ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากรของมูลนิธิฯ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยการประสานงานและจัดการสนทนาธรรมของสำนักบริหารแผนและการคลัง เนื่องในโอกาสที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้เปิดดำเนินการมาครบ ๓๐ ปี ในปีนี้ โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้การต้อนรับ
การสนทนาธรรมจัดขึ้น ณ ห้องประชุม สถาพร กวิตานนท์ ๑ ชั้น ๓ อาคารบริการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระหว่างเวลา ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสนทนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุ แพทย์ พยาบาล บุคคลากรของโรงพยาบาล และบุคคลภายนอก
ขออนุญาตนำความการสนทนาบางตอน มาบันทึกไว้เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณา ซึ่งเป็นตอนที่มีผู้ถามถึง "การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน" ซึ่งท่านอาจารย์ได้บรรยายไว้โดยละเอียดไพเราะ น่าฟังอย่างยิ่ง และใคร่ที่จะปรารภว่า การที่แม้เคยได้ฟังการสนทนาตามข้อความดังกล่าวที่ถอดมานี้แล้วก็ตาม แต่การได้อ่านและพิจารณาในคำแต่ละคำอย่างช้าๆ ด้วยความเข้าใจขึ้น จะพบว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง แก่ความเข้าใจ ซึ่งมีเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ได้อ่านทบทวนแล้วๆ เล่าๆ
อ.คำปั่น ก็เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งในวันนี้ ที่มีการสนทนาธรรมะ ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นเวลาที่จะสนทนาเพื่อความเข้าใจความจริง เข้าใจธรรมะ เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และเป็นโอกาสที่ได้พบปะกันเป็นครั้งแรก กับการสนทนาธรรมะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในช่วงแรก ก่อนที่จะมีประเด็นคำถาม ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของความเป็นชาวพุทธที่แท้จริงคืออย่างไร เพราะว่าแต่ละคนแต่ละท่าน ก็กล่าวอยู่เสมอว่าเป็นชาวพุทธ เป็นพุทธศาสนิกชน แต่ความจริงแล้ว ชาวพุทธที่แท้จริงคือใคร? มีกิจหน้าที่ที่สำคัญอย่างไรครับ กราบเรียนท่านอาจารย์ในช่วงแรกก่อนครับ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะคะ เรื่องของ "ธรรมะกับการมีความสุขในการทำงาน" จริงๆ แล้ว ทุกอย่างเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ตลอด โดยที่เราไม่ทราบเลยสักอย่าง ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ด้วยเหตุนี้ การศึกษาพระธรรม เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุด ถ้าศึกษาวิชาอื่น ก็ไม่เหมือนกับการที่จะได้ศึกษาวิชาความรู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงให้คนอื่นที่เห็นประโยชน์ ได้รับฟัง ได้เข้าใจด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะ "ฟัง" อะไรทั้งหมด ก็เพื่อ "ความเข้าใจ" ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท พระพุทธพจน์ พระปัจฉิมวาจาสุดท้าย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะปรินิพพาน "จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หมายความว่า ไม่ประมาทในทุกอย่าง!! ทุกคนก็เห็นได้ ว่าทุกอย่าง ดูเหมือนราบรื่น แต่เพียงความประมาทเล็กน้อย นิดเดียว ก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง!!!
เพราะฉะนั้น จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม "ในทุกกรณี" แม้แต่ในเรื่องของการฟังพระธรรม ต้องไม่ประมาท!! บางคนอาจจะคิดว่า เคยได้ฟังมาแล้ว...มาก...แต่ว่าฟังแล้วเท่าไหร่? ตลอดชีวิตก็ยังไม่พอ!!! เพราะเหตุว่า "แต่ละคำ" มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ฟังต้องฟัง "เพื่อเข้าใจคำแต่ละคำ" ซึ่งมีค่ามาก เพราะเหตุว่า กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ทรงตรัสรู้ ก็ได้ทรงบำเพ็ญเพียรด้วยพระบารมี นานมาก...กว่าจะได้ตรัสรู้ "แต่ละคำ" ที่เราจะได้ฟัง!!
แม้แต่คำว่า "ธรรมะ" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก็เห็นได้ว่า มีคำว่า "ธรรมะ" แต่..."เข้าใจคำนี้"..ลึกซึ้งแค่ไหน??? คำว่า "ธรรมะ"
เราได้ยินคำว่า "พระพุทธรัตนะ" "พระธรรมรัตนะ" "พระสังฆรัตนะ" รัตนะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะสิ่งที่ประเสริฐ มีถึง ๓ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระพุทธรัตนะ ไม่มีใครเปรียบได้เลย มีใครคิดจะเปรียบกับพระองค์บ้าง? ถ้าคนนั้นคิด ก็เป็นคนที่ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า!! เทวดาและพรหม กี่สากลจักรวาลก็ตามแต่ ก็ต้องนับถือ บูชา ในพระคุณของพระองค์ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ทั้งหมด เป็นธรรมะ!!!
เพราะฉะนั้น ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง พระพุทธรัตนะมีจริง โดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ เป็นหนึ่ง ไม่มีใครเปรียบได้เลย ทรงแสดงพระธรรม เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็เป็นรัตนะด้วย
ธรรมะที่เราเคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เป็นรัตนะหรือยัง? เป็นสิ่งที่มีค่ามากไหม? เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีการฟัง เราไม่สามารถจะประมาณได้ว่าเรารู้จักธรรมะแค่ไหน? หรืว่า เราเห็นคุณของธรรมะแค่ไหน? แค่ "ธรรมะ" คำเดียว!!
เมื่อมีธรรมะ "มีการตรัสรู้" "มีการทรงแสดงพระธรรม" ก็มี "ผู้ฟัง" ซึ่งผู้ฟัง เข้าใจ เหมือนเราเดี๋ยวนี้ กำลังจะได้ฟังพระธรรมจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้ "เข้าใจในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เพื่อจะได้อบรม ประพฤติ ปฏิบัติ จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นสาวกผู้ถึงความเป็นพระอริยสงฆ์ เป็นสังฆรัตนะ
เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ไม่ใช่เพียงเผินๆ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ละเอียด และต้อง "เข้าใจจริงๆ " ด้วยความเคารพ!!!
คุณอุษณีย์ มีคำถามมาจากน้องๆ ในห้องประชุมว่า การนั่งวิปัสสนากรรมฐานกับการสวดมนต์ อย่างไหนดีกว่ากันคะ?
ท่านอาจารย์ ค่ะ รู้จัก "วิปัสสนา" หรือยัง? รู้จัก "กรรมฐาน" หรือยัง? รู้จัก "สวด" รู้จัก "มนต์" หรือยัง? เห็นไหม? เราประมาท โดยคิดว่าเราเข้าใจแล้วบ้างพอสมควร และคิดว่า อะไรดีกว่ากัน? ความจริง ต้อง "เข้าใจจริงๆ " ในคำ "แต่ละคำ" เช่นคำว่า "วิปัสสนา" ขอเชิญคุณคำปั่น ให้ความหมายในภาษาบาลีค่ะ
อ.คำปั่น วิปัสสนา หมายถึง ปัญญาที่เห็นสภาพธรรมะอย่างแจ่มแจ้ง ตามความเป็นจริง ครับ วิปัสสนา เป็นอีกชื่อหนึ่งของปัญญา แต่ว่าเป็นปัญญาในระดับที่ไม่ใช่ในขั้นของการฟัง แต่ "เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในความเป็นจริงของธรรมะ" จึงได้ชื่อว่า "วิปัสสนา" คือ "ปัญญาที่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง" ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องไม่ลืม "ปัญญา" ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะเป็นวิปัสสนา!!! แต่วิปัสสนาต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้ ทุกขณะ!! เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ มี "เสียง" มี "ได้ยิน" ถูกต้องไหม? และมี "เห็น" แล้วก็มี "สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น" เพราะฉะนั้น วิปัสสนา รู้อะไร?
เดี๋ยวนี้ อะไรที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ "เป็นธรรมะ" คือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น "ปัญญาที่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง โดยการ ประจักษ์แจ้ง" เป็น "วิปัสสนา"
ถ้าเราจะกล่าวว่า ขณะนี้ "เห็น" เกิดขึ้น ถูกต้องไหม? ถ้าไม่เกิด จะมี "เห็น" ไหม? ธรรมดาๆ อย่างนี้ กำลังเห็น ทุกคนเห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ความจริงซึ่งไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็มี แต่ก็เกิดแล้วก็ตายไป เกิดแล้วก็ตายไป สุข ทุกข์ ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ระหว่างเกิดแล้วยังไม่ตาย แล้วก็หมดสิ้น แล้วก็ไม่เหลือเลย แต่ไม่มีใครรู้ความจริงว่า "แต่ละขณะ" เป็นสิ่งที่ ถ้า "รู้" เมื่อไหร่ เป็นวิปัสสนาเมื่อนั้น แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่ใช่วิปัสสนา!!!
เพราะฉะนั้น "เห็น" ขณะนี้ เริ่มต้น จากว่า ใครบ้างที่คิดว่า "เห็นขณะนี้" ไม่มี? เห็นมีนะคะ ใครบ้าง? ที่คิดว่า "เห็นเดี๋ยวนี้" ไม่จริง? "เห็น" จริง "เห็น" มีจริงๆ เพราะฉะนั้น "เห็น" เกิดขึ้นหรือเปล่า? เพราะถ้าเห็นไม่เกิดขึ้น จะมีเห็นไหม? นี่คือการ "เริ่มเข้าใจ" สิ่งที่มี และ "เห็น" ขณะนี้ ไม่ใช่ "ได้ยิน" เลย ไม่ใช่ "คิด" ด้วย "เห็น" เป็น "เห็น", "ได้ยิน" เป็น "ได้ยิน", "คิด" เป็น "คิด"
เพราะฉะนั้น "ชั่วขณะ" ที่ "เห็น" ชั่วขณะที่ "แสนสั้น" คือ มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นต้องไม่มีอย่างอื่น (และ) ในขณะที่ "ได้ยิน" "เสียง" เท่านั้น ที่กำลังปรากฏ!! ชั่วขณะที่สั้นที่สุด อะไรเกิดแทรกเสียงไม่ได้เลย เสียงเป็นเสียง เฉพาะ "เสียง" ที่ "กำลังปรากฏ" ขณะนั้นเป็นขณะที่สั้นมาก!!
เพราะฉะนั้น "เสียง" ก็ต้อง "เกิดขึ้น" . "ได้ยิน" ก็ต้อง "เกิดขึ้น" เพราะเหตุว่า ถ้า "ได้ยิน" ไม่เกิดขึ้น "เสียง" ก็ "ไม่ปรากฏ" เพราะว่า "ได้ยิน..เสียง.." ทุกครั้งที่ "ได้ยิน" ต้องมี "เสียง" แต่ว่า "เสียง" ไม่ใช่ "ได้ยิน" และ "ได้ยิน" ก็ไม่ใช่ "เสียง" และทั้งสองอย่างก็ "เกิดขึ้น" เกิดแล้วก็ "ดับไป" .....วิปัสสนา...คือ ปัญญา..ที่สามารถ "ถึงลักษณะ" ที่กำลัง เกิด-ดับ ในขณะนี้!! ด้วยการที่ ค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นมาได้เลย เป็นอนัตตา!!!
"ได้ยิน"...อนัตตาแน่เลย...เงียบ...แล้วก็มี..ได้ยิน...มี..เสียง...หลับตา..ไม่มีอะไรปรากฏเลย..ลืมตา...มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มี สิ่งนั้นต้องเกิด ถ้าไม่เกิด ไม่มี!! แต่เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป เร็วสุดที่จะประมาณ ไม่มีใครที่สามารถจะรู้ได้เลย ปกปิดความจริงนี้ไว้ จนกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ความจริงของธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง โดยประจักษ์แจ้ง ว่า จากไม่มี ก็เกิดมี แล้วก็ หามีไม่!!
ภาษาธรรมะ จะใช้คำว่า "ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่" ก็คือว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็มีสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็ดับไป "ดับไป" หมายความว่า "ไม่กลับมาอีกเลย" ในสังสารวัฏฏ์ หาอีกไม่ได้เลย เมื่อวานนี้จำได้ไหม? ทำอะไรบ้าง? ไม่เหลือเลย!! พรุ่งนี้ ที่นั่งอยู่ตรงนี้จะไม่มีเลย เพราะวันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ แต่ว่า วันนี้ จะเป็น เมื่อวานนี้ ของพรุ่งนี้ แล้วมีอะไรเหลือ? เหมือนเมื่อวานนี้เหลือไหม? มีอะไรเหลือไหม? ก็ไม่เหลือ ฉันใด เพราะฉะนั้น วันนี้ที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ พอถึงพรุ่งนี้ วันนี้ ขณะนี้ ก็เป็นเมื่อวานนี้ของพรุ่งนี้แล้ว ไม่มีอะไรเหลือเลย!!!
แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประจักษ์แจ้งธรรมะ สิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับ และไม่กลับมาเลย แล้วใครจะรู้? ว่าแต่ละหนึ่ง รวมกันต่างหาก เพราะไม่รู้ความจริงว่า แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งนี้ เกิด-ดับ แต่การเกิด-ดับรวมกัน ก็ทำให้เข้าใจว่า เป็นคนเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดบ้าง จำได้บ้าง แต่ความจริงก็เป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ติดกัน ไม่แยกกัน สืบต่อไม่ขาดสาย ก็ทำให้เข้าใจว่า ยังมีอยู่!!! เมื่อกี้นี้ก็เห็น เดี๋ยวนี้ก็เห็น แสดงให้เห็นว่า ไม่รู้เลยว่า เห็นเมื่อกี้นี้ ไม่ใช่เห็นเดี๋ยวนี้ เพราะมีได้ยินแทรกคั่น มีธรรมะมากมาย เกิด-ดับ สลับ เร็วสุดที่จะประมาณได้!!
เพราะฉะนั้น "ปัญญา" สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งซึ่ง "ไม่ใช่เรา" เพราะอะไร? เกิดแล้วก็ดับไป "เรา" จะมีได้อย่างไร? "เรา" จะไปอยู่ที่ไหน? สิ่งนั้นเกิดแล้วหมดแล้ว หาอีกไม่ได้เลย!! ทุกอย่างที่เข้าใจว่า "เป็นเรา", "มีเรา" ก็คือ เป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว แล้วก็ดับไป!!
เพราะฉะนั้น "วิปัสสนา" ไม่ใช่ขั้นฟัง ฟังอย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนา!! แล้วก็จะมีความเป็นเราซึ่งไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น!! ไปสู่ที่หนึ่งที่ใด ไปนั่งบ้าง นอนบ้าง เดินบ้าง ยืนบ้าง แต่ว่าไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย จะเป็นวิปัสสนา ได้อย่างไร???
เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ไม่ประมาท ก็คือว่า "ไม่ประมาทที่จะเข้าใจแต่ละคำ" ให้ถูกต้อง ว่าเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ใครจะเปลี่ยนไม่ได้!! ความจริงถึงที่สุดก็คือว่า ขณะนี้!! มี "สิ่งซึ่งกำลังเกิดดับ" แต่ไม่มีใครรู้เลย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม!!!
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจวิปัสสนาก่อน และคำถามว่า....
คุณอุษณีย์ คำถามว่า การนั่งวิปัสสนากรรมฐานกับการสวดมนต์
ท่านอาจารย์ ค่ะ มีคำว่า "นั่ง" ด้วย!! เดี๋ยวนี้ก็นั่ง แล้วอย่างไร? จะไปที่ไหนก็ต้องนั่ง ใช่ไหม? แล้วนั่งวิปัสสนาเป็นอย่างไร? นั่งวิปัสสนา? ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไร ไม่ได้ฟังอะไรเลย แล้วก็บอกว่า นั่งวิปัสสนาได้อย่างไร? เดี๋ยวนี้ กำลังนั่งวิปัสสนาหรือเปล่า? ไม่ใช่!! แต่...กำลัง "ฟังคำ"..ที่จะนำไปสู่...วิปัสสนา!!
ถ้าไม่มี "ความเข้าใจ" ก่อน ไม่มีทางที่จะเข้าคำว่า "วิปัสสนา" ได้เลย แต่..เดี๋ยวนี้เอง...ที่กำลังนั่ง..มีสิ่งที่มีจริง...เห็นมี..ได้ยินมี..คิดมี...ทุกอย่างเป็นปรกติ ตั้งแต่เกิดจนตาย มี ๖ โลก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สืบต่อ..วนเวียน...ตั้งแต่เกิด...จนตาย...ไม่พ้นจาก ๖ โลกนี้เลย ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายกระทบสิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ใจก็คิดนึก ๖ โลก แต่ละโลกไม่ได้เป็นโลกเดียวกันเลย
"โลก" คือ การเกิดขึ้นและดับไป เวลาที่เราพูดภาษาไทย เราเอาคำภาษาบาลีมาใช้ แต่เราไม่รู้ว่าไม่ใช่ภาษาบาลี และความหมายก็ต่างกันด้วย เช่นคำว่า "โลก" ภาษาบาลีใช้คำว่า โล-กะ (โลก) ธรรมดาอย่างนี้ หารู้ไม่ว่าพูดภาษาบาลีแล้ว เวลาที่ใช้คำว่า "โลก" แต่ว่า ไม่ได้เข้าใจภาษาบาลี โล-กะ (โลก) หมายความถึง สภาพธรรมะที่เกิดดับ ทั้งหมด ไม่เว้นเลยทั้งสิ้น!! เป็นโลกแต่ละโลก คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ไม่มีคำว่า "นั่งวิปัสสนา" ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!! เพราะว่า ยืนก็มี "เห็น" มี "ได้ยิน" ถ้าขณะใดก็ตาม ที่รู้ความจริงของ "เห็น" ซึ่งเดี๋ยวนี้ เกิดแล้วดับ!! "ได้ยิน" เดี๋ยวนี้ เกิดแล้วดับ!! ขณะนั้น เป็นวิปัสสนา!!!
นั่ง นอน ยืน เดิน หมอบ ทำอะไรก็ได้หมด เคลื่อนไหวอะไรทั้งหมด ก็มีจริงทั้งหมด ไม่เว้นเลย ไม่ใช่ต้องไปมี "แบบแผน" ให้ไป "ทำอะไร" แล้วไม่เข้าใจว่า วิปัสสนา คือ อะไร? แต่ "ถูกบอก" ว่า "นั่งวิปัสสนา" แต่ว่าไม่ได้เข้าใจ ว่าทำไม่เป็นนั่ง และทำไมเป็นวิปัสสนา!! แล้วยังใช้คำว่า "กรรมฐาน" คือ ไม่ได้รับ "ความเข้าใจ" ใดๆ เลยทั้งสิ้น!! มีแต่ "คำบอก" ให้ทำ!!! เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและคณะฯ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
.........
ขอเชิญคลิกชมบันทึกการถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่นี่...
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา
ของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและคณะฯ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ
ขอบพระคุณมากและอนุโมทนาค่ะ