๑. กัลยาณธรรมชาดก ผู้มีกัลยาณธรรม
โดย บ้านธัมมะ  21 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35585

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 124

๓. กัลยาณธรรมวรรค

๑. กัลยาณธรรมชาดก

ผู้มีกัลยาณธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 124

๓. กัลยาณธรรมวรรค

๑. กัลยาณธรรมชาดก

ผู้มีกัลยาณธรรม

[๑๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชนกาลใด บุคคลได้ธรรมสมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาลนั้น นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงทำตนให้เสื่อมจากสมัญญานั้นเสีย สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริและโอตตัปปะ.

[๑๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สมัญญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้ มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นสมัญญาอันนั้น จึงได้บวชเสียในคราวนี้ ความพอใจในการบริโภคกามในโลกนี้ มิได้มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าเลย.

จบ กัลยาณธรรมชาดกที่ ๑


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 125

อรรถกถากัลยาณธรรมวรรคที่ ๓

อรรถกถากัลยาณธรรมชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภแม่ผัวหูหนวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า กลฺยาณธมฺโม ดังนี้.

ความพิสดารมีอยู่ว่า ในกรุงสาวัตถีมีกุฎุมพีคนหนึ่ง เป็นคนมีศรัทธา เลื่อมใสถึงไตรสรณคมน์ ถือศีลห้า. วันหนึ่งเขาถือเภสัชมีเนยใสเป็นต้นเป็นอันมาก กับดอกไม้ของหอม และผ้าเป็นต้น ไปด้วยคิดว่า จักฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาในพระวิหารเชตวัน. ในเวลาที่กุฎุมพีไป ณ ที่นั้น แม่ยายเตรียมของเคี้ยวของบริโภคประสงค์จะเยี่ยมลูกสาว ได้ไปยังเรือนนั้น. แต่แม่ยายหูค่อนข้างตึง. ครั้นนางบริโภคร่วมกับลูกสาวอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงถามลูกสาวว่า นี่ลูก ผัวของเองอยู่ด้วยความรักบันเทิงใจไม่ทะเลาะกันดอกหรือ. ลูกสาวพูดว่า แม่พูดอะไรอย่างนั้น คนที่เพียบพร้อมด้วยผัวและมารยาทเช่นลูกเขยของแม่ แม้บวชแล้วก็ยังหายาก. อุบาสิกาฟังคำลูกสาวไม่ถนัดถือเอาแต่บทว่าบวชแล้วเท่านั้น จึงตะโกนขึ้นว่า อ้าวทำไมผัวของเองจึงบวชเสียเล่า. บรรดาผู้อยู่เรือนใกล้เคียงทั้งสิ้น ได้ยินดังนั้นพากันพูดว่า เขาว่ากุฎุมพีของพวกเราบวชเสียแล้ว. บรรดาผู้ที่เดินผ่านไปมาทางประตู ได้ยินเสียงของคนเหล่านั้น จึงถามว่า


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 126

นั่นอะไรกัน. ชนเหล่านั้นตอบว่า เขาว่ากุฎุมพีในเรือนนี้บวชเสียแล้ว.

ฝ่ายกุฎุมพีนั้นครั้นสดับธรรมของพระทศพลแล้ว ก็ออกจากวิหารกลับเข้าเมือง. ขณะนั้นชายคนหนึ่งพบเข้าในระหว่างทางจึงพูดว่า ข่าวว่าท่านบวช บุตรภรรยาบริวารในเรือนท่านพากันร้องไห้คร่ำครวญ. ทันใดนั้นเขาได้ความคิดขึ้นมาว่า แท้จริงเรามิได้บวชเลย คนๆ นี้ว่าเราบวช เสียงดีเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ควรให้หายไป เราควรจะบวชในวันนี้แหละ เขาจึงกลับจากที่นั้นทันทีไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อรับสั่งถามว่า อุบาสก ท่านทำพุทธปัฏฐากเพิ่งกลับไปเดี๋ยวนี้เอง ไฉนจึงมาเดี๋ยวนี้อีก จึงเล่าเรื่องถวายแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ธรรมดาเสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปเสีย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มีความประสงค์จะบวชจึงได้มา. ครั้นเขาบรรพชาอุปสมบทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต. ได้ยินว่า เหตุการณ์นี้ปรากฏเลื่องลือไปในคณะสงฆ์. อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย กุฎุมพีชื่อโน้นได้เกิดความคิดขึ้นว่า เสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปแล้ว จึงบรรพชา เวลานี้บรรลุพระอรหัตแล้ว. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอนั่งประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้บัณฑิตแต่ก่อนได้ความคิดว่า เสียงดี


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 127

เกิดขึ้นแล้วไม่ควรให้เสียไป จึงพากันบวชแล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐีเมื่อบิดาถึงแก่กรรม. วันหนึ่ง เศรษฐีออกจากบ้านไปประกอบราชกรณียกิจ. ครั้งนั้น แม่ยายของเศรษฐีได้ไปยังเรือนนั้นด้วยคิดว่า จักเยี่ยมลูกสาว. แม่ยายนั้นค่อนข้างหูตึงเรื่องทั้งหมดเหมือนกับเรื่องในปัจจุบัน. ชายคนหนึ่งเห็นเศรษฐีประกอบราชกรณียกิจเสร็จแล้วกลับมาเรือน จึงพูดว่า ในเรือนของท่านเกิดร้องไห้กันยกใหญ่ เพราะได้ข่าวว่า ท่านบวชเสียแล้ว. พระโพธิสัตว์ได้ความคิดขึ้นว่า ธรรมดาเสียงดีเกิดขึ้นแล้วไม่ควรให้หายไปเสีย จึงกลับจากนั้นไปเฝ้าพระราชา เมื่อรับสั่งถามว่า ท่านมหาเศรษฐีท่านเพิ่งไปเดี๋ยวนี้เอง ทำไมจึงกลับมาอีก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์มิได้บวชเลย คนในเรือนโอดครวญกันพูดว่าบวชแล้ว เสียงดีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไป ข้าพระองค์จักบวชละ ขอพระราชทานอนุญาตให้ข้าพระองค์บวชเถิด เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า :-

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชนกาลใด บุคคลได้สมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาล


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 128

นั้นนรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงทำตนให้เสื่อมจากสมัญญานั้นเสีย สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชนสมัญญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้ มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นสมัญญาอันนั้น จึงได้บวชเสียในคราวนี้ ความพอใจในการบริโภคในโลกนี้ มิได้มีแก่ข้าพระองค์เลย.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กลฺยาณธมฺโม ได้แก่ ธรรมดี. บทว่า สมญฺํ อนุปาปุณาติ ความว่า ถึงโวหารบัญญัตินี้ว่า มีศีล มีกัลยาณธรรม บวชแล้ว. บทว่า ตสฺมา น หิยฺเยถ ได้แก่ ไม่พึงให้เสื่อมจากสมญานั้น. สัตบุรุษทั้งหลายย่อมยึดธุระไว้แม้ด้วยหิริ ข้าแต่มหาราชขึ้นชื่อว่าสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมยึดธุรบรรพชานี้ไว้ได้ด้วยหิริ อันเกิดขึ้นในภายในบ้าง ด้วยโอตตัปปะอันเกิดขึ้นในภายนอกบ้าง. บทว่า อิธ มชฺช ปตฺตา ได้แก่ ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้ ได้มาถึงข้าพระองค์แล้วในวันนี้. บทว่า ตาหํ สเมกฺขํ ความว่า ข้าพระองค์เพ่งดูคือเห็นสมญาอันได้แล้วด้วยคุณ. บทว่า น หิ มตฺถิ ฉนฺโท แก้เป็น น หิ เม อตฺถิ ฉนฺโท แปลว่า ข้าพระองค์ไม่มีความพอใจเลย. บทว่า อิธ กามโภเค คือ ในการบริโภคด้วยกิเลสกาม และด้วยวัตถุกามในโลกนี้.

พระโพธิสัตว์ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงขอพระบรมราชานุญาตบรรพชา ไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษียัง


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 129

อภิญญาและสมาบัติให้เกิด มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดก พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้. ส่วน เศรษฐีกรุงพาราณสี ในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถากัลยาณธรรมชาดกที่ ๑