ภพ กรรมภพ ใน ปฏิจจสมุปบาท
โดย teezaboo  11 ก.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48112

เท่าที่ศึกษาเข้าใจว่า

กรรมภพ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร
ฉะนั้นจึงสับสนว่า กรรมภพ คือ อภิสังขาร หรือ?!
ถ้าเช่นนั้น ภพ ใน ปฏิจจสมุปบาทเป็น อภิสังขารหรือ?!
ขอผู้รู้ช่วยสร้างความกระจ่างในหัวข้อนี้ด้วย ขอขอบพระคุณ


ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 12 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง อภิสังขาร ซึ่งเป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ เจตนาเจตสิก ที่เป็นกรรม นั่นเอง ซึ่งสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นเจตนาในอดีตชาติ ดังนั้น อภิสังขาร จึงเป็นกุศลเจตนา คือ กุศลกรรมระดับต่างๆ และอกุศลเจตนา คือ อกุศลกรรมทั้งหมดด้วย ดังนั้น สังขาร ที่เป็นอภิสังขาร ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดวิบาก จึงมี ๓ ได้แก่

๑. ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปในกุศลขั้นกามาวจรและกุศลขั้นรูปาวจรกุศล

๒. อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปในการทำอกุศล

๓. อาเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปในกุศลขั้นอรูปาวจรกุศล
ส่วน ภพ ในปฏิจจสมุปบาท นั้น มี ๒ ความหมายคือ

กรรมภพ หมายถึง เจตนาเจตสิก (อกุศลเจตนา และ โลกียกุศลเจตนา) ในชาติปัจจุบันนี้

อุปปัตติภพ หมายถึง ผลของเจตนา (โลกียวิบาก รวมทั้งเจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป) ด้วย

ดังนั้น ความต่างระหว่างอภิสังขาร กับ กรรมภพ ก็คือ อภิสังขาร มุ่งหมายถึง เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ในอดีตชาติ ส่วน กรรมภพ มุ่งหมายถึง เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ในปัจจุบันนชาติ ครับ

... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 12 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย teezaboo  วันที่ 15 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณครับ