คนดี
โดย วิริยะ  14 ธ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 20162

เรียนถาม

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม หรือศึกษาแต่เพียงเล็กน้อย บางคนเป็นคนดี หรือเป็นผู้ที่มีกุศลจิตมากกว่าผู้ศึกษาพระธรรมเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 14 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตว์โลกสะสมอุปนิสัยแตกต่างกันไป บางคนก็มีทานุปนิสัย คือมักชอบให้ทาน บางคนมีศีลลุปนิสัย อุปนิสัยที่มีกาย วาจาที่ดี และบางคนก็มีเมตตา มีจิตใจที่คิดถึงผู้อื่น นี่พูดถึงอุปนิสัยฝ่ายดีที่สะสมในแต่ละอย่างครับ ส่วนอุปนิสัยที่ไม่ดี บางท่านก็มักโกรธ บางท่านก็มากไปด้วยความติดข้อง บางท่านก็มักอิจฉา ริษยา เป็นต้น จะเห็นนะครับว่า แต่ละคน แต่ละท่านก็สะสมอุปนิสัยมาแตกต่างกัน เพราะเหตุใด เพราะมีเหตุปัจจัยให้พร้อม สภาพธรรมนั้นแต่ละอย่างที่เป็นฝ่ายดีและไม่ดีเกิดขึ้นแตกต่างกันไปครับ แต่ที่เสมอกัน คือเมื่อเป็นปุถุชนแล้ว ยังมีอนุสัยกิเลส ที่ยังไม่ได้ดับด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้น ที่เราเห็นเพียงภายนอกว่าคนที่ไม่ศึกษาธรรมเป็นคนดี เช่น ไม่มักโกรธ มีเมตตา แต่คนที่ศึกษาธรรมกลับมีอกุศลที่แรง มีกำลังมากกว่าคนที่ไม่ศึกษาธรรมเสียอีก เช่น มักโกรธ พยาบาท อิจฉา ริษยา เป็นต้น แน่นอนครับว่า หากเรามองเพียงผิวเผิน ไม่มองลึกเข้าไปที่ใจด้วยปัญญา ก็ย่อมเห็นความแตกต่างเพียงสภาพธรรม บางสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดมากกว่า ซึ่งควรเข้าใจว่าเพราะความเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาอย่างนั้น เพราะกิเลสเกิดขึ้นบ่อย จึงทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยไม่ดีบางประการมากครับ เพราะมีกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับนั่นเอง แต่ต้องไม่ลืมว่า แม้สะสมอุปนิสัยที่ไม่ดีมามาก แต่ผู้ที่ศึกษาพระธรรม ก็สะสมเหตุที่ดีคือการฟังพระธรรม ทำให้สะสมสิ่งที่ดีคือสภาพธรรมฝ่ายดี คือกุศลธรรมประการต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดอันเป็นธรรมที่จะดับความไม่ดีต่างๆ ได้ คือปัญญานั่นเองครับ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมไม่ได้สะสม ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็ไม่สนใจและไม่เห็นโทษของกิเลสจริงๆ อาจจะสำคัญว่าดีแล้ว และก็ไม่ได้เห็นโทษของกิเลส ก็กระทำสิ่งที่ดีประการต่างๆ ทั่วๆ ไป แต่ไม่เป็นเหตุปัจจัยให้ดับกิเลสได้ เพราะจะดับกิเลสได้ด้วยปัญญาเท่านั้น

ในพระสูตร อนังคณสูตร ที่พระพุทธองค์แสดง ว่า ผู้ที่ไม่เห็นกิเลสตามความเป็นจริง ชื่อว่าเป็นบุคคลเลวทราม ส่วนผู้ที่เห็นกิเลสตามความเป็นจริง ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ซึ่งอรรถกถาก็อธิบายว่ากิเลสเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่เห็นโทษของกิเลส (ไม่ศึกษาธรรม) ก็ไม่รู้และไม่เห็นโทษของกิเลส จึงไม่พยายามที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่อบรมปัญญาก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ เมื่อถึงเวลาก็ทำให้เป็นผู้ที่มีกิเลสมากขึ้นและมีกำลัง เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่ฝุ่นเกาะ เจ้าของก็ไม่ดูแลรักษา คือไม่เช็ด ต่อมา ฝุ่นก็เกาะมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเองครับ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม แม้มีกิเลสก็ไม่เห็นโทษและไม่พยายามที่จะอบรมปัญญา ต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ทำให้กิเลสมีกำลัง ทำให้ทำอกุศลกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ต่างไปจากผู้ที่ศึกษาเลย และอาจมีกำลังมากกว่าด้วย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมครับ เพราะต้องไม่ลืมว่ายังเป็นปุถุชนเช่นกันครับ กิเลสยังอยู่เต็ม ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง คือเมื่อกิเลสเกิดขึ้น เช่น ความโกรธที่เกิดขึ้น ก็รู้ว่าเป็นธรรมและรู้ว่าเป็นโทษ จึงตั้งใจศึกษาพระธรรมเพิ่มขึ้นต่อไป ด้วยการอบรมปัญญา วันหนึ่งข้างหน้าก็สามารถดับกิเลสได้ครับ เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่ฝุ่นเกาะ (กิเลสเกาะ) แต่เจ้าของเช็ดถูบ่อยๆ (อบรมปัญญา) ก็ทำให้ในอนาคต ภาชนะสำริดก็สะอาดหมดจดได้ครับ นี่คือความแตกต่างกันของผู้ที่ศึกษาและไม่ได้ศึกษาธรรม แม้ว่าผู้ที่ศึกษาธรรมจะมีอุปนิสัยไม่ดีมากมายเท่าไหร่ ก็สามารถดับสิ่งที่ไม่ดี คือกิเลสต่างๆ ในอนาคต แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่มีทางเลยครับที่จะดับสิ่งที่ไม่ดี มีแต่พอกพูนเพิ่มขึ้น จนต่อไปก็ทำให้ทำอกุศลกรรมต่างๆ และมีอุปนิสัยไม่ดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนมีกำลัง แต่ก็ไม่รู้หนทางที่จะละสิ่งเหล่านั้น เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 14 ธ.ค. 2554

ดังนั้น บางคนศึกษาธรรม แต่มีอุปนิสัยไม่ดีมากกว่าคนที่ศึกษา ก็ตามที่กล่าวแล้วครับ สะสมสิ่งที่ไม่ดีมามาก เกิดบ่อยๆ สำหรับคนที่ศึกษาธรรมมา สะสมมาในอดีตมากมาย ซึ่งปัญญาขั้นการฟัง ในการศึกษาธรรมยังทำอะไรกิเลส ละอุปนิสัยไม่ดีไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม อันเป็นหนทางละกิเลสครับ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม บางคนมีอุปนิสัยดีเพราะสะสมสิ่งที่ดีที่เป็นกุศลธรรรม ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น การให้ทาน การมีเมตตา ก็สะสมเป็นอุปนิสัยได้ ทำให้เกิดกุศลภายนอกที่ดูดีกว่าบางคนที่ศึกษาธรรม แต่ต้องไม่ลืมว่ามีสภาพธรรมที่สะสมมาแตกต่างกันด้วย คือปัญญานั่นเองครับ

หากได้อ่านประวัติของพระอริยสาวกบางท่าน เช่น โกสิยเศรษฐี ก่อนเป็นพระโสดาบัน ตระหนี่ ขี้เหนียวมาก แม้จะให้แก่ภรรยา ก็ยังไม่ให้ ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลอื่น ตัวเองยังไม่ยอมบริโภค แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมก็ได้บรรลุธรรม อักโกสกพราหมณ์ ก็โกรธมาก ด่าว่าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมก็บวช บรรลุธรรมครับ จะเห็นนะครับว่าเมื่อยังมีกิเลส ก็มีอุปนิสัยไม่ดีได้ เพราะปัญญาขั้นการฟังเพียงเล็กน้อยทำอะไรกิเลสไม่ได้ครับ แต่สิ่งที่แตกต่างคือปัญญาที่สะสมมา ซึ่งเป็นคนละส่วนกับอกุศล ก็ทำให้บรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวกได้ครับ แต่ที่มีอุปนิสัยไม่ดีก็เพราะปัญญายังไม่ถึงความเป็นพระอริยะที่จะดับอนุสัยกิเลส คือยังเป็นปุถุชนครับ แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม อาจมีอุปนิสัยดีในบางเรื่องแต่อุปนิสัยอื่นๆ กิเลสอื่นๆ ก็ต้องมาก ไม่ต่างจากผู้ที่ศึกษาธรรมเลย เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตและอยู่ร่วมกันกับบุคคลนั้นตลอดเวลาครับ และที่สำคัญ กิเลสจะมาก จะน้อย พระพุทธองค์แสดงเรื่องปัญญาเป็นสำคัญด้วย ผู้ที่ไม่มีปัญญา จะกล่าวว่าเป็นคนดีกว่าผู้มีปัญญาสะสมมาไม่ได้เลย เพราะดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะไม่สามารถถึงการดับกิเลส เพราะไม่เข้าใจความจริงนั่นเองครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 14 ธ.ค. 2554

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนในพระสูตรหนึ่ง ปรารภอุบาสิกาผู้ประมาณในบุคคลต่างๆ ว่าเราไม่รู้หรอกว่า แต่ละบุคคลสะสมอะไรมา แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพียงการประมาณภายนอก ไม่สามารถตัดสินว่าผู้นี้เป็นคนดี มีคุณธรรมมากกว่าคนนี้ เพราะผู้นั้นมิใช่ตถาคตที่ตรัสรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกด้วยปัญญา รู้การสะสมมาของสัตว์โลกจริงๆ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล เพราะการจะรู้การสะสมมานั้น ต้องเป็นปัญญา และสิ่งที่สะสมมานั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จึงไม่ใช่เพียงตัดสินด้วยการดูภายนอก เพียงช่วงเวลาไม่นานไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้น สัตว์โลกจึงสะสมสิ่งต่างๆ มาแตกต่างกันไป แต่หากไม่สะสมปัญญา แม้มีอุปนิสัยดีอย่างไร ก็เปลี่ยนได้ เพราะไม่ได้สะสมสิ่งที่ดีเลยคือปัญญานั่นเองครับ แต่ผู้ที่สะสมปัญญาย่อมเปลี่ยนจากผู้ที่กิเลสมาก อุปนิสัยไม่ดีได้ เพราะปัญญาสามารถละกิเลส ละสิ่งเหล่านี้ได้ครับ ดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ หากปราศจากปัญญาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 14 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็จะต้องเป็นผู้มีความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีจริง กุศลธรรมและอกุศลธรรมเป็นธรรมที่มีจริง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

การที่จะเป็นคนดีได้ ก็เพราะว่ามีสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตามความเป็นจริงแล้ว มีแต่เพียงธรรมเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน คนดีก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติ จากความเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายดี มีกุศลจิตเกิดขึ้น ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คนดีจึงมีหลายระดับ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงสูงสุด คนดีสูงสุดคือพระอรหันต์ เป็นผู้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย คนดีที่ไม่ได้เข้าใจธรรมนั้นมีมาก สะสมมาที่จะมีอุปนิสัยที่ดีงามในการให้ทาน ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีการงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็มีอัธยาศัยที่น้อมไปในความดีประการนั้นๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดขึ้น รวมไปถึงสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย ก็ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ส่วนคนดีอีกประเภทหนึ่ง เป็นคนดีที่เข้าใจพระธรรมด้วย เพราะเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจความจริง เห็นประโยชน์ของปัญญา ถึงแม้ว่าจะยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่เต็ม อกุศลจิตเกิดขึ้นมาก ก็ไม่ละเลยโอกาสสำคัญในชีวิตคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายกิเลสของตนไปตามลำดับ แม้กุศลจิตจะเกิด อกุศลจิตจะเกิดและสภาพธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้น ก็สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา กิเลสที่มีมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้ ทำให้เป็นคนดีด้วยปัญญาครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 5    โดย วิริยะ  วันที่ 14 ธ.ค. 2554

ขอขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่าน และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย pat_jesty  วันที่ 14 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย เซจาน้อย  วันที่ 16 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย lovedhamma  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

อยู่ที่การสะสม ความเห็นถูก-ผิด มาของแต่ละบุคคลครับ


ความคิดเห็น 9    โดย เฉลิมพร  วันที่ 3 ก.พ. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ