รู้สึกเฉยๆ ควรทำอย่างไรคะ
โดย SOAMUSA  17 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20809

ขอเรียนถามอาจารย์ว่า

ถ้าเราเห็นอะไรแล้วเราก็เฉยๆ แสดงว่าขณะนั้นเกิดโมหะขึ้น ไม่ใช่อุเบกขาใช่หรือไม่คะ แล้วถ้าเรามีสติไปรู้ว่าขณะนั้นจิตเราเฉย เรารู้ว่าเจ้าตัวความเฉยนั้นมันไม่รับรู้อะไร ไม่คิดอะไรไม่มีปัญญา เราก็รู้อีกว่านั่นเป็นเพียงสภาวะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความเฉยก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ดิฉันยังไม่สามารถทำได้มากมาย ยังอาศัยบัญญัติอยู่เลยค่ะ หรือจะทำอะไรดีคะกับความเฉย หรือจะเป็นไปตรึกคิดอะไรให้อารมณ์ขณะนั้นเป็นกุศลแทนความเฉยคะ เพราะมีคนสอนว่าให้เปลี่ยนอารมณ์ที่เป็นกุศลมาแทนความเฉยค่ะ ตอนนี้รู้สึกสับสนขึ้นมาแล้วค่ะ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบด้วยค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่สำคัญที่สุด ขอให้ยึดหลักพระธรรม คำนี้ไว้เสมอครับว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้จึงไม่ใครจะทำหรือจะเปลี่ยน ด้วยความเป็นตัวตนที่จะเปลี่ยนอารมณ์จากเฉยๆ เป็นอย่างอื่นได้ตามใจชอบ เมื่อเราเข้าใจถึงหลักความป็นอนัตตาแล้ว ก็จะไม่มีการจะทำ เพราะทำไม่ได้ หากจะทำเมื่อไหร่ นั่นคือ การปฏิบัติผิด ครับ เพราะจะทำด้วยโลภะ ความต้องการ ที่อยากจะเปลี่ยนอารมณ์ ครับ

ซึ่งเราจะต้องเข้าใจคำว่า เฉยๆ ให้ถูกต้องก่อนครับว่า เฉยๆ คือ ความรู้สึกประเภทหนึ่งที่เป็นเวทนาเจตสิก เรียกว่า อุเบกขาเวทนา ซึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ หรือ อุเบกขาเวทนา เกิดกับจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ คือ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ เกิดกับ วิบากจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นโมหะเสมอไป เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลประเภท โลภะก็ได้ เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรมก็ได้ เช่น ขณะที่เห็น มีความรู้สึกเฉยๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ เพราะฉะนั้น เพียงความรู้สึกเฉยๆ จะเป็นตัววัดประเภทของจิตว่าเป็นอกุศลไม่ได้ ครับ

ดังนั้นจึงไม่ต้องไปทำเปลี่ยนความรู้สึก เพราะทำไม่ได้ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเป็นแต่เพียงธรรม จึงไม่มีใครจะทำ จะเปลี่ยนความรู้สึก และเปลี่ยนสภาพจิตจากอกุศล เป็นกุศล หรือ จากกุศล เป็นอกุศลได้เลย ครับ หากทำได้ ก็คงสามารถทำให้จิตเป็นกุศลได้บ่อย ซึ่งไม่ใช่ฐานะที่จะทำได้ครับ

หนทางที่ถูกต้องในการอบรมปัญญา คือ เลิกคิดที่จะทำ แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาที่เจริญขึ้นที่เป็นธรรมจะทำหน้าที่เอง โดยไม่มีเราที่จะทำ โดยค่อยๆ เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้เปลี่ยนสภาพธรรม

ขอให้เข้าใจถูกว่า การอบรมปัญญา ไม่ใช่จะพยายามทำให้กุศลเกิดบ่อยๆ แต่ หนทางที่ถูกคือ เข้าใจความจริงที่เกิดแล้ว ว่าคืออะไร เพราะกิเลสที่จะต้องละก่อน คือ ความเห็นผิด ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีเรา ดังนั้น ความรู้สึกเฉยๆ มีจริง เป็นธรรม อกุศลมีจริงเป็นธรรมไม่ต้องไปเปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ แต่เข้าใจความจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราที่มีกุศล หรือ อกุศลครับ ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจความจริงว่า เป็นอกุศล เป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ แค่เพียงเลิกที่จะทำ ที่จะเปลี่ยน ก็เบาสบาย ด้วยไม่ติดข้องที่อยากจะทำ และเบาสบายด้วยความเข้าใจธรรมว่าไม่มีเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ ฟังพระธรรมต่อไปเท่านั้น หน้าที่ที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย SOAMUSA  วันที่ 18 มี.ค. 2555

กราบอนุโมทนาค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ขอให้ยึดหลักพระธรรม คำนี้ไว้เสมอครับว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่ใครจะทำหรือจะเปลี่ยน ด้วยความเป็นตัวตนที่จะเปลี่ยนอารมณ์จากเฉยๆ เป็นอย่างอื่นได้ ตามใจชอบ

จะจดจำไว้ให้ดีค่ะ และปฏิบัติตามค่ะ

จริงอย่างที่อาจารย์ได้อธิบายมานะคะ ดิฉันต้องบีบเค้นตัวเองให้เมตตาออกมาแทนความรู้สึกเฉยๆ ว่า เฉยๆ ไม่ดี เอาให้กุศลมาเกิดแทนดีกว่า ในใจก็คิดว่านี่โลภะหรือเปล่า แต่ผู้สอนเป็นถึงอาจารย์ก็ลองทำไปก่อน แต่ก็สงสัยตลอดค่ะ ว่าโลภะในเวลาที่ไม่ได้บีบเค้นให้เมตตาเกิด แต่วันหนึ่งๆ จริงๆ แล้วจิตที่มีเมตตาประกอบ เค้าก็เกิดเองได้ด้วยการไม่ต้องไปจงใจให้เกิดนะคะ ขอบพระคุณเว็บบ้านธัมมะค่ะ

จากการที่ดิฉันได้เคยอ่านได้เคยถาม ทำให้สามารถฉุกคิดขึ้นมาได้ เวลาเจออะไรที่แปลกไปจากธรรมที่ถูกต้อง แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่แล้วค่ะ


เลิกคิดที่จะทำ แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาที่เจริญขึ้นที่เป็นธรรมจะทำหน้าที่เอง โดยไม่มีเราที่จะทำ


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ถ้าเข้าใจธรรมะ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ตามการสะสม เกิดแล้วดับแล้ว ปุถุชนขณะใดที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นอกุศลจิต ก็เกิดสลับกับกุศลจิตได้ ถ้าขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะความรู้สึกเฉย เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เกิดแล้วดับ ไม่ใช่เราค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เซจาน้อย  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ธรรมไม่มีการจะทำเพราะไม่มีใครทำ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา"

"ปัญญาจะทำหน้าที่เอง"

"กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็อกุศล จึงไม่มีใครจะทำ จะเปลี่ยนความรู้สึก และเปลี่ยนสภาพจิตจากอกุศลเป็นกุศล หรือ จากกุศล เป็นอกุศลได้เลย ครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงเลย ซึ่งเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม จึงมีการยึดถือสภาพธรรมที่มีจริงว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นไปกับด้วยความไม่รู้มากมาย และยิ่งจะสะมความไม่รู้มากยิ่งขึ้น จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

ธรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เกิด หรือ ไม่ให้เกิดได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ วันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดขึ้นมาก เกิดมากกว่ากุศลอย่างเทียบส่วนกันไม่ได้ เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ความรู้สึกก็หลากหลายตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นโลภมูลจิต เวทนาที่เกิดร่วมด้วยบางครั้งก็เป็นโสมนัส บางครั้งก็เป็นอุเบกขา คือ ไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆ ถ้าเป็นโทสมูลจิต เวทนาที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นเฉพาะโทมนัสเวทนาเท่านั้น และถ้าเป็นโมหมูลจิต ก็มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ทุกขณะจึงไม่พ้นไปจากเวทนาเลย มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา) เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญ เวทนาความรู้สึกที่เป็นอุเบกขานั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะกับกุศลจิตเท่านั้น เกิดกับอกุศลจิตด้วย ทั้งโลภมูลจิต และ โมหมูลจิต เกิดกับจิตชาติอื่นๆ ก็ได้ คือ วิบากและกิริยา, จากที่เคยเป็นอกุศลมากๆ หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสมากมาย แต่เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีตัวตนที่เปลี่ยนหรือไปบังคับบัญชาได้เลย เพราะธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม เท่านั้นจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย SOAMUSA  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ถ้าเข้าใจธรรมะ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ตามการสะสม เกิดแล้วดับแล้ว ปุถุชน ขณะใดที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต เป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นอกุศลจิต ก็เกิดสลับกับกุศลจิตได้ ถ้าขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะความรู้สึกเฉย เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เกิดแล้วดับ ไม่ใช่เราค่ะ


ขออนุโมทนาสาธุค่ะ ทุกๆ ท่าน ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

จริงนะคะ กุศลกับ อกุศล เกิดสลับกันอยู่แล้ว จะไปบังคับเลือกเอาแต่กุศลไปบีบไปเค้น เปลี่ยนคำจากโลภะเป็นฉันทะ จงใจเปลี่ยน ก็บอกว่ามาจากโยนิโสแต่จริงๆ ไม่ได้เกิดมาจากธรรมชาติเลย จงใจกระทำทั้งสิ้น จึงได้อกุศลมาแทนจากการจงใจค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย SOAMUSA  วันที่ 19 มี.ค. 2555

จากที่เคยเป็นอกุศลมากๆ หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสมากมาย แต่เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีตัวตนที่เปลี่ยนหรือไปบังคับบัญชาได้เลย เพราะธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม เท่านั้นจริงๆ ครับ.


กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย SOAMUSA  วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขออนุญาตนำธรรมะที่อาจารย์ตอบไว้ในกระทู้ เมตตา มาไว้ที่กระทู้นี้ด้วยนะคะเพื่อความเข้าใจ และเมื่อต้องการอ่านทบทวนจะได้อ่านให้ต่อเนื่องกันค่ะ

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

ประเด็นเรื่องความเมตตา ในเรื่อง ครูและศิษย์ก่อนนะครับ

จริงๆ แล้วเรื่องเมตตา เป็นเรื่องของจิตใจที่เป็นนามธรรม ส่วนการแสดงออกทางกายวาจา ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นเมตตา หรือ โลภะ แต่เมื่อใดที่มีการแบ่งแยก เลือกที่รัก มักที่ชัง เป็นต้น นั่นก็ไม่ใช่เมตตาแล้วครับ

ส่วนประเด็นเรื่องการพยายามตรึก นึกถึงเมตตา จิตจะได้เป็นกุศล อันนี้ไม่ถูกต้องนะครับ เพราะเมตตา ไม่ได้เกิดเพราะการพยายามนึกว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เพราะก็ไม่ต่างอะไรกับการท่อง นึกในใจ เป็นรูปแบบว่าเป็นอย่างนั้น นึกอย่างนั้น แต่จิตขณะนั้นมีเมตตาหรือไม่ คือ มีสภาพธรรมที่เมตตาจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแต่การตรึกนึกคิด เป็นรูปแบบ ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่จะมีเมตตา ตรงกันข้าม ผู้ที่ไม่ได้เตรียมที่จะนึกคิดเป็นรูปแบบอย่างนั้น แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ กุศลจิตก็เกิดได้เมื่อพบเหตุการณ์เฉพาะหน้า เกิดเมตตาคิดช่วยเหลือ หวังดี โดยไม่ได้มีรูปแบบการคิดอะไรเลย แต่จิตเป็นเมตตาแล้ว

ที่สำคัญที่สุด การคิดเพื่อให้เมตตาเกิด นั่นก็เท่ากับว่า ถูกหลอกแล้ว ด้วยโลภะ ที่อยากให้กุศลจิตเกิด ครับ ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง เมตตาจะเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องตระเตรียม แต่อาศัยการฟังพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นเอง ย่อมรู้ว่าอะไรควรไม่ควรและเกิดจิตเมตตาขึ้นมาได้ ในเหตุการณ์ที่ประจวบเฉพาะหน้าได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านกระทู้เมตตา ที่นี่ ...

เมตตาจิต


ความคิดเห็น 10    โดย pat_jesty  วันที่ 19 มี.ค. 2555

ธรรมเป็นอนันตา เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เมื่อยังมี ไม่ได้ดับพืชเชื้อของกิเลส ก็ยังมีเหตุให้เกิดขึ้นเป็นไป และสิ่งเดียวที่จะดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น คือ ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจถูก ซึ่งปัญญาก็ไม่มีใครที่จะทำได้อีกเช่นกัน เพราะขณะที่เข้าใจ ขณะนั้น คือ ปัญญา และ ปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจขึ้นๆ นั่นเอง ที่จะสะสมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สภาพธรรมที่ดีงามต่างๆ เกิดขึ้น ให้ชีวิตประจำวันน้อมที่จะเป็นไปตามทำนองคลองธรรมอย่างเป็นปกติ ด้วยเพราะมีปัญญาเป็นเครื่องชี้นำ ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย ลุงหมาน  วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอเรียนถามต่อครับ คิดว่าน่าจะเข้าได้กับกระทู้นี้ได้ดี

อุเบกขาเวทนา กับ ตัตตรมัชฌัตตา มีความแตกต่างกันอย่างไรครับ


ความคิดเห็น 12    โดย paderm  วันที่ 20 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 11 ครับ

ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี เกิดกับจิตฝ่ายดี จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย
ส่วนอุเบกขานั้นมีหลายความหมาย อุเบกขาที่เป็นความรู้สึก (เฉยๆ ) ก็มี เป็นเวทนาเจตสิก เป็นกลาง เพราะไม่เป็นไปในสุขในทุกข์ ซึ่งอุเบกขาเวทนาเกิดกับอกุศลก็ได้ ต่างกับตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เกิดกับอกุศลไม่ได้เลย อีกนัยหนึ่งอุเบกขา ก็หมายถึงตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกด้วย อย่างเช่น คงเคยได้ยิน อุเบกขาพรหมวิหาร อุเบกขาในที่นี้ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีแน่นอนเพราะเป็นพรหมวิหาร อุเบกขาในพรหมวิหาร ก็คือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนั่นเอง ไม่ใช่เวทนาความรู้สึก (เฉยๆ ) แสดงให้เห็นว่า อุเบกขาบางนัยก็หมายถึง ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก อุเบกขาบางนัยก็หมายถึง ปัญญาเจตสิกเช่น วิปัสสนูเบกขา เป็นต้น ดังนั้น อุเบกขาจึงมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ พระไตรปิฎก เล่ม ๗๕ หน้าที่ 457 ฉบับบมหามกุฏราชวิทยาลัย


ความคิดเห็น 13    โดย ลุงหมาน  วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 14    โดย chatchai.k  วันที่ 19 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย Dechachot  วันที่ 20 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ