หัวใจของศาสนาพุทธคืออะไรค่ะ
โดย SOAMUSA  23 มิ.ย. 2554
หัวข้อหมายเลข 18602

ขอเรียนถามว่า หัวใจสำคัญของศาสนาพุทธคืออะไรค่ะ

เพราะเป็นคำถามที่สำคัญทีเดียว เอาไว้สอนลูกหลาน

ในเวลาที่พอจะพูดได้ค่ะ กลัวว่าพูดจากความเข้าใจตัวดิฉันเอง

จะไม่ชัดเจนและผิดพลาดลดความสำคัญไปค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 23 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พุทธศาสนา หมายถึง คำสอนหรือพระธรรม ของ พุทธ คือ ผู้รู้ ดังนั้นจึงหมายถึง

คำสอนของผู้รู้ จึงเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริง เพราฉะนั้น คำใดที่พระพุทธเจ้า

ทรงแสดง ใน 3 ปิฎก อันแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ว่ามีแต่ธรรม

ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ปัญญาที่รู้ความจริง ย่อมเป็นหัวใจของพระพุทธศานา

เพราะหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ปัญญา เพราะเป็นพุทธ ดังนั้นปัญญาที่รู้ความ

จริงในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ คือ อริยมรรค มีองค์ 8 อันเป็นปัญญาที่เป็นหนทาง

ดับกิเลส พระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงตรัสรู้ความจริง อันเป็นหนทางดับกิเลสได้อย่างแท้

จริง ย่อมเป็นหัวใจ ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเมือเราเข้าใจดังนี้ คำสอนที่พระองค์ทรง

แสดงจึงเป็นไปเพื่อละกิเลส ดังนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นหลัก

เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาด้วยครับ เพราะธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเกี่ยวเนื่องกัน

ทั้งหมด เพียงแต่ว่าจะกล่าวโดยนัยอะไร ตามอัธยาศัยของสัตว์โลกครับ จะกล่าวว่า

สติปัฏฐาน กล่าวว่าอริยมรรค เป็นต้น ก็อรรถ ความหมายเดียวกัน คือหนทางดับกิเลส

อันเป็นหนทางเพื่อละ ทั้งสิ้น ซึ่งละดัวยปัญญาครับ พระพุทธศานาจึงเป็นเรื่องของ

การละกิเลสตั้งแต่ต้น จนถึงที่สุดด้วยปัญญานี่คือหัวใจของพระพุทธศานา เป็นเรื่อง

ละ และละด้วยปัญญาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 23 มิ.ย. 2554

ที่สำคัญที่สุดครับ การแค่เพียงสรุปหัวข้อ หัวใจพระพุทธศาสนา เพียงบางเรื่อง

บางคำแล้วไปบอกกับคนอื่นให้ผู้อื่นเข้าใจว่า หลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธ

ศาสนาเป็นอย่างนี้และจะทำให้ผู้นั้นเข้าใจทันทีคงไม่ได้ครับ เพราะพระธรรมละเอียด

ลึกซึ้ง เพราะเพียงศึกษาแค่เพียงคร่าวๆ แค่หัวข้อที่รับฟังไม่มาก ไม่สามารถที่จะเข้าใจ

พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงได้เลย ดังนั้นการศึกษาพระธรรม ด้วยการฟังมาก ศึกษา

มากในส่วนต่างๆ ของพระไตรปิฎก เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและเห็นถูกในพระ

ธรรม อย่างละเอียดรอบคอบในส่วนต่างๆ และใช้เวลานาน ย่อมทำให้เกื้อกูลการเข้าใจ

พระธรรมได้ถูกต้องครับ เพราะหากเป็นผู้เผิน ศึกษา ฟังเพียงหัวข้อเท่านั้น ว่าหลักคือ

อะไร แต่ยังไม่เข้าใจ อรรถ คำนั้นและความละเอียดในพระธรรมส่วนต่างๆ ก็ย่อมคิดเอง

จากสิ่งที่ได้ฟังเพียงหัวข้อนั้น การคิดเองจากการฟังน้อย อธิบายน้อยก็ทำให้เข้าใจผิด

ได้ครับ ดังนั้นที่สำคัญการศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพเพื่อความเห็นถูก ต้องอาศัย

ระยะเวลายาวนานและศึกษาอย่างกว้างขวาง เพื่อความไม่เข้าใจผิดในพระธรรมครับ

เพราะฉะนั้น หัวใจพระพุทธศานา จึง เป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งเป็นคำสอนของพระ

พุทธเจ้าทั้งหมดที่ทรงแสดงนั่นเองครับ ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ.....หัวใจพุทธ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 3    โดย SOAMUSA  วันที่ 23 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาในธรรมทานค่ะ กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ถ้าดิฉันอธิบายเอง หัวใจของศาสนาพุทธ

ก็คงเป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ดีนะค่ะ ที่ดิฉันไม่เข้าข้างตัวเองว่าตอบได้


ความคิดเห็น 5    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 23 มิ.ย. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 23 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงแสดงพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้โปรดเวไนยสัตว์ ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ทรงพร่ำสอนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด จึงเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่แท้จริงในชีวิตคือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสจนหมดสิ้น ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรม ไม่มีการอบรมเจริญปัญญาแล้ว สังสารวัฏฏ์ก็จะดำเนินไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น จึงต้องเริ่มสะสม อบรมเจริญปัญญา ด้วยตนเอง เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา เพิ่มพูนความเข้าใจถูก เห็นถูกขึ้น ไปตามลำดับ หัวใจของพระพุทธศาสนา อยู่ที่ความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมโดยนัยใด ก็ไม่พ้นไปจากให้พุทธบริษัทได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของตนเอง ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย yoonsri  วันที่ 23 มิ.ย. 2554

หัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่

๑.การไม่ทำบาปทั้งปวง

๒.การทำกุศลให้ถึงพร้อม

๓.การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ทางที่ชำระได้คือสติปัฏฐาน ๔ เดินตาม

ทางอริยมรรคมีองค์๘ ซึ่งข้อ๓.นี้มีในพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว ซึ่งเป็นทางแห่ง

การพ้นทุกข์ สู่มรรคผลนิพพาน


ความคิดเห็น 8    โดย เมตตา  วันที่ 23 มิ.ย. 2554

พุทธศาสนา หมายถึง คำสอนหรือพระธรรม ของ พุทธ คือ ผู้รู้ ดังนั้นจึงหมายถึง

คำสอนของผู้รู้ จึงเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา คุณpaderm ค่ะ

หัวใจของพระพุทธศาสนา อยู่ที่ความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมโดยนัยใด ก็ไม่พ้นไปจากให้พุทธบริษัทได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของตนเอง ครับ ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ. คำปั่น ด้วยค่ะ

หัวใจของพระพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่า ปัญญาทางพุทธ-

ศาสนาเท่านั้นที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง ศาสนาอื่นใดก็สอนให้กระทำความดี ละเว้นจากการกระทำชั่ว แต่ไม่ได้สอนให้อบรมเจริญปัญญาเพื่อการดับกิเลส

ดับทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องมาเกิดอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงประเสริฐสุด

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

พระพุทธศาสนา...สอนอะไร? [๑]

พระพุทธศาสนา...สอนอะไร? [๒]

การเผยแพร่พระพุทธศาสนา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...


ความคิดเห็น 9    โดย orawan.c  วันที่ 24 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 10    โดย wannee.s  วันที่ 24 มิ.ย. 2554

คำสอนของพระพุทธเจ้า เน้นเรื่องของกรรมและผลของกรรม เน้นเรื่องของปัญญา

ทรงสอนให้รู้ึความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับทุกข์

นี้เป็นหนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย Tanmaashee  วันที่ 24 มิ.ย. 2554
ทำไมพระสาวกจึงเคารพพระศาสดา ปัญหา เพราะเหตุไร บรรดาพระสาวกของพระพุทธเจ้า จึงมีความเคารพยำเกรงในพระพุทธองค์อย่างสูง นับว่าขณะที่พระองค์กำลังทรงแสดงธรรม ภิกษุแม้รูปเดียวจะไอหรือจามก็ไม่กล้า?พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราแล้ว พึ่งเราอยู่ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหารเพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งโกสะ ก็มีเพียงเท่าเวลุวะ (จะในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี ส่วนเราและ บางครั้งบริโภคอาหารเสมอขอบปากบาตรนี้ก็มี ยิ่งกว่าก็มี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพ...เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย... บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียงเท่าโกสะหนึ่งบ้าง..... เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่เคารพสักการะ... เรา
“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะ.......เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมอง เธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นสังฆาฎิ ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น....... ถ้าสาวก
ทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพ...เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ทรงผ้าบังสุกุล..... ก็จะไม่เคารพสักการะ... เรา
“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะ.......เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้.... แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร....... เธอเหล่านั้น เมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วนเป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงกับหลายอย่าง ถ้าสาวก
ทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพ...เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตร.......ก็จะไม่เคารพสักการะ... เรา“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะ.......เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้น ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทาทั้งข้างในข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา เพราะเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือโคนต้นไม้เป็นวัตร..... ก็จะไม่เคารพสักการะ... เรา
“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะ.......เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด...... แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด ถือป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านั้นย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็อยู่เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด...... บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร..... ก็จะไม่เคารพสักการะ... เรา
“ ดูก่อนอุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่นอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะเคารพเรา ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน?
“ ดูก่อนอุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในพระอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง........
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา ย่อมสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์......
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา ย่อมสรรเสริญในเพราะปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง....
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา ผู้อันทุกข์ท่วมท้นแล้ว..... เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเราแล้วถามถึงทุกขอริยสัจ...... ถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ........ ทุกขนิโรธอริยสัจ.......... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ..... เราอันเธอเหล่านั้นถาม...... ก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐานสี่.........
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสัมมัปปธานสี่....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอิทธิบาทสี่....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอินทรีย์ห้า....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญพละห้า....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญโพชฌงค์เจ็ด....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญวิโมกข์แปด....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอภิภายตนะแปดประการ....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญกสิณายตนะสิบประการ....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญฌานสี่....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แลมีรูปประกอบด้วยมหาภูตสี่ เกิดแต่บิดามารดา...... มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้.... เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม...... มีด้ายเขียวเหลืองแดงขาวหรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น..... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา ......
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง..... เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง ...... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์....... ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ..... ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก....... ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ..... ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ....... สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่
“ ดูก่อนอุทายี ธรรมห้าประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วพึ่งเราอยู่”มหาสกุลุทายิสูตร ม. ม. (๓๒๕-๓๕๔)
ตบ. ๑๓ : ๓๑๘-๓๔๐ ตท.๑๓ : ๒๖๘-๒๘๖
ตอ. MLS. II : ๒๐๘-๒๒๒

ความคิดเห็น 13    โดย ผ้าเช็ดธุลี  วันที่ 24 มิ.ย. 2554
ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนากับจิตใจดีดี ทุกท่านครับ ขอให้มีความสุขกาย ใจ ทุกกาล จนถึงการบรรลุธรรม นะครับ

ความคิดเห็น 14    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 24 มิ.ย. 2554

สัจจธรรมคือหัวใจของพระพุทธศาสนา

.

.

พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมีอย่างยาวนานก็เพื่อการค้นพบ....สัจจธรรม

สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ก็คือ....สัจจธรรม

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษาก็ไม่พ้นไปจาก.....สัจจธรรม

สิ่งที่สาวกผู้ตรัสรู้ตามต้องศึกษาก็คือ....สัจจธรรม

เพื่อการรู้แจ้ง..... (อริย) สัจจธรรม

(ความจริงที่ทำให้ถึงความเป็นพระอริยะ)

ดังนั้น "สัจจธรรม" คือความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ

เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา (เพราะไม่มีในคำสอนของศาสนาอื่น)

เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อให้ "รู้"

และความรู้ที่ได้นี่แหละค่ะคือ....ปัญญา


ความคิดเห็น 15    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 24 มิ.ย. 2554

กระผมเข้าใจว่า คำว่า "หัวใจของพระพุทธศาสนา" ในกระทู้นี้ท่านผู้ถามคงจะ

หมายถึงหลักธรรมคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เช่น ต้องการจะได้ฟังคำตอบว่า

อริยสัจสี่ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) คือหัวใจของพระพุทธศาสนา หรือ โอวาท

ปาติโมกข์ (ไม่ทำบาปทั้งปวง 1 ทำกุศลให้ถึงพร้อม 1 ทำจิตของตนให้บริสุทธิ์สะอาด

1) คือหัวใจของพระพุทธศาสนา อะไรทำนองนี้ ดังแนวคำตอบที่ความคิดเห็นที่ 7

เสนอไว้ ก็คืออุปมาเหมือนจะถามว่า ในโรงหมอแห่งนี้ยาขนานไหนสำคัญที่สุด

แต่เมื่อดูคำตอบแล้ว ท่านผู้รู้กลับชี้ไปตรงที่การเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง

นั่นแหละคือหัวใจของพระพุทธศาสนา คืออุปมาเหมือนกับตอบว่า ใช้ยาให้ตรงกับโรค

นั่นแหละสำคัญที่สุด คล้ายๆ กับถามอย่างนั้น แต่ตอบอย่างนี้

แต่คิดอีกแง่หนึ่งก็ดีครับ คือได้แง่คิดที่ต่างไปจากที่คนทั่วไปเขาคิดกัน ก็เหมือน

กับจะบอกว่า อย่าไปมัวถามหาอยู่เลยว่าคำสอนข้อไหนของพระพุทธองค์สำคัญที่สุด

แต่ควรจะถามกันเสียใหม่ว่า ควรทำอย่างไรกับคำสอนของพระองค์จึงจะถูกต้องที่สุด

จะอย่างไรก็ตาม กระผมเชื่อว่าทั้งท่านผู้ถามและท่านผู้อ่านทั้งหลายก็คงจะได้

ประโยชน์จากคำตอบนี้โดยทั่วกัน - ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย SOAMUSA  วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาบุญในธรรมทานของทุกๆ ท่านค่ะ

กราบขอบพระคุณในคำตอบค่ะ จุดประสงค์ที่ถามเพราะว่า ต้องคุยกับเด็กๆ

ก็เลยต้องคุยให้ได้ใจความถูกต้องเป็นสำคัญ จะได้ปลูกฝังเรื่องสำคัญของการ

เกิดมาเป็นคน ได้พบพระพุทธศาสนา กะจะพูดคุยกับลูกหลานไปเรื่อยๆ ค่ะ

รับทราบค่ะ คุณนาวาเอกทองย้อย

ดิฉันกำลังศึกษาถึงชั้นจูฬเอก ใกล้เปิดเรียนเดือนกรกฎานี้ค่ะ แต่เรื่องปฏิบัติ

ก็ยังแย่อยู่เอามากๆ ค่ะ อาศัยฟังอ่านจากที่เวปนี้แหละค่ะ และมีกัลยาณมิตรช่วยเหลือ

แนะนำอยู่ด้วยค่ะ

ต้องขอบพระคุณเวปนี้ ช่วยชี้แนะแนวทางให้ค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย akrapat  วันที่ 28 มิ.ย. 2554

พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

พุุทธศาสนา คือศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน


ความคิดเห็น 18    โดย พุทธรักษา  วันที่ 28 มิ.ย. 2554

เข้าใจว่า.......
ศาสนาพุทธ หรือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ได้สอน เพียงให้ผู้ฟัง เป็นคนดี มีคุณธรรม เท่านั้น.
แต่ ทรงสอนให้ถึงที่สุด คือ "การดับทุกข์"ถึงซึ่ง "พระนิพพาน" เป็นการพ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยการออกจากสังสารวัฏฏ์ ออกจากการเวียนว่ายตายเกิดนั่นหมายถึง การปรินิพพานของพระอรหันต์.
ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา...สำหรับคนยุคนี้.
หากคำว่า "หัวใจ" หมายถึง สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ "การดับทุกข์"
เพราะที่สุดของการเดินทางแห่งชีวิตคือ การพ้นจากทุกข์...พ้นจากการเกิดซึ่ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพ้นแล้วรวมทั้ง พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ด้วย.
.
ขออนุโมทนาจาก....ผู้เดินทางคนหนึ่ง.


ความคิดเห็น 19    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 2 ก.ค. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 20    โดย lovedhamma  วันที่ 22 ก.ค. 2554

ปัญญาที่รู้ความจริง เป็นหัวใจของพระพุทธศานา เพราะหัวใจของพระพุทธศาสนา

คือ ปัญญาและความรู้แจ้ง นั่นเองนะครับ เพราะฉะนั้น การเกิดมาเป็นแล้วได้พบพระ

พุทธเจ้า ดังที่พระพุทธเจ้าได้บอกเราชาวพุทธว่า ผู้ใดเห็นธรรม...ผู้นั้นเห็นเรา จึงเป็น

สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง ส่วนจุดหมายของพระพุทธศาสนานั้นก็คือ นิพพาน ซึ่งก็คือ การ

ดับกิเลสทั้งปวง นั่นเองครับ


ความคิดเห็น 21    โดย modelmod  วันที่ 31 ส.ค. 2556

หัวใจของศาสนาพุทธ คือ ทำดีไดีทำชั่วได้ชั่ว

ธรรมะของพุทธองค์รวมสอนให้เราประพฤติดี เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขไม่เบียดเบียนกัน

เพราะเหตุเป็นอย่างไร ผลย่อมเป็นอย่างนั้น นี่เป็นมูลฐานของธรรมะอย่างง่าย

ส่วนใครที่เข้าใจมากกว่านั้นจะไปถึงขั้น นิพพาน ก็สุดแท้แต่บุคคลจะไปถึง

ไม่ต้องกล่าวอ้างคำสอนอื่นใด เพราะทั้งหลายทั้งมวลร่วมบอกให้เราทำดีละเว้นความชั่วด้วยกันทั้งนั้น

............................................................................................................


ความคิดเห็น 22    โดย jirat wen  วันที่ 2 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ