ภิกษุฉันนมถั่วเหลืองและ นมที่ได้มาจากโค นอกเวลา ต้องอาบัติหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ภิกษุที่ฉันอาหาร ในเวลาวิกาล คือ เลยเที่ยงจนถึงอรุณขึ้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ครับ สำหรับนมถั่วเหลือง หรือ นมโค จัดเป็นอาหารครับ ไม่ใช่น้ำปานะ พระพุทธเจ้าอนุญาตฉันน้ำปานะ หลังเวลาเที่ยง รวมทั้งเภสัชได้เมื่อป่วยครับ ส่วนนมชนิดต่างๆ เป็นอาหาร ไม่ใช่น้ำปานะ ฉันก่อนเที่ยงได้ แต่เลยเที่ยงแล้ว ฉันไม่ได้ครับ เป็นอาบัติปาจิตตีย์
ขออนุโมทนาครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ.....
พระฉันนม โอวัลตินพวกนี้ ผิดไหมครับ
[เล่มที่ 4]
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒- หน้าที่ 528
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ฉันอาหารในเวลาวิกาลเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้ :-
พระบัญญัติ
๘๑.๗. อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉัน ก็ดี ในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงจนอรุณขึ้น) เป็นปาจิตตีย์.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระุภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ภิกษุฉันนมที่ผลิตมาจากถั่วเหลืองและนมโคยามเวลาวิกาล คือ หลังเที่ยง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าฉันสิ่งเหล่านี้ในเวลา คือ ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง ไม่เป็นอาบัติ พระวินัยเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่ในเรื่องของน้ำปานะ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาไม่ละเอียด ก็จะเข้าใจ (ผิด) ได้ว่า อะไรก็ตามที่เป็นน้ำๆ แล้ว ก็เป็นน้ำปานะ ทั้งหมด อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะจะต้องเป็นน้ำปานะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เอื้อเฟื้อ หรือไม่ประพฤติตามพระวินัยแล้ว ย่อมเป็นอาบัติ มีโทษ ทั้งนั้น ถ้าจะให้เบาใจที่สุดสำหรับเพศบรรพชิตและผู้รักษาศีลอุโบสถ หลังเที่ยงไปแล้ว ดื่มน้ำเปล่า ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลใจ ไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณมากๆ ครับที่ให้ความรู้ครับ
เคยเจอข้อความในหนังสือที่ถอดธรรมเทศนาของหลวงพ่อพระราชพรหมยานท่านเทศน์ไว้ตอนที่ผู้ปฏิบัติธรรมถามเรื่องบางวัดบอกดื่มนมไม่ได้ แต่บางวัดบอกดื่มได้แล้ว ท่านตอบว่า
"...นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ดื่มได้ และก็สงเคราะห์เป็นนมข้น นมสด นมใสได้ ในหลักมหาประเทศ..." และมีคำถามว่า "นมถั่วเหลืองได้ไหมคะ..." นมถั่วเหลืองได้ ถ้าเขาคั้นแล้ว เขากรองแล้วใช้ได้..."
แต่เมื่ออ่านความคิดเห็นข้างต้นทั้งหมดยิ่งแย้งกัน ดิฉันอาจจะตีความหรือเข้าใจผิดเอง จึงอยากทราบว่า "หลักมหาประเทศ" หมายความว่าอย่างไรคะ
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
จากข้อความที่ว่า "...นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ดื่มได้ และก็สงเคราะห์เป็นนมข้น นมสด นมใสได้ ในหลักมหาประเทศ..."
สำหรับสิ่งที่ทานได้หลังเที่ยงของพรภิกษุคือ น้ำปานะ ซึ่งไม่ใช่นมประเภทต่างๆ รวมทั้งเภสัช คือ ยา ประกอบด้วย เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ๕ อย่างนี้ แต่ที่สำคัญ เมื่อคราวป่วยไม่สบายนะครับ ไม่ใช่จะฉันกันได้ แต่เภสัช ๕ นี้ ไม่รวม นมสด และนมส้ม ครับ ต้องแยกกันไม่อยู่ในเภสัช ๕ จะมาอนุโลมไม่ได้ครับไม่งั้นก็ทานนมกันได้หลังเที่ยง ซึ่งไม่ใช่ครับ
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 217
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตเภสัช ๕ ชนิด คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
จากคำกล่าวที่ว่า
และมีคำถามว่า "นมถั่วเหลืองได้ไหมคะ..."
นมถั่วเหลืองได้ ถ้าเขาคั้นแล้ว เขากรองแล้วใช้ได้..."
ตามที่กล่าวแล้วครับ หลังเที่ยงพระภิกษุฉันน้ำปานะได้ และเภสัช ๕ ได้ถ้าป่วย ซึ่งนมสด ทีเ่ป็นนมโค และนมส้มทีเ่กิดจากนมโค ไม่อยู่ในส่วนของน้ำปานะและเภสัช ๕ ครับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นมถั่วเหลืองก็ไม่ใช่นมโคด้วยที่จะทำให้เกิด เนยข้น และเนยใสทีเ่กิดจากนมโค ครับ นมถั่วเหลือง จึงไม่ใช่ทั้งน้ำปานะ และเภสัช ๕ ฉันไม่ไ่ด้ครับถ้าเลยเที่ยงแล้ว ต้องอาบัติ เพราะฉะนั้น หลักมหาปเทส ๔ ต้องสอดคล้อง ไม่ขัดแย้งกับข้อบัญญัติสิกขาบทเดิมด้วยครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณมากค่ะ
ขออนุญาตนำความเห็นของท่าน paderm ข้างต้น ไปสื่อสารให้ญาติธรรมได้รับทราบ และทบทวนร่วมกันนะคะ
ความไม่ละเอียดในการศึกษาและการตีความทำให้เข้าใจไปตามเหตุผลที่ยกมา แล้วเราก็ทำไปแล้วค่ะ เรื่องนี้ชาวพุทธไม่ได้เห็นเป็นอย่างเดียวกัน และยังคงถกกันไม่จบ ความเชื่อและความเข้าใจใดๆ ที่ถ่ายทอดกันมา กำลังส่งต่อไปถึงศาสนทายาทของเราหากมีช่องทางใดที่จะทำให้ศาสนทายาทได้เข้าใกล้และได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกตรง ขอความกรุณาครูบาอาจารย์ หรือท่านผู้รู้โปรดเผยแผ่ธรรมะนั้นให้แพร่หลายด้วยนะคะ
ขออนุโมทนาครับ