ปฐมสังคยานา...๒
โดย พุทธรักษา  16 ก.พ. 2552
หัวข้อหมายเลข 11278

ปฐมสังคายนา...๑

ท่านพระอานนท์ ถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เสมือนเมื่อครั้งยังไม่ปรินิพพาน เดินทางกลับไปยังกรุงสาวัตถี ในอรรถกาถา พราหมชาลสูตร กล่าวว่า ท่านพระอานนท์สั่งสอนมหาชน ให้เข้าใจธรรมีกถา ว่าด้วย ความไม่เที่ยง เป็นต้นแล้วเข้าสู่พระเชตวันวิหาร ไหว้พระคันธกุฎี ที่พระพุทธองค์เคยประทับท่านได้กระทำวัตรทุกอย่าง เหมือนในเวลาที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ทำหน้าที่ไปพลาง รำพันไปพลาง ว่า เวลานี้เป็นเวลาสรงพระพักตร์เวลานี้เป็นเวลาแสดงธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะท่านพระอานนท์ยังเป็นเสกขบุคคล เป็นผู้มีความรัก ตั้งมั่นในพระศาสดาเป็นผู้ที่มีความผูกพัน ที่เคยอุปการะกันและกันมาหลายแสนชาติ

เทวดาองค์หนึ่ง ที่สถิตอยู่ ณ ป่าใหญ่ใกล้กรุงสาวัตถีเห็นดังนั้น จึงมากล่าวเตือน ท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ หากท่านยังมุ่งแต่ปลอบใจผู้อื่น แต่ยังแสดงความอาลัยในพระตถาคตอยู่เช่นนี้ท่านจะหาทางบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความหลุดพ้นได้อย่างไร ท่านพระอานนท์ได้ฟังคำเตือนของเทวดา จึงพยายามระงับความเศร้าโศกลง และขอร้องให้ภิกษุสงฆ์ ช่วยกันปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมในพระวิหารเชตวัน จนแล้วเสร็จ

ครั้นใกล้เวลาเข้าพรรษา พระอานนท์ และพระเถระผู้ใหญ่ ก็อำลาภิกษุสงฆ์ออกเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อเตรียมการทำสังคายนาพระธรรมวินัย ส่วน พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงทราบความ ได้พระราชทานช่างฝีมือมาช่วย ในการปฏิสังขรณ์มหาวิหารใหญ่ทั้งหมด ตลอดเดือนต้นฤดูฝน พระเจ้าอชาตศัตรู รับสั่งให้สร้าง ธรรมสภาสำหรับการทำสังคายนา ณ ที่ใกล้ปากถ้ำ สัตตบรรณ แห่งภูเขาเวภาระ ทางทิศตะวันออกของกรุงราชคฤห์การสังคายนาครั้งนี้ เริ่มกระทำในวันเพ็ญ เดือน ๑๐ หลังพระศาสดาปรินิพพาน ๔ เดือน

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ คิดว่า พรุ่งนี้ จะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย แต่เรายังเป็นเสกขบุคคล การจะไปประชุมร่วมกับพระเถระผู้เป็นอเสกขะ เป็นสิ่งไม่ควรเลย จึงบังเกิดความอุตสาหะ เจริญกายคตาสติ พากเพียรเป็นอันมากตลอดราตรีนั้น จงกรมอยู่ จนล่วงมัชฌิมฉิมยามแห่งราตรี ท่านดำริว่า เราอาจจะทำความพากเพียรมากเกินไป จึงเข้าไปสู่วิหาร ด้วยประสงค์จะพักผ่อน

ขณะที่กำลังเอนกายลง ศรีษะยังไม่ทันถึงหมอน เท้าทั้งสองพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา ๔ ในคืนก่อนวันประชุมสังคายนานั้นเอง ความเป็นพระอรหันต์ของท่านพระอานนท์เว้นจากอิริยาบถทั้ง ๔

ครั้นถึงเวลากระทำสังคายนา

พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๔๙๙ รูป ได้พร้อมเพรียงกันแล้ว ท่านพระอานนท์คิดว่า บัดนี้ เป็นเวลาอันสมควรที่จะเข้าสู่ที่ประชุม เมื่อจะแสดงอานุภาพ ท่านพระอานนท์ผุดจากพื้นดิน แสดงตน ณ อาสนะ ในขณะนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระ เห็นอาการของท่านพระอานนท์ดำริว่า หากพระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์ก็จะพึงประทานสาธุการ แก่ท่านพระอานนท์แน่แท้บัดนี้ เราจะให้สาธุการ ซึ่งพระศาสดาควรประทานแก่ท่านพระอานนท์ ดังนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปเถระ จึงกล่าวสาธุการถึง ๓ ครั้ง

การสังคายนาพระธรรมวินัย สังคายนา คือ การรวบรวมพระธรรมวินัย อันเป็นคำสอน ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นแบบแผน เพื่อให้ทรงจำไว้ เป็นหลักของพระศาสนา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การกระทำสังคายนา เริ่มมีมาตั้งแต่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระสงฆ์ ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้ เพื่อให้พระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ต่อไป เพื่อประโยชน์สุขแก่สัตว์โลกทั้งหลาย

พระอรหันตสาวกทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน ได้มีการประชุมกัน สังคายนาพระธรรมวินัยรวบรวมพระพุทธพจน์ ซึ่งมี ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า "พระไตรปิฎก" ได้แก่

พระวินัยปิฎก รวบรวมพระวินัย และ พระพุทธบัญญัติอันเป็นข้อปฏิบัติของภิกษุ และ ภิกษุณีมี ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระสุตตันตปิฎก รวบรวมพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา ที่ตรัสแสดงแก่บุคคลหรือปรารภเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในแต่ละเรื่อง แต่ละสถานที่มี ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระอภิธรรมปิฎก รวบรวมพระอภิธรรม คือ หลักธรรม ที่เป็นสภาวธรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่มี ๔๒๐๐๐ พระธรรมขันธ์
การประชุม เริ่มจากการตรวจสอบ พระพุทธพจน์ คือ คำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นหมู่วางลงเป็นแบบแผน ว่านี้ พระธรรม นี้พระวินัยนี้ปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ ปัจฉิมพจน์นี้ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก นี้ ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย เป็นต้น
ท่านพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน และเป็นผู้ตั้งคำถาม ท่านพระอุบาลีเถระ เป็นผู้ตอบคำถามด้านพระวินัย ท่านพระอานนท์ เป็นผู้ตอบคำถามด้านพระธรรม

ในการจบการเรียบเรียงพระพุทธพจน์ มหาปฐพีหวั่นไหวเสมือนหนึ่งเกิดความปราโมทย์ให้สาธุการอยู่ว่า ท่านพระมหากัสสปเถระ ทำพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สามารถดำรงอยู่เป็นไป ตราบเท่า ๕๐๐๐ พระวัสสา
การสังคายนาครั้งนี้ บรรดาภิกษุสงฆ์ที่เข้าประชุม ๕๐๐ รูปล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งสิ้นใช้เวลา ๗ เดือน จึงแล้วเสร็จ พระเถระทั้ง ๕๐๐ รูป ผู้มีอาสวะสิ้นแล้วเหล่านั้น ครั้นได้ทำสังคายนาพระธรรม จนเสร็จสิ้นแล้ว และยังพระสัทธรรม ให้รุ่งเรืองในที่ทั้งปวงแล้วดำรงอยู่ถึงที่สุดแห่งชีวิต แล้วต่างก็ปรินิพพาน เหมือนประทีปที่หมดเชื้อ มอดดับไป ฉะนั้น

ข้อความบางตอนจากหนังสือ "พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรีบยเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย "คณะสหายธรรม"



ขออนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 17 ก.พ. 2552

สาธุ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 78

พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความรักตั้งมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะความเป็นผู้รู้อมตรสซึ่งเป็นที่รวมพระพุทธคุณ และยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งเป็นผู้มีจิตอ่อนโยนที่เกิดด้วยเคยอุปการะกันและกันมาหลายแสนชาติ.

เทวดาองค์หนึ่ง ได้ทำให้พระอานนท์นั้นสลดใจด้วยคำพูดว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ท่านมัวมารำพันอยู่อย่างนี้ จักปลอบโยนคนอื่นๆ ได้อย่างไร. พระอานนท์สลดใจด้วยคำพูดของเทวดานั้น

อ่านต่อได้ที่

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 78


ความคิดเห็น 2    โดย ups  วันที่ 17 ก.พ. 2552

สาธุ สาธุ สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย hadezz  วันที่ 18 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย pamali  วันที่ 21 มิ.ย. 2553

สาธุ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ