีญาณอย่างนี้.
บทว่า น จ กาเยน ผุสิตฺวา ความว่า แต่ไม่สามารถใช้กายนำน้ำออกมาถูกต้องอยู่.
จริงอยู่ การเห็นพระนิพพานของพระอนาคามี เหมือนการเห็นน้ำในบ่อน้ำ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 364
พระอนาคามีเหมือนบุรุษที่ถูกความร้อนแผดเผา อรหัตตมรรคเหมือนกระบอกน้ำ พระอนาคามีย่อมรู้ว่า ถัดขึ้นไปย่อมมีการบรรลุอรหัตตผล ด้วยปัจจเวกขณญาณ เหมือนบุรุษที่ถูกความร้อนแผดเผา เห็นน้ำในบ่อ.
อนึ่ง พระอนาคามีย่อมไม่ได้ที่จะทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ นั่งเข้าผลสมาบัติ ที่สัมปยุตด้วยพระอรหัต เพราะไม่มีอรหัตตมรรค เหมือนบุรุษนั้นไม่สามารถจะใช้กายนำน้ำออกมารดตัว เพราะไม่มีกระบอกน้ำ ฉะนั้น.
จบอรรถกถาโกสัมพีสูตรที่ ๘