ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๑๔] อารกฺข
โดย Sudhipong.U  15 มิ.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 46075

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อารกฺข

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อารกฺข อ่านตามภาษาบาลีว่า อา - รัก - ขะ แปลว่า รักษาโดยทั่ว, รักษาด้วยดี, อารักขา เป็นอีก ๑ คำ ที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ในที่นี้จะกล่าวหมายถึง การรักษาด้วยดี อารักขาด้วยดี ด้วยกุศลธรรม เพราะขณะที่กุศลธรรมมีสติสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล เป็นต้น เกิดขึ้น ก็เป็นอันอารักขาหรือรักษาตนเองด้วยดี ด้วยการป้องกันไม่ให้ตกไปในทางฝ่ายอกุศล รักษาด้วยดีให้เป็นไปในกุศลธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่ประพฤติสุจริต คือ ประพฤติดี ด้วยกาย วาจา และใจ ชื่อว่า เป็นผู้รักษาตน ด้วยการเห็นคุณค่าของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ทำความเสียหายแก่ตน ด้วยการไม่กระทำบาปกรรมทั้งหลาย เป็นการรักษาภายใน แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าประพฤติทุจริต คือ ประพฤติชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ ตกอยู่ในอำนาจของอกุศลธรรม ก็เป็นผู้ไม่ได้รักษาตนเลย ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัตตรักขิตสูตร ดังนี้

ก็ชนบางพวก ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้น ชื่อว่า เป็นผู้ไม่รักษาตน ถึงแม้ชนพวกนั้น จะมีพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า คอยรักษา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น ชนพวกนั้น จึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนว่า ชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้น ชื่อว่า เป็นผู้รักษาตน ถึงแม้ชนพวกนั้นจะไม่มีพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า คอยรักษา ถึงเช่นนั้น ชนพวกนั้น ก็ชื่อว่า รักษาตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น ชนพวกนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้รักษาตน


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดงเป็นคำจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ด้วยพระปัญญาอันเกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์ เมื่อผู้ศึกษาได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่ามีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่การสะสมสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ก็เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความเป็นจริงของจิตประการหนึ่ง คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ดังนั้น จิตจึงสะสมทั้งฝ่ายที่ดีและไม่ดี กล่าวคือสะสมทั้งกุศล และอกุศล ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ไม่ดี (อกุศล) ต่อไปอีกในจิตขณะต่อไป แม้ในทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ดี (กุศล) ในจิตขณะต่อไป โดยไม่ปะปนกัน นี้คือความเป็นจริง

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะผลของกุศลกรรม การได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากมาก เมื่อได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ชีวิตยังเป็นอยู่ยาก ต้องประกอบการงาน เพื่อความสืบต่อแห่งชีวิตให้เป็นไปอย่างไม่เดือดร้อน และชีวิตก็สั้นมาก ไม่ได้ยั่งยืนเลย ไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด และที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ที่ภูมิมนุษย์ ภูมิมนุษย์นี้จึงเป็นภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญกุศลได้ทุกๆ ประการ ทั้งในเรื่องทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ศีล ความประพฤติที่ดีงาม เว้นจากความประพฤติที่ไม่ดี และภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา

มนุษย์แต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ตามการสะสม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย เป็นความจริงที่ว่า บุคคลใดก็ตามที่ประพฤติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขณะนั้นเป็นการกระทำเหตุที่ไม่ดี เป็นอันตรายแล้วในขณะที่กระทำอกุศลกรรม เป็นผู้ไม่ได้รักษาตน เป็นผู้ทำความเสียหายให้แก่ตนเอง ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากอกุศลกรรมของตนเองเท่านั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่อกุศลกรรมให้ผลนั้น อกุศลวิบากอันเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ

ส่วนบุคคลผู้ที่ประพฤติสุจริตทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ได้กระทำสิ่งที่เป็นอันตราย กล่าวคือ อกุศลกรรมทั้งหลายให้กับตนเอง บุคคลประเภทนี้เป็นผู้รักษาตนเอง ทำความดี ทำความเจริญให้กับตนเอง ด้วยการสะสมความดีทั้งหลายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ที่จะเป็นเหตุทำให้ออกจากวัฏฏะ ก็เป็นการรักษาตนเองอย่างสูงสุด คือ สามารถทำให้พ้นจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

ควรที่จะพิจารณาอยู่เสมอว่า มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็เพื่อประโยชน์ คือได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ประพฤติตามพระธรรม ไม่ละเลยโอกาสแห่งการเจริญกุศลในชีวิต ประจำวัน จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะพร่ำสอนเตือนพุทธบริษัทให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลย ตราบที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ยังมีกิเลสอยู่ การที่จะไปสู่กำเนิดอื่นนั้นมีมากกว่าการที่จะกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ อุปมาระหว่างฝุ่นที่ปลายเล็บกับพื้นมหาปฐพี เห็นได้ชัดเจนว่า แต่ละบุคคลจะเห็นฝุ่นที่เล็บอยู่ทุกวัน แต่ไม่มีใครเตือนให้ได้คิด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงละเว้นโอกาส แม้แต่การที่จะให้ระลึกได้ว่าฝุ่นที่เล็บมีน้อยกว่าที่พื้นมหาปฐพี เหมือนกับวันหนึ่งๆ กุศลกับอกุศล อย่างไหนจะเกิดมากกว่ากัน? อกุศลเกิดมากกว่ากุศล อย่างเทียบกันไม่ได้เลย ซึ่งในชีวิตประจำวันจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้ทีเดียว

ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากอย่างยิ่งแล้ว ก็ไม่ควรที่จะประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ ควรเห็นถึงความสำคัญของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ควรที่จะมีการอารักขาตนเอง กระทำสิ่งที่ดีให้กับตนเอง ไม่เบียดเบียนตนเอง ทำตนให้คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ด้วยการสะสมความดีประการต่างๆ กล่าวคือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกประการ สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป เป็นการอารักขาตนเองอย่างดี คุ้มครองป้องกันไม่ให้ตกไปทางฝ่ายอกุศล อันเป็นทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง จนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ