อาตัปปสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐
โดย มศพ.  23 พ.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 28869

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ คือ

อาตัปปสูตร

... จาก ...

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๓๔ - หน้าที่ ๒๐๘
อาตัปปสูตร
(ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ)

[๔๘๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเพียร พึงกระทำโดยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ ความเพียรพึงกระทำเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ เพื่ออดกลั้นซึ่งเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ขมขื่นไม่เจริญใจ พอจะคร่าชีวิตได้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุทำความเพียรเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่ออดกลั้นซึ่งเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ขมขื่น ไม่เจริญใจ พอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีสติ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ.

จบอาตัปปสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาอาตัปปสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอาตัปปสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า อาตปฺปํ กรณียํ ความว่า ควรประกอบความเพียร. บทว่า อนุปฺปาทาย ความว่า เพื่อต้องการไม่ให้เกิดขึ้น อธิบายว่า ต้องทำด้วยเหตุนี้ คือ ด้วยคิดว่า เราจักตรวจตราไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น. แม้ต่อจากนี้ไปก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า สารีริกานํ ได้แก่ ที่เกิดในสรีระ. บทว่า ทุกฺขานํ ความว่า (เวทนาทั้งหลาย) ที่เป็นทุกข์. บทว่า ติปฺปานํ ได้แก่ หนาแน่น หรือ กล้า ด้วยสามารถแห่งการแผดเผา. บทว่า ขรานํ ได้แก่หยาบ. บทว่า กฏฺกานํ ได้แก่ เผ็ดร้อน. บทว่า อสาตานํ ได้แก่ไม่หวาน. บทว่า อมนาปานํได้แก่ไม่สามารถให้เจริญใจได้. บทว่า ปาณหรานํ ได้แก่ ตัดชีวิต. บทว่าอธิวาสนาย ได้แก่ เพื่อต้องการยับยั้ง คือ เพื่อต้องการอดทน ได้แก่เพื่อต้องการอดกลั้น.

พระศาสดาครั้นทรงบังคับ คือ ทรงยังอาณัติสงฆ์ให้เป็นไปในฐานะมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงชักชวน (ภิกษุทั้งหลาย) จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยโต โข ภิกฺขเว ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต ได้แก่ ยทา แปลว่า เมื่อใด. บทว่า อาตาปี ได้แก่ มีความเพียร. บทว่า นิปโก ได้แก่ มีปัญญา. บทว่า สโต ได้แก่ประกอบด้วยสติ. บทว่า ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ได้แก่ เพื่อทำทางรอบด้านแห่งวัฏฏทุกข์ให้ขาดตอน. คุณธรรม ๓ อย่างมีความเพียรเป็นต้นเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคละกันทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.

จบอรรถกถาอาตัปปสูตรที่ ๑๐



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 23 พ.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

© ข้อความโดยสรุป ©

อาตัปปสูตร

(ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง ว่า พึงทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยสถาน ๓ คือ เพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ๑ เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลซึ่งยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ๑ เพื่ออดกลั้นทุกขเวทนาอันมีในสรีระซึ่งเกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าชอบใจ พอจะคร่าชีวิตได้ ๑ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีสติ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

แม้คนผู้เกียจคร้านนี้ ก็อยู่เป็นทุกข์ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ.

การทำความเพียรในพระพุทธศาสนา เพื่อการบรรลุธรรม

กุศลธรรม [ถอดเทปสนทนาธรรมรายการบ้านธัมมะ]

มีกุศลเป็นที่พึ่ง

ชุดแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918

... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย wirat.k  วันที่ 24 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย มกร  วันที่ 25 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ประสาน  วันที่ 26 พ.ค. 2560

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย j.jim  วันที่ 27 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 27 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ