พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ปฏิบัติหรือเปล่า?
โดย เมตตา  4 ม.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47222

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ลุมพินี,เนปาล วันศุกร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 84

อย่าง โดยวิภาคโดยนัยเป็นต้นว่า ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุให้ เกิดทุกข์ ความไม่รู้ในการดับทุกข์ ความไม่รู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านกล่าวว่า โมหะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้หลง หรือหลงไปเอง หรือ เป็นเพียงความหลงเท่านั้น. พึงเห็นว่า โมหะนั้นมีความที่จิตมืดเป็นลักษณะ หรือมีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีความไม่แทงตลอดเป็นรส หรือมีความปกปิด สภาพอารมณ์เป็นรส มีการปฏิบัติหลงลืมเป็นอาการปรากฏ หรือปรากฏมืดมัว เป็นอาการปรากฏ มีการไม่ใส่ใจเป็นปทัฏฐาน เป็นรากแห่งอกุศลทั้งหมด. บัดนี้ พึงเห็นความแห่งบทว่า ปชหถ ดังนี้

คนหลง ย่อมไม่รู้อรรถ คนหลง ย่อมไม่รู้ธรรม โมหะ ย่อมครอบงำคน มืดบอดตลอดกาล โมหะ ให้เกิดความ พินาศ ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นส่วนเบื้องต้นของการเข้าถึงอกุศลกรรม

สัตวโลกถูกโมหะรัดรึงไว้ ปรากฏ ดุจสิ่งน่าพอใจ


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 184-185

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. ความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวัตถุศาสน์ ที่ทรงพรรณนาไว้ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เป็นผู้ทรงสุตตะ สั่งสมสุตตะ และว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ มีสุตะมาก คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น ชื่อว่าความเป็นพหูสูต. ความเป็นพหูสูตนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอกุศลและประสบกุศลและเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะตามลำดับ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้สดับแล้ว ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละสิ่งมีโทษ เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้.

อีกพระดำรัสหนึ่งตรัสว่า

ย่อมพิจารณาความของธรรมทั้งหลาย ที่ทรงจำไว้ ธรรมทั้งหลายย่อมทนการเพ่งพินิจของเธอ ผู้พิจารณาความอยู่ เมื่อธรรมทนการเพ่งพินิจอยู่ ฉันทะย่อมเกิด เกิดฉันทะแล้ว ก็อุตสาหะ เมื่ออุตสาหะ ดีใช้ดุลยพินิจ เมื่อใช้ดุลยพินิจ ก็ตั้งความเพียร เมื่อตั้งความเพียร ย่อมทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะ ด้วยกาย [นามกาย] และย่อมเห็นทะลุปรุโปร่ง ด้วยปัญญา ดังนี้.


ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ปฏิบัติหรือเปล่า?

ท่านภันเต: ไม่

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง พระพุทธเจ้าตรัสให้เข้าใจสิ่งที่มี ให้รู้ความจริงของสิ่งที่มีตามลำดับ รู้จักพระพุทธเจ้าบ้างหรือยัง?

ท่านภันเต: ครับ

ท่านอาจารย์: อีกมาก นี่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้นที่จะรู้จักพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ เพราะอะไร?

ท่านภันเต: -

ท่านอาจารย์: เพราะรู้ความจริง ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เปลี่ยนแปลงธรรมได้ไหม?

ท่านภันเต: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ธรรม เป็นสัจจธรรม เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า?

ท่านภันเต: เป็นธรรมครับ

ท่านอาจารย์: เห็น เป็นสัจจธรรมหรือเปล่า?

ท่านภันเต: เป็นสัจจธรรม

ท่านอาจารย์: เห็น เกิดดับหรือเปล่า?

ท่านภันเต: เกิดดับครับ

ท่านอาจารย์: จริงไหม?

ท่านภันเต: จริงครับ

ท่านอาจารย์: รู้ความจริงขณะที่เกิดดับได้ไหม?

ท่านภันเต: รู้ได้

ท่านอาจารย์: แต่ต้องมีความเข้าใจก่อนตามลำดับ

ฟังแค่นี้สามารถที่จะรู้ว่า เห็นเกิดแล้วดับ เดี๋ยวนี้ได้ไหม?

ท่านภันเต: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: นั่นคือ สัจจบารมี ต้องตรงความจริงตลอดไป ถ้ารู้ว่าอะไรมีจริงสามารถรู้ได้เพราะเข้าใจขึ้น ก็จะฟังทุกคำเพื่อเข้าใจ เพื่อละความไม่รู้

ท่านภันเต: ความเข้าใจจะไม่เกิดขึ้นเองโดยไม่ฟัง

ท่านอาจารย์: ไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้มีไหม?

ท่านภันเต: มีจริง

ท่านอาจารย์: ก่อนฟังเข้าใจหรือเปล่า?

ท่านภันเต: ไม่เข้าใจ

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่า?

ท่านภันเต: เข้าใจครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มีจริง ยังไม่ได้ฟังไม่รู้ เป็นธรรมหรือเปล่า?

ท่านภันเต: นั่นก็จริงครับ

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วเข้าใจเป็นความเข้าใจเป็น ปัญญา หรือเปล่า?

ท่านภันเต: เป็น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความไม่เข้าใจเป็นธรรม ความเข้าใจเป็นธรรมหรือเปล่า?

ท่านภันเต: เป็นครับ

ท่านอาจารย์: ความไม่เข้าใจ กับความเข้าใจเป็นธรรมอย่างเดียวกันหรือเปล่า?

ท่านภันเต: ต่างกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความไม่เข้าใจเป็นธรรมหรือเปล่า?

ท่านภันเต: เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

ท่านอาจารย์: ความไม่เข้าใจเป็นธรรม ความเข้าใจเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง เมื่อไหร่ก็ตาม เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

ความไม่เข้าใจเป็นอวิชชา ความเข้าใจเป็นวิชชา เป็นใคร?

ท่านภันเต: ไม่ใช่ใคร

ท่านอาจารย์: เป็นธรรมเท่านั้น เริ่มรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ทรงแสดงความจริงของธรรมเป็นอริยสัจจธรรม เดี๋ยวนี้มีอริยสัจจธรรมหรือยัง?

ท่านภันเต: ยัง

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง จนกว่าจะรู้ความจริงที่เป็นตรัสรู้ หมดกิเลส อีกนานไหม?

ท่านภันเต: เมื่อมีปัจจัยก็เกิดได้ แต่โดยรวมแล้วต้องใช้เวลา

ท่านอาจารย์: อีกกี่ปี?

คุณสุขิน: มี ๒ ประเด็นว่า ท่านภันเตกล่าวว่าเราไม่รู้ว่าใครสะสมมาเท่าไหร่ อย่างที่ ๒ ผมเลยถามว่า โดยทั่วไปจากที่ไม่รู้ธรรม แล้วมาเข้าใจจนถึงระดับเข้าใจอริยสัจจ ๔ ใช้เวลานานแค่ไหน แกบอกว่า ใช้เวลานานมาก แกเข้าใจว่าพระพุทธองค์ก็ใช้เวลานานมาก

ท่านอาจารย์: อดทนไหม?

ท่านภันเต: ครับ

ท่านอาจารย์: เป็นอธิษฐานบารมี

ท่านภันเต: ครับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่มีสัจจบารมีจะรู้ความจริงได้ไหม?

ท่านภันเต: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่มีวิริยบารมี รู้ได้ไหม?

ท่านภันเต: ไม่ได้ครับ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

อดทนที่จะละ ... ความไม่รู้

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

พระนามว่า ตถาคต เพราะเหตุใดบ้าง

จริงใจในการเผยแพร่พระธรรม

[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒-หน้า 273
ชื่อว่า สัจจบารมี สัจจบารมีเพราะปฏิบัติตามสมควรแก่ปฏิญญา ท่านจงสมาทานสัจจบารมีนี้ไว้ให้มั่นก่อน มีวาจาไม่เป็นสองในสัจจบารมี นั้น ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.

ธรรมดาดาวประกายพรึก เป็นดังตาชั่งของโลก พร้อมทั้งเทวโลก ไม่ว่าฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ไม่โคจรออกนอกวิถีโคจรเลย ฉันใด. ถึงตัวท่าน ก็อย่าเดินออกนอกวิถีทางในสัจจะ ทั้งหลาย ฉันนั้น เหมือนกัน ถึงฝั่งแห่งสัจจบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.


[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 611

อนึ่ง พึงพิจารณาความถึงพร้อมแห่งสัจจบารมี โดยนัยมีอาทิว่า เพราะเว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้. เพราะไม่มีการปฏิบัติอัน สมควรแก่ปฏิญญา. เพราะรวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะก้าวล่วงสัจจธรรม. เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้. เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควร ยึดถือต่อไปมาพูด. เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมทั้งปวง.


[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 306

ข้อความบางตอนจาก ...

มหาปรินิพพานสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่าดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า แม้ สังคีตอันเป็นทิพย์ ย่อมเป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต

ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 4 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ