ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๓๗
~ ในข้อของปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต) ถ้าขณะนั้นเกิดเมตตา ย่อมไม่สามารถที่จะฆ่าผู้อื่นได้ หรือแม้แต่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม ถ้าเกิดเมตตาขึ้นทันที ในขณะนั้น ย่อมงดเว้นการที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ถ้าขณะนั้นเมตตาไม่เกิด ก็ย่อมเป็นไปตามกำลังของกิเลส
~ แม้ในข้อของอทินนาทาน คือ การถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านเป็นผู้มีเมตตาในบุคคลผู้เป็นเจ้าของ รู้ว่าเขาจะต้องเสียใจ เสียดายในการที่จะสูญเสียวัตถุ ซึ่งเป็นประโยชน์ของเขาไป ถ้าท่านมีจิตเมตตาในขณะนั้น ท่านย่อมไม่สามารถที่จะถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
~ กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม ก็เช่นเดียวกัน ย่อมทำความเดือดร้อนให้กับวงศาคณาญาติของผู้ที่ท่านกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นท่านมีเมตตาคิดถึงบุคคลอื่น ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ท่านก็จะละการล่วงทุจริตกรรมข้อนี้ได้
~ แม้ข้อของมุสาวาท (การพูดเท็จ) ก็เช่นเดียวกัน การที่ท่านพูดไม่จริง เป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่ให้คนอื่นได้รู้เรื่องจริง ไม่ให้คนอื่นได้รู้ความจริง ความโกรธ ความประทุษร้าย ไม่เมตตาต่อผู้อื่น จึงกล่าวมุสาได้ (แต่ถ้าเมตตาเกิด ก็ย่อมไม่กระทำอย่างนั้นแน่นอน)
~ เวลาที่ดื่มสุรา ขาดสติ หลงลืมสติอย่างมาก และผู้ที่ดื่มสุราก็เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อมีสุราเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยให้กิเลสเหล่านั้นเกิดมีกำลังกล้าขึ้น ย่อมจะสามารถทำทุจริตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนได้
~ ถึงอย่างไรก็ต้องตาย ก็ทำความดีให้มากที่สุด ไม่ดีกว่าหรือ? เข้าใจพระธรรมให้มากที่สุด ไม่ดีกว่าหรือ? จะได้ติดตามไปได้ จะทิ้งโอกาส (แห่งการสะสมความดีและฟังพระธรรม) ได้อย่างไร?
~ น่ากลัว (อย่างยิ่งสำหรับ) ความไม่ดี และควรกลัวด้วย ความไม่ดี ไม่ได้นำผลที่ดีมาให้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อไม่กลัวความดี เพราะความดี ไม่นำสิ่งที่เป็นโทษภัยมาให้เลย สิ่งที่ควรกลัว ไม่ควรเข้าใกล้ ไม่ควรที่จะสะสม คือ ความชั่วทั้งหลาย อกุศลทั้งหลาย แล้วคิดอย่างนี้หรือเปล่าระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
~ พระภิกษุ ท่านบวชแล้ว เห็นภัยแล้ว ต้องประพฤติอย่างไร เพราะก้อนข้าวที่ได้จากชาวบ้านเพราะเขาเห็นความดี เมื่อเขาเห็นความดีแล้ว แต่ไม่มีความดีที่จะไปให้เขา (จะเป็นอย่างไร สมควรหรือไม่?) ลองคิดดู ถ้าระลึกได้ว่า แม้แต่ทุกคำข้าว มาจากชาวบ้าน ท่านต้องศึกษาธรรม นั่นแหละ คือ ความดี ที่จะตอบแทนก้อนข้าว (ของชาวบ้าน)
~ ปัญญาไม่ทำให้เกิดโทษภัยใดๆ เลย
~ ตราบใดที่ยังมีการศึกษา พระธรรมวินัย ก็ยังดำรงอยู่ได้
~ ถ้าเป็นความเห็นแก่ตัวหรือเป็นเรา ไม่มีทางที่จะเห็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ได้ว่า เมื่อมีความเข้าใจ (พระธรรมวินัย) แล้ว คิดถึงคนอื่นที่เขาไม่เข้าใจบ้างไหม และโดยเฉพาะขณะนี้ประเทศชาติบ้านเมือง เราก็รู้อยู่ว่า พระพุทธศาสนาเวลานี้เป็นอย่างไร เสื่อมโทรมขนาดไหน ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน ก็คือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็อยู่ที่ทั้งความเข้าใจธรรม และเห็นประโยชน์ แล้วก็กุศลทั้งหลายที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรมายับยั้งได้เลย
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรกล้าอย่างยิ่งที่จะเปิดเผย ให้ได้เข้าใจถูกต้อง
~ การกระทำทั้งหมดที่จะให้คนได้เข้าใจความถูกต้อง ไม่ผิด ควรทำ
ถ้าใคร ไม่ทำ ใจดำหรือเปล่า?
~ พุทธบริษัทด้วยกัน ก็ช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา
~ คำใดที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำ เป็นประโยชน์
~ เมื่อมีความเข้าใจธรรมแล้ว มีหรือที่จะไม่ขัดเกลากิเลส?
~ ชาวพุทธคือผู้รู้ ถ้าไม่รู้ จะเป็นชาวพุทธได้หรือ?
~ ฟังพระธรรมเพื่อค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีเรา
~ ที่ใดมีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ
~ ถ้าเป็นผู้ตรง คือ มากไปด้วยความไม่รู้ อะไรๆ ก็ไม่รู้ จริงหรือไม่?
~ เบิกบานที่มีโอกาสได้เข้าใจความจริง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์ ถ้าได้ฟังอีกก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
~ ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้ว่า หนทางใด ถูก หนทางใด ผิด
~ ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกไม่เกิดขึ้น แล้วก็ยังเป็นการเผยแพร่ในข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ย่อมจะเป็นการทำลายข้อปฏิบัติที่ถูก ซึ่งก็เป็นโทษมากสำหรับตนเอง กับทั้งผู้อื่นด้วย
~ การศึกษาธรรมต้องเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น แต่เพื่อที่จะให้พิจารณาจนกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การศึกษาธรรมจะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ใช่ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้
~ ถ้าได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดขึ้น เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ยิ่งขึ้น
~ มีความสำคัญมาก ที่ว่า เมื่อศึกษาแล้ว ต้องพิจารณาจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเข้าใจธรรมผิด เป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นโทษ เป็นทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมแล้วต้องพิจารณา เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติให้ถูก ต้องเข้าใจว่าที่ศึกษานี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติถูก
~ การที่กุศลจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณจริงของกุศลธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุศล จึงไม่ว่างเว้นจากโอกาสที่จะได้สะสมความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของความดีประเภทใดก็ตาม
~ กว่าเราจะขัดเกลากิเลสได้ กิเลสซึ่งมีมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่า กุศลทั้งหลาย เป็นประโยชน์ ทำให้เราไม่ล่วงศีล
~ มีเมตตาได้ไหม มีความเป็นเพื่อน แม้แต่คิดก็คิดด้วยเมตตา ไม่ได้คิดที่จะเบียดเบียน
~ จิต ที่สะสมมา มากไปด้วยอกุศลเพียงใด เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเป็นกุศลได้บ่อยขึ้น เพิ่มขึ้น ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์
~ เรา ก็มีกาย มีวาจา มีใจ (จิต) เพราะฉะนั้น ใจเป็นอย่างไร ก็เป็นทางที่จะทำให้วาจา และกายเป็นอย่างนั้น
~ สำคัญที่จิต จิตขณะใดเป็นกุศล กายก็ต้องเป็นกุศล วาจาก็ต้องเป็นกุศล
~ กล่าวถึงขณะกล่าวที่ธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ (ปัญญา) เป็นกุศล แล้วก็ยังแสดงออกด้วยวาจาที่จะให้ความเข้าใจนั้นเป็นความถูกต้องสำหรับคนที่ได้ฟัง ด้วย
~ เราก็รู้ว่า ใจ (จิต) ที่ยังไม่ได้เอ่ยออกมาทางวาจา แล้วใจที่เป็นกุศลนั้นก็ต้องเป็นกุศล แต่พอพูดวาจานั้นออกมา ก็พูดด้วยจิตที่เป็นกุศล ถ้ากระทำด้วยจิตที่เป็นกุศล การกระทำนั้นก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศล
~ แม้ว่าจะกล่าวถึงเหตุที่นำความสุขมาให้ ก็ไม่ใช่ว่าให้มีความหวังที่จะให้เรามีความสุขจากเหตุนั้นแต่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ว่า นั่นเป็นเหตุและเป็นผล ธรรมอย่างนี้นำมาซึ่งผลอย่างนั้น หรือผลอย่างนี้ที่เป็นธรรมที่เป็นผล ก็เกิดจากเหตุอย่างนั้น ไม่มีเรา
~ แสดงความจริงทั้งหมด ไม่ว่าจิตขณะนั้นจะเป็นอกุศล ก็ขอให้รู้ในความไม่ใช่เรา
~ ความดี แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่ทำ หรือ อกุศล แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่เว้น ขณะนั้นก็พอกพูนอกุศล
~ ถ้าพูดถึงกุศลที่เว้นทุจริต ให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นการขัดเกลากิเลส โดยการเว้นทุจริตสละอกุศลที่มีอยู่ในจิต โดยการที่เป็นกุศล
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คือ ความจริง ต้องเป็นความจริง กุศลนำมา ซึ่งอะไรบ้างซึ่งเป็นผลที่ดีตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่ว่าให้หวังที่จะได้สิ่งที่ดี ด้วยความเป็นเรา
~ ทำอะไรอะไรก็ตาม ที่เป็นกุศล โดยไม่หวัง เพราะรู้ว่า เป็นการขัดเกลาอกุศล
~ เข้าใจแล้วก็เข้าใจอีก เข้าใจแล้วก็เข้าใจอีก ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ไม่มีใคร ไปทำอะไรเลย
~ พระธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัญญารู้ว่าขณะนั้นแต่ก่อนนี้ เคยเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะทำดีเลย แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า ถ้าไม่ทำดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ ก็เพราะได้เข้าใจพระวินัย และเข้าใจพระธรรมด้วย ก็ทำให้สามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นไม่ให้ผิดยิ่งไปกว่านี้
~ ต้องไม่ลืมว่า คำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่พูด เราปกปิดไว้ ไม่กล่าวถึง ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ขณะนั้น เราก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์อะไรจากพระธรรม, คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรกล้าอย่างยิ่งที่จะเปิดเผย ให้ได้เข้าใจถูกต้อง.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๓๖
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ