เรียนอาจารย์ทุกท่านครับ
ได้ฟังพระสูตรตอนหนึ่ง จากท่านอาจารย์สุจินต์ ได้ใจความว่า
ความดำริ มีทั้งกุศล และ อกุศล ซึ่ง ความดำริ นี้มี สัญญา เป็น สมุฏฐาน
ด้วยความเข้าใจของผมเองคือ ความดำริ คือการ ตรึก นึกคิด ไปในเรื่องต่างๆ หรือวิตก เจตสิก เช่น การคิดไปในเรื่องกุศล หรือคิดไปในเรื่องอกุศล ในวันๆ หนึ่ง ก็มีทั้งการคิดไปในเรื่องต่างๆ แต่เหตุใด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสว่า ความดำริ มี สัญญา เป็น สมุฏฐาน ครับ? เพราะที่พิจารณา เป็นไปได้ว่า บางครั้งอาจไม่ได้คิดไปในเรื่องราวก็เป็นได้ เช่น เห็นแล้วคิด ได้ยินแล้วคิด ได้กลิ่นแล้วคิด ฯลฯ โดยที่ยังไม่ได้นึกถึงเรื่องราวต่างๆ
และหากว่าเป็นอรหันต์ ที่ไม่มี กุศล และ อกุศลจิต แล้ว วิตกเจตสิกของท่าน ยังมีสัญญาเป็นสมุฏฐาน ได้เหมือนกันหรือไม่อย่างไรครับ?
ขอความอนุเคราะห์ ท่านอาจารย์ อธิบาย และยกตัวอย่างด้วยครับ
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความดำริ มีทั้งที่เป็นกุศล และ อกุศลมี สัญญาเป็นสมุฏฐาน คือ เป็นเหตุให้เกิดความดำริ คือ วิตกที่เป็น วิตกที่เป็นไปในทางกุศล หรือ อกุศล ซึ่งโดยมากเรามักคิดว่า วิตกเจตสิก จะหมายถึง การคิดเป็นเรื่องราว แท้ที่จริง วิตกเจตสิกแม้ไม่คิดเป็นเรื่องราว ก็สามารถเกิดวิตกเจตสิกที่เป็นปกิณณกเจตสิกได้ โดยทำหน้าที่จรดในอารมณ์นั้น ซึ่งวิตกเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต ที่ชวนจิต หลังจากเห็นแล้ว โดยที่ยังไม่คิดเป็นเรื่องราว แต่มีรูปธรรมที่เป็นปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ซึ่งอาศัยสัญญาเป็นสมุฏฐานอย่างไร คือ อาศัย กามสัญญา เป็นต้น ที่ทำให้ตรึกนึกเป็นไปในอกุศลจิต ครับ ส่วน สัญญา การจำสิ่งต่างๆ ที่เป็น สัญญาในกุศล อกุศล ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดนึกเรื่องราวในเรื่องต่างๆ ที่เป้นกุศลจิต อกุศลจิต โดยมีบัญญัติเป็นอารมณ์ มีเรื่องราวเป็นอารมณ์ก็ได้ ครับ
ส่วนในกรณีของพระอรหันต์ วิตก ในสูตรนี้ มุ่งหมายถึง วิตกที่เป็นไปในกุศล อกุศลจิต และ สัญญาที่เป็นเหตุให้เกิด วิตก ที่เป็นกุศล อกุศล สัญญาในพระสูตรนี้ ก็มุ่งหมายถึง สัญญาที่เป็นไปในกุศล อกุศล เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ท่านจึงไม่มีสัญญา ที่เป็นกามสัญญา เป็นต้น ที่จะเป็นเหตุให้เกิด กุศลวิตก อกุศลวิตก จึงยกไว้สำหรับพระอรหันต์ ครับ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 618
ใน กามสฺา เป็นต้นมีความดังต่อไปนี้
บทว่า กามสฺา สัญญาในกาม คือสัญญานอกนี้เกิดร่วมกับจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ๘ ดวง สัญญาที่เกิดร่วมกับจิตประกอบด้วยโทมนัส ๒ ดวง.
บทว่า ปม ฌาน ปฐมฌาน คือปฐมฌานอันเป็นอนาคามิผล.
บทว่า เอตฺเถเต ความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับสิ้นไปในปฐมฌาน คือตั้งอยู่ในอนาคามิผล. เพราะความดำริเป็นอกุศล ย่อมไม่เหลือเพราะการบรรลุอนาคามิผล.
บทว่า นิโรธาย ปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความดับ คือชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับตั้งแต่อนาคามิมรรค. แต่ความดำริที่เป็นอกุศลเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นอันดับด้วยการบรรลุผล.
สัญญาแม้ ๓ มีเนกขัมมสัญญาเป็นต้น เป็นสัญญาเกิดร่วมกับกามาวจรกุศล ๘.
บทว่า เอตฺเถเต ความดำริที่เป็นกุศลเหล่านี้ดับไม่เหลือในทุติยฌานนี้ คือในอรหัตตผล เพราะว่าความดำริที่เป็นกุศล ย่อมดับไม่เหลือเพราะการบรรลุอรหัตตผลอันประกอบด้วยทุติยฌาน.
บทว่า นิโรธาย ปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความดับ คือชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับจนถึงอรหัตตมรรค. แต่ความดำริที่เป็นกุศลเหล่านั้นชื่อว่า เป็นอันดับด้วยการบรรลุผล.
บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นด้วยประการฉะนี้.
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้แต่จะกล่าวถึงวิตก [ตรึก] (วิตักกเจตสิก) วิตกเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เกิดกับกุศลก็ได้ หรือ อกุศลก็ได้ ถ้าตรึกไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลวิตก ในทางตรงกันข้าม ถ้าตรึกไปในทางอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเกิดเองเพียงลำพังไม่ได้ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย สำหรับพระอรหันต์ ท่านเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีวิตกที่เป็นไปกับอกุศล ไม่มีวิตกที่เป็นไปกับกุศล เพราะดับได้หมดแล้ว มีเพียงชาติกิริยาเท่านั้น เช่นพระอรหันต์ มีความตรึกนึกคิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ก็เป็นไปด้วยสภาพธรรม (จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ที่เป็นชาติกิริยาและเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ใครๆ ก็บังคับหรือยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...