พระสูตรที่ ๕ .. บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายในและในภายนอก
โดย บ้านธัมมะ  13 ม.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 10900

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๗ ม.ค. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

สูตรที่ ๕

ว่าด้วยบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายในและในภายนอก

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๖๔


พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๖๔

สูตรที่ ๕

ว่าด้วยบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายในและในภายนอก

[๒๘๑] ๓๕. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแลท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพา-ราม ใกล้กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นตอบรับท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลายเราจักแสดงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอก ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นตอบรับท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในเป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ภิกษุนั้นย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็นอาคามีกลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายใน เป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้.

ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอกเป็นไฉนภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในพระปาติโมกขสังวรถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมบรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอก เป็นอนาคามีไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้.

ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย อีกประการหนี่ง. ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลาย เพื่อความดับกามทั้งหลายย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลาย เพื่อความดับภพทั้งหลาย ย่อมปฏิบัติเพื่อสิ้นตัณหา เพื่อสิ้นความโลภ ภิกษุนั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้วเป็นอนาคามี ไม่กลับมาสุ่ความเป็นผู้เช่นนี้ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลายนี้เรียกว่า บุคคลมีสังโยชน์ในภายนอก เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้.

ครั้งนั้นแล เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรนั่นกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงพระกรุณาเสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำอาราธนาด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากพระเชตวันวิหาร ไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระสารีบุตร ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพา-ราม เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปหาเราจนถึงที่อยู่ ไหว้เรา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วบอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในและบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอกแก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณาเสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด ดูก่อนสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ในโอกาส แม้เท่าปลายเหล็กแหลมจรดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง๖๐ องค์บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน ดูก่อนสารีบุตร เธอก็พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง. . . ๖๐องค์บ้าง เป็นจิตอันเทวดาเหล่านั้นอบรมแล้วในภพนั้นแน่นอน ดูก่อนสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูก่อนสารีบุตรก็จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาส แม้เท่าปลายเหล็กแหลมจรดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน เทวดาเหล่านั้นได้อบรมแล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้นแหละ สารีบุตร เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ สารีบุตร กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับ จักสงบระงับ เพราะฉะนั้นแหละ สารีบุตร เธอพึงศึกษาว่า จักนำกายและจิตที่สงบระงับแล้วเท่านั้น เข้าไปในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ดูก่อนสารีบุตร เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ ดูก่อนสารีบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกที่ไม่ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ได้พากันฉิบหายเสียแล้ว.

จบสูตรที่ ๕



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 13 ม.ค. 2552

อรรถกถาสูตรที่ ๕ (บางส่วน)

ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปุพฺพาราเม ได้แก่ ณ อารามทางทิศตะวันออกกรุงสาวัตถี. บทว่า มิคารมาตุปาสาเท ได้แก่ เป็นปราสาทของอุบาสิกาชื่อวิสาขา. ก็อุบาสิกาวิสาขานั้น เรียกกันว่า มิคารมารดา เพราะท่านมิคารเศรษฐี (พ่อผัว) ตั้งไว้ในฐานะมารดาด้วย เพราะมีชื่อเหมือนชื่อของเศรษฐีผู้เป็นปู่ [วิสาขเศรษฐี] ซึ่งเป็นบุตรคนหัวปีด้วย.ปราสาทที่นางวิสาขาสร้าง มีห้อง ๑,๐๐๐ หัอง ชื่อว่าปราสาทมิคาร-มารดา. พระเถระพักอยู่ในปราสาทนั้น. บทว่า ตตฺร โข อายสฺมาสารีปุตฺโต ความว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระพักอยู่ในปราสาทนั้น.

บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระเถระเรียกเวลาไหน. เพราะสูตรบางสูตร กล่าวว่าก่อนภัตก็มี บางสูตรว่า หลังภัต บางสูตรว่ายามแรก บางสูตรว่า ยามกลาง บางสูตรว่า ยามท้าย. ก็ปฏิปทาสูตรในสมจิตตวรรคนี้ กล่าวว่า หลังภัต ฉะนั้น พระเถระจึงเรียกภิกษุทั้งหลายเวลาเย็น. ความจริงสูตรนี้ พระเถระมิได้กล่าวองค์เดียวเท่านั้น แม้พระตถาคตก็ตรัส. ถามว่า ประทับนั่งที่ไหน ตอบว่าประทับนั่ง ณ รัตนปราสาทของนางวิสาขา. จริงอยู่ ๒๐ พรรษาตอนปฐมโพธิกาล พระตถาคตมิได้ประทับอยู่ประจำ ที่ใดๆ มีความผาสุกก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแล.............................. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นว่า ชาวกรุงสาวัตถีและเหล่าสัตว์หาประมาณมิได้ รอบๆ กรุงสาวัตถีในพื้นที่คาวุตหนึ่งและกึ่งโยชน์จะได้ตรัสรู้ ต่อจากนั้นทรงตรวจดูว่า เวลาไหนหนอ จักมีการตรัสรู้ ทรงเห็นว่า เวลาเย็น ทรงตรวจดูว่า เมื่อเรากล่าว จักมีการตรัสรู้ หรือว่าเมื่อสาวกกล่าว จักมีการตรัสรู้ ทรงเห็นว่า เมื่อพระสารีบุตรเถระกล่าว จักมีการตรัสรู้ ครั้นแล้วทรงตรวจดูว่า นั่งกล่าวที่ไหน จักมีการตรัสรู้ ทรงเห็นว่า นั่งที่รัตนปราสาทของนางวิสาขาได้ทรงทราบว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีประชุมสาวก๓ ครั้ง พระอัครสาวกทั้งหลาย มีประชุมครั้งเดียว บรรดาประชุมเหล่านั้น วันนี้จักมีประชุมสาวกของพระธรรม. เสนาบดีสารีบุตรเถระ ครั้นทรงทราบแล้ว ทรงปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าทีเดียว ทรงนุ่งสบง ห่มสุคตจีวร ทรงถือบาตรเสลมัยบาตรหิน แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าเมืองทางประตูทิศใต้ เสด็จบิณฑบาตอยู่ ทรงทำให้ภิกษุสงฆ์หาบิณฑบาตได้ง่าย เสด็จหวนกลับออกทางประตูทิศใต้เหมือนเรือที่ต้องลม ประทับยืนอยู่นอกประตู. ลำดับนั้น พระอสีติมหาสาวก ภิกษุ-ณีบริษัท อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท รวมเป็นบริษัท ๔ แวดล้อมพระศาสดา. พระศาสดาตรัสเรียกพระสารีบุตรเถระมารับสั่งว่า สารี-บุตร เธอควรจะไปบุพพาราม จงพาบริษัทของเธอไป. พระเถระรับพระพุทธดำรัสว่า ดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แวดล้อมด้วยภิกษุบริวารของตนประมาณ ๕๐๐ รูป ได้ไปยังบุพพาราม. พระศาสดาทรงส่งพระอสีติมหาสาวกไปยังบุพพารามเหมือนกันโดยทำนองนี้แหละ พระองค์เองเสด็จไปพระเชตวันกับพระอานนทเถระองค์เดียวเท่านั้น. แม้พระอานนทเถระก็กระทำวัตรแด่พระศาสดา แล้วถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะไปบุพพาราม พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ไปเถิดอานนท์.พระอานนทเถระถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ได้ไปในบุพพารามนั้นทีเดียว. พระศาสดาทรงคอยอยู่ที่พระเชตวันพระองค์เดียวเท่านั้น. ก็วันนั้น บริษัท ๔ ประสงค์จะฟังธรรมกถาของพระเถระเท่านั้น. แม้พระเจ้าโกศลมหาราชก็แวดล้อมไปด้วยพลนิกาย เสด็จไปยังบุพพา-รามเหมือนกัน. ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีมีอุบาสก ๕๐๐ คนเป็นบริวาร ก็ได้ไปเหมือนกัน. ฝ่ายมหาอุบาสิกาวิสาขา แวดล้อมไปด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คน ได้ไปแล้ว. ในกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นที่อยู่ของตระกูลที่องอาจ ๕,๗๐๐,๐๐๐ ตระกูล ชนทั้งหลายนอกจากเด็กเฝ้าบ้าน ต่างพากันถือจุรณของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังบุพพารามกันทั้งนั้น. และมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ในที่คาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์และโยชน์หนึ่งในหมู่บ้านที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ได้ถือจุรณของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังบุพพาราม. ทั่วทั้งวิหารได้เป็นเหมือนเกลื่อนกลาดไปด้วยดอกไม้ทั้งหลาย. แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระก็ได้ไปยังวิหาร ยืนอยู่ ณ ที่เป็นเนินในบริเวณวิหาร. ภิกษุทั้งหลายช่วยกันปูลาดอาสนะถวายพระเถระ. พระเถระนั่งบนอาสนะนั้น เมื่อพระเถระผู้อุปัฏฐากกระทำวัตรแล้ว ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ เข้าไปยังคันธกุฎีนั่งเข้าสมาบัติ. ได้เวลาตามกำหนด ท่านออกจากสมาบัติ ไปยังแม่น้ำอจิรวดี ชำระเหงื่อไคลระงับความกระวนกระวาย แล้วขึ้นจากน้ำทางท่าที่ลงนั่นแหละ ครองสบงจีวรแล้วยืนห่มสังฆาฏิ. แม้ภิกษุสงฆ์ก็ลงสรงน้ำพร้อมกัน ชำระเหงื่อไคลแล้วกลับขึ้นมาแวดล้อมพระเถระ.แม้ภายในวิหารก็ได้จัดปูลาดธรรมาสน์ไว้สำหรับพระเถระ. บริษัททั้ง ๔ รู้โอกาสของตนๆ จึงนั่งเว้นทางไว้. พระสารีบุตรเถระ แวดล้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มายังธรรมสภา นั่งผินหน้าไปทางทิศตะวันออก จับพัดวีชนีอันวิจิตร บนรัตนบัลลังก์ที่ยกเศวตฉัตรขึ้นซึ่งประดิษฐานอยู่บนหัวสิงห์ [รูป] . ครั้นนั่งแล้วแลดูบริษัท คิดว่าบริษัทนี้ใหญ่เหลือเกิน การแสดงธรรมเบ็ดเตล็ดมีประมาณน้อย ไม่สมควรแก่บริษัทนี้ แสดงธรรมข้อไหนจึงจักสมควรหนอ เมื่อนึกถึงพระไตรปิฎก จึงได้เห็นธรรมเทศนาว่าด้วยสังโยชน์นี้ ครั้นกำหนดธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว ประสงค์จะแสดงข้อนั้น จึงเรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ภิกฺขโว ดังนี้.....


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 13 ม.ค. 2552

สาธุ

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 375

อรรถกถา (บางส่วน)

กามภพจึงชื่อว่า ภายใน รูปภพและอรูปภพจึงชื่อว่า ภายนอก แล.

ฉันทราคะในกามภพกล่าวคือภายใน ชื่อว่า สังโยชน์ภายใน.

ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพกล่าวคือภายนอกชื่อว่า สังโยชน์ภายนอก.


ความคิดเห็น 3    โดย opanayigo  วันที่ 13 ม.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย pornpaon  วันที่ 14 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 6    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 16 ม.ค. 2552
อนุโมทนาคะ