"สมมุติบัญญัติ"หมายความว่าอย่างไรครับ
โดย papon  2 ต.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23748

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"สมมติบัญญัติ"หมายความว่าอย่างไรครับ ขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมมติบัญญัติ คือ สิ่งไม่มีลักษณะของสภาพธรรม แต่ เป็น เรื่องราว ที่เกิดจากการคิดนึก สมมติ บัญญัติขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีได้เพราะอาศัย สภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ขณะนั้น เป็นสมมติบัญญัติแล้ว เป็นเรื่องราว ที่เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ บัญญัติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้น แต่เพราะอาศัยสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก ที่มีการเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตคิดนึก ในสีนั้น ปรากฏเป็นรูปร่าง สัณฐาน เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ ครับ และขณะแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่ มีการคิดนึกในเรื่องต่างๆ ขณะนั้น ก็เป็นการคิดนึกในสมมติ บัญญัติ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยทรงจำไว้ ว่า เป็น สิ่งนั้น สิ่งนี้ แม้ที่จริง ไม่ได้มีลักษณะที่มีจริง แต่เป็นการคิดในเรื่องราว ที่สมมติ บัญญัติขึ้นในขณะที่คิดนึก ครับ

สมมติ บัญญัติ จึงไม่พ้นจากชีวิตประจำวันที่เป็นไป เพราะ ไม่มีปัญญา จึงถูกสมมติบัญญัติปิดบังปรมัตถ ไม่ให้รู้ว่าแท้ที่จริง เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งหนทางการอบรมปัญญา คือ การเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม และ เข้าใจถูกว่า เรื่องราว สมมติ บัญญัติไม่มีจริง ก็จะไถ่ถอนความยึดถือด้วยความเห็นผิดว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย papon  วันที่ 2 ต.ค. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การเห็นเป็นเรา สัตว์ บุคคล ดังเช่นการเห็นเป็น บิดา มารดา พี่ น้อง แท้ที่จริงก็คือรูปที่มีจิต เจตสิก อาศัยอยู่ อย่างนั้นหรือครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่ธรรมเท่านั้น เมื่อเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ จะเป็นสิ่งหนึี่งสิ่งใด หรือเป็นใครได้อย่างไร เพราะเป็นธรรม ธรรมที่เป็นสภาพรู้ธาตุรู้นั้น มี ๒ ประะภท คือ จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น (พร้อมด้วยเจตสิก) ก็ย่อมรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ โดยที่จิตเท่านั้นที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป ชีวิตประจำวัน จิต (และเจตสิก) จึงรู้ได้ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ ซึ่งเมื่อศึกษาไปตามลำดับก็จะเข้าใจได้ว่า ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ เช่น สี เสียง เสียง กลิ่น รส กุศล อกุศล เป็นต้น ส่วนสมมติบัญญัติ ไม่มีมีจริง จิตรู้บัญญัติได้โดยจิตคิดถึง ชื่อสัณฐาน เรื่องราวของปรมัตถ์ เพราะมีปรมัตถ์ บัญญัติจึงมีได้

จากประเด็นในคำถาม ความคิดเห็นที่ ๒ นั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา เป็นบิดา มารดา ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม (จิต เจตสิก) และรูปธรรม เท่านั้น เพราะมีธรรมจึงมีการบัญญัติเรียกว่า เป็นตัวเรา เป็นมารดา บิดา เป็นต้น จิต เจตสิก ก็อาศัยเกิดที่รูป ไม่ได้เกิดนอกรูปเลยสำหรับผู้ที่มีขันธ์ ๕ ครบ ส่วนที่เห็นเป็นเรา เป็นมารดา บิดา เป็นต้นนั้น ไม่พ้นไปจากความคิดนึกที่เกิดขึ้นเป็นไป จำหมายหรือรู้ว่าเป็นตัวเรา ไม่ใช่คนอื่น รู้ว่าเป็นมารดา บิดา หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นต้น ซึ่งไม่พ้นไปจากจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปทางมโนทวาร ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 2 ต.ค. 2556

สิ่งที่เขาเรียกสมมติกัน คือ สิ่งที่สมมติว่ามีจริง กับ สิ่งที่สมมติว่าไม่มีจริง ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 2 ต.ค. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 23748 ความคิดเห็นที่ 2 โดย papon

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การเห็นเป็นเรา สัตว์ บุคคล ดังเช่นการเห็นเป็น บิดา มารดา พี่ น้อง แท้ที่จริงก็คือรูปที่มีจิต เจตสิก อาศัยอยู่ อย่างนั้นหรือครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

เพราะ อาศัย สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป จึง บัญญัติ สมติว่าเป็นสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น เพราะ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จึง สามารถเห็น สี นั้นได้ และเมื่อมีการเห็นสี แล้ว ก็เกิดความนึกคิด เป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ แท้ที่จริง ก็เป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น ที่เห็นได้ แต่ ขณะที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ใช่การเห็น แต่ เป็นการนึกคิดในสิ่งที่เห็นแล้ว ครับ

สมมติบัญญัติ เรื่องราวต่างๆ มีได้ ก็เพราะอาศัย ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีจริงเป็นสำคัญ ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย papon  วันที่ 2 ต.ค. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

จากที่อาจารย์คำปั่น บรรยายมา สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงแค่รูปารมณ์เท่านั้น เมื่อจิตเห็นทางจักขุปสาท มโนทวารก็ทำกิจพิจารณารูปพรรณต่อ สัญญาก็บอกว่ารูปพรรณแบบนี้ บัญญัติว่าบิดามารดา หรือครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 2 ต.ค. 2556

ถูกต้องครับ เพราะ อาศัย สัญญาที่เคยทรงจำไว้ ว่า ลักษณะ รูปร่าง สัณฐาน แบบนี้ เป็น บิดา มารดา พี่น้อง ชื่อนี้ เป็นต้น เพราะ อาศัย สัญญาที่เคยทรงจำเอาไว้ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย papon  วันที่ 2 ต.ค. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

จากคำบรรยายของอาจารย์ทั้งสองกระผมขอถามต่อดังนี้

๑.ภูเขา ต้นไม้ เป็นรูปที่ปรากฏได้ทางจักขุทวารเป็นสมมติบัญญัติหรือไม่ครับ เพราะเหตุใด

๒.ภาพในหนังสือพิมพ์และทีวีเป็นรูปที่ปรากฏได้ทางจักขุทวารเป็นสมมติบัญญัติหรือไม่ครับเพราะเหตุใด

๓.และทั้ง ๒ ข้อข้างต้นเป็นปรมัตถ์หรือไม่ตรงไหนและอย่างไรครับ

๔.สี เสียง กลิ่น รส เป็นรูปและเป็นปรมัตถ์ แต่กุศลและอกุศลเป็นนามเป็นปรมัตถ์

ถ้าอย่างนั้นปรมัตถ์มีทั้งรูปและนาม คือเป็นส่วนหนึ่งในจิต เจตสิก รูปอย่างนั้นหรือครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 2 ต.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

๑.ภูเขา ต้นไม้ เป็นรูปที่ปรากฏได้ทางจักขุทวารเป็นสมมติบัญญัติหรือไม่ครับเพราะเหตุใด

ที่เห็น เป็น ภูเขา ต้นไม้ แสดงว่า นึกคิดทางใจแล้ว ที่เป็นทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางจักขุทวาร ขณะที่เห็นเป็นต้นไม้ ภูเขา เป็นบัญญัติเรื่องราว ทางมโนทวาร หากเป็นทางจักขุทวารจะต้องเห็นเพียง สี เท่านั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นภูเขา ต้นไม้ ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

๒.ภาพในหนังสือพิมพ์และทีวีเป็นรูปที่ปรากฏได้ทางจักขุทวารเป็นสมมติบัญญัติหรือไม่ครับเพราะเหตุใด

ภาพในหนังสือพิมพ์ และ เรื่องราวต่างๆ ที่ดูทางทีวี ก็เป็นสมมติ บัญญัติแล้ว ที่คิดนึกทาง มโนทวาร ไม่ใช่ จักขุทวาร หากแต่ว่า อาศัยการเห็น สี ก่อนที่ยังไม่รู้ว่าเป็นภาพ เรื่องราวอะไร จึง เกิด บัญญัติเรื่องราว ว่า เป็นอะไร โดยทางใจเกิดนึกต่อ ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

๓.และทั้ง ๒ ข้อข้างต้น เป็นปรมัตถ์หรือไม่ตรงไหนและอย่างไรครับ

เป็นบัญญัติเรื่องราว ไม่ใช่ปรมัตถ์ ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

๔.สี เสียง กลิ่น รส เป็นรูปและเป็นปรมัตถ์แต่กุศลและอกุศลเป็นนามเป็นปรมัตถ์ ถ้าอย่างนั้นปรมัตถ์ มีทั้งรูปและนามคือเป็นส่วนหนึ่งในจิต เจตสิก รูปอย่างนั้นหรือครับ

ถูกต้องครับ ปรมัตถธรรม หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ซึ่ง มี 4 อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน จิต เจตสิก นิพพาน เป็นนามปรมัตถ์ ส่วน รูป เป็นรูปปรมัตถ์ ครับ ซึ่งกุศลจิต อกุศลจิต เป็นส่วนหนึ่งของ สภาพธรรมที่เป็นจิต จิตปรมัตถ์ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 10    โดย papon  วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย khampan.a  วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จริงๆ ก็คือ เพิ่มพูนความเข้าใจถูกในความเป็นจริงว่าอะไรคือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม มีลักษณะให้รู้ได้ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้เลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น ซึ่งไม่พ้นไปจากนามธรรมกับรูปธรรมเลย นี้แหละ คือ ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เห็น เป็นเห็น ไม่ใช่ได้ยิน ได้ยินเป็นได้ยิน ไม่ใช่ เห็น เป็นต้น ที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่างๆ นั้น ขณะนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นคิดนึก ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ คิดนึก มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่เราที่คิด แต่เรื่องที่คิด ไม่มีจริง เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 12    โดย papon  วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย Rodngoen  วันที่ 14 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 30 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย peem  วันที่ 19 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 16    โดย suwanna_cha  วันที่ 2 ก.พ. 2562

สาธุคะ