สำหรับอกุศลธรรมประเภทต่อไป คือ โยคะ ๔ ได้แก่
กามโยคะ ๑ ภวโยคะ ๑ ทิฏฐิโยคะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑
โดยสภาพของเจตสิกก็เหมือนกับอาสวะ เหมือนกับโอฆะ คือ ทุกครั้งที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่สะสมหมักดองอยู่ในจิตใจ เป็นเครื่องกั้น เป็นห้วงน้ำที่ทำให้จมอยู่ในวัฏฏะแล้ว ยังเป็นโยคะ คือ ตรึงประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้ผละ หรือไม่ให้หลุดพ้นออกไปจากวัฏฏะได้
ถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบจริงๆ ว่า ลักษณะของอกุศลธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างท่านที่เริ่มเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง ของรูปบ้างแล้ว ประเดี๋ยวเป็นอะไร หลงลืมสติไป มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็มีอาสวะ มีโอฆะ มีโยคะที่ทำให้สะสมหมักดอง กั้นให้จมในวัฏฏะ ตรึงไว้ไม่ให้ผละ ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะได้
สำหรับ ภวโยคะ เป็นความยินดีพอใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นความยินดีพอใจในขันธ์ ในภพ
ทิฏฐิโยคะ ความเห็นผิด เป็นเครื่องที่ตรึงไว้ไม่ให้หลุดไปจากวัฏฏะ เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาให้มาก เพื่อสติจะได้ระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นทิฏฐิโยคะที่ตรึงไว้ ประกอบไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ
สำหรับ อวิชชาโยคะ เป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป ถ้าทางตากำลังเห็น ไม่รู้ลักษณะของนาม ไม่รู้ลักษณะของรูป เมื่อเป็นอกุศลจิตแล้วก็ไม่พ้นจากอวิชชาโยคะ ตรึงไว้ ประกอบไว้ในวัฏฏะ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 134