๑๐. สีลสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรใส่ใจโดยแยบคาย
โดย บ้านธัมมะ  7 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36886

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 383

๑๐. สีลสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ควรใส่ใจโดยแยบคาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 383

๑๐. สีลสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ควรใส่ใจโดยแยบคาย

[๓๑๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโกฏิฐิตะออกจากที่พักในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ฯลฯ ได้ถามว่า ท่านพระสารีบุตร ภิกษุผู้มีศีลควรกระทำธรรมเหล่าไหนไว้ในใจโดยแยบคาย?

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีลควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นอนัตตา อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน?

คือ อุปาทานขันธ์คือรูป ๑ อุปาทานขันธ์คือเวทนา ๑ อุปาทานขันธ์คือสัญญา ๑ อุปาทานขันธ์คือสังขาร ๑ อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ๑ ท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีลควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นอนัตตา ท่านโกฏฐิตะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ ภิกษุผู้มีศีลกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา พึงกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.

[๓๑๑] โก. ดูก่อนท่านสารีบุตร ภิกษุผู้เป็นโสดาบันควรกระทำธรรมเหล่าไหนไว้ในใจโดยแยบคาย?


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 384

สา. ท่านโกฏฐิตะ แม้ภิกษุผู้เป็นโสดาบันก็ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา ท่านโกฏฐิตะ ข้อนี้ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ ภิกษุผู้เป็นโสดาบันกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล.

[๓๑๒] โก. ท่านพระสารีบุตร ภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามีควรกระทำธรรมเหล่าไหนไว้ในใจโดยแยบคาย?

สา. ท่านโกฏฐิตะ แม้ภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามีก็ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั่นแลไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา ท่านโกฏฐิตะ ข้อนี้ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ ภิกษุผู้เป็นสกทาคามีกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล.

[๓๑๓] โก. ท่านพระสารีบุตร ภิกษุผู้เป็นอนาคามีควรกระทำธรรมเหล่าไหนไว้ในใจโดยแยบคาย?

สา. ท่านโกฏฐิตะ แม้ภิกษุผู้เป็นอนาคามีก็ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั่นแลไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา ท่านโกฏฐิตะ ข้อนี้ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ ภิกษุผู้เป็นอนาคามีกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นอนัตตา พึงกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 385

[๓๑๔] โก. ท่านพระสารีบุตร ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ควรกระทำธรรมเหล่าไหนไว้ในใจโดยแยบคาย?

สา. ท่านโกฏฐิตะ แม้ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ก็ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั่นแลไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นอนัตตา ท่านโกฏฐิตะ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปหรือการสั่งสมกิจที่กระทำแล้วย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ และแม้ธรรมเหล่านี้ที่ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ก็เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ.

จบ สีลสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาสีลสูตรที่ ๑๐

พึงทราบวินิจฉัยในสีลสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

ในบทว่า อนิจฺจโต เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

อุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุพึงใส่ใจว่า ไม่เที่ยง โดยอาการที่มีแล้วกลับไม่มี (เกิดแล้วดับ) พึงใส่ใจว่า เป็นทุกข์ โดยอาการที่เบียดเบียน บีบคั้น พึงใส่ใจว่า เป็นโรค เพราะหมายความว่า เจ็บป่วย พึงใส่ใจว่า เป็นฝี เพราะหมายความว่าเสียอยู่ข้างใน พึงใส่ใจว่า เชือดเฉือน เพราะเป็นปัจจัยของฝีเหล่านั้นหรือเพราะหมายความว่าขุด พึงใส่ใจว่า โดยยาก เพราะหมายความเป็นทุกข์ พึงใส่ใจว่า เป็นผู้เบียดเบียน เพราะหมายความว่าเป็นปัจจัยให้เกิดอาพาธอันมีมหาภูตรูปที่เป็นวิสภาคกันเป็นสมุฏฐาน พึงใส่ใจว่า เป็นอื่น เพราะหมายความว่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 386

ไม่ใช่ของตน พึงใส่ใจว่า ทรุดโทรม เพราะหมายความว่าย่อยยับ พึงใส่ใจว่า ว่าง เพราะหมายความว่าว่างจากสัตว์ พึงใส่ใจว่า เป็นอนัตตา เพราะไม่มีอัตตา.

ในที่นี้พึงทราบอธิบายเพิ่มเติมอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงการใส่ใจว่าไม่เที่ยง ด้วยสองบทว่า อนิจฺจโต ปิโลกโต (ไม่เที่ยง, แตกสลาย) ตรัสถึงการใส่ใจว่าเป็นอนัตตา ด้วยสองบทว่า สุญฺโต อนตฺตโต (ว่าง, เป็นอนัตตา) ตรัสถึงการใส่ใจว่าเป็นทุกข์ ด้วยบทที่เหลือ.

บทที่เหลือในพระสูตรนี้ มีความหมายง่ายแล.

จบ อรรถกถาสีลสูตรที่ ๑๐