มีคนบอกว่าการให้เงินแก่ขอทานเป็นการทำร้ายขอทานทางอ้อม
โดย Biggy  31 มี.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24658

พอดีดิฉันเป็นคนที่ชอบให้เงินขอทานค่ะ เพราะคิดว่าเป็นการทำบุญง่ายๆ และสบายใจดี แต่พอเดินไปกับเพื่อนทีไร เพื่อนจะชอบดุว่าทำแบบนี้ไม่ได้บุญ เพราะเป็นการส่งเสริมให้พวกขอทานมีเพิ่มขึ้นและพวกเอเย่นต์ขอทานที่กินค่าหัวคิวจะได้ใจ ยิ่งทำกันเป็นขบวนการมากขึ้น เขาบอกว่าไม่ควรจะให้อะไรเลยกับคนเหล่านี้เพราะเหมือนเป็นการทำร้ายทางอ้อม ดิฉันเก็บมาพิจารณา ว่าถ้าเป็นทางฝ่ายพระธรรมจะคิดแบบเดียวกันไหม อยากขอคำแนะนำจากท่านวิทยากรค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่การพิจารณาความจริง ตามธรรมแล้ว จะต้องพิจารณาเป็นทีละขณะจิต และพิจารณาที่เจตนาเป็นสำคัญ ครับ ไม่ใช่พิจารณาเป็นเรื่องยาวๆ ก็จะทำให้เข้าใจผิดได้ แม้แต่การให้เงินขอทาน ที่คิดว่าสนับสนุนขบวนการ สนับสนุนการจับเด็กมา หรือมีขอทานมากขึ้น หรือแม้แต่กรณีของการปล่อยปลาปล่อยสัตว์ก็คิดว่า จะทำให้เขาไปจับสัตว์มามากขึ้น ทำให้คนอื่นทำบาปมากขึ้น เป็นต้น อย่างนี้ก็ควรพิจารณาโดยละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งขอยกตัวอย่างดังนี้ ครับ

เจตนา เป็นกรรม เจตนาที่ดี ก็เป็นกุศลเจตนา เป็นกุศลจิต กุศลกรรม เช่น คิดช่วยเหลือ มีเมตตา เป็นต้น ซึ่งผลจากเจตนาดี ก็ต้องมีความสุขเป็นผล

ส่วนเจตนาที่ไม่ดี เกิดจากอกุศลจิต ที่เป็นทุจริต มีการทำด้วยการเบียดเบียน มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งผลของเจตนาที่ไม่ดี เป็นอกุศล ย่อมนำมาซึ่งผลที่ไม่ดี เพราะเป็นบาป ครับ

ดังนั้น ในประเด็นที่ถาม ผู้ที่ช่วยเหลือ หวังดี เจตนาดี เช่น การให้ขอทาน การปล่อยสัตว์ มีปลา เป็นต้น อย่างกรณีของการปล่อยนก ปล่อย ปลา ปล่อยสัตว์ เจตนาของผู้ปล่อยมีเจตนาให้สัตว์ปลอดภัย เป็นเจตนาที่เป็นกุศลกรรม ขณะนั้นไม่เป็นบาป แต่ เป็นบุญในขณะนั้น ส่วนการที่ปลาตาย เพราะการช่วยเหลือนั้น หากเรามองให้ละเอียดลึกลงไป ไม่มองสั้นๆ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า การที่สัตว์จะตายหรือไม่ตาย เพราะใคร เพราะกรรมของสัตว์นั้นเอง หากสัตว์นั้นไม่มีกรรมที่จะต้องถูกจับอีก หรือจะต้องตาย สัตว์ที่ถูกปล่อยนั้นก็ไม่ตาย แต่หากสัตว์นั้นมีกรรมที่จะต้องตาย สัตว์นั้นก็ต้องตาย ไม่ว่าจะถูกปล่อย หรือไม่ถูกปล่อยก็ตาม ครับ

พระพุทธศาสนา จึงตัดสินการกระทำที่เจตนาในขณะที่ทำกรรมในขณะนั้น ว่าเป็นเจตนาที่ดี เกิดจากกุศลจิต ก็เป็นกุศล เป็นบุญ ไม่บาป และเจตนาที่ไม่ดี ทุจริต ในขณะนั้น ก็เป็นบาป ครับ ไม่ได้วัดที่ผลที่เกิดจากผู้ที่ได้รับจากการกระทำผู้นั้นเป็นสำคัญ แต่สำคัญที่จิตของผู้กระทำและเจตนาเป็นสำคัญ ครับ

อย่างเช่น บางคนเจตนาไม่ดี ทุจริต เช่น ตั้งใจคิดจะฆ่าคนหนึ่ง แต่เพราะทำพลาด กลายเป็นช่วยเหลือคนนั้นให้รอดชีวิต หากวัดเพียงผลที่ทำให้ผู้นั้นรอดชีวิตก็กลายเป็นว่า สิ่งนั้นดี เพราะทำให้ผู้นั้นรอดชีวิต ทั้งๆ ที่เจตนาไม่ดี คือ เจตนาฆ่าในขณะนั้น แต่ในความเป็นจริง อกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลไม่เปลี่ยนแปลง เจตนาไม่ดีก็ต้องเป็นเจตนาที่ไม่ดี เป็นบาปในขณะนั้น ครับ

โดยนัยเดียวกับ การให้เงินขอทาน เจตนาที่ให้ เพราะต้องการช่วยเหลือ หวังดีในขณะนั้น จิตเป็นกุศล ขณะที่หวังดี ขณะนั้นมีเจตนาส่งเสริมการค้ามนุษย์หรือไม่ มีเจตนาสนับสนุนให้เกิดขอทานมากๆ หรือไม่ ไม่มี และที่ลืมไม่ได้อีกเช่นกัน การที่เด็กถูกจับมา หรือมีขอทานมากขึ้น เพราะจากการให้ของเรา หรือเหตุเพราะอกุศลกรรมที่เด็ก หรือขอทานคนนั้นทำ ทำให้ถูกจับมา หากเด็กไม่มีอกุศลกรรมที่ทำมา ก็จะไม่ถูกจับเลย ครับ

แพทย์ต้องการช่วยเหลือคนไข้ เจตนาดี แต่ทำสุดความสามารถแล้ว เกิดข้อผิดพลาดขณะที่ทำ ทำให้คนไข้เสียชีวิต แพทย์ มีเจตนาทำให้คนไข้ตายหรือไม่ หรือเจตนาช่วยเหลือ แม้ผลที่ออกมาทำให้คนไข้เสียชีวิต เมื่อเป็นเจตนาดี เป็นกุศลจิตที่คิดจะช่วยเหลือ ก็ไม่เป็นบาป เป็นกุศลในขณะนั้น ส่วนคนไข้ก็มีกรรมของตนเองที่จะต้องตาย ครับ

และที่เคยเป็นข่าว คนอยากจะกระโดดตึก ตำรวจเกลี้ยกล่อม เมื่อคนจะกระโดดเผลอ จึงวิ่งเข้าหา เพื่อล็อกตัว แต่พลาด ทำให้คนนั้นตกตึก ขณะที่ตก ก็พยายามจะหยิบคว้าสิ่งของให้ตัวเองรอดตาย แต่สุดท้ายก็ตกลงมาเสียชีวิต เจตนาตำรวจดี หรือไม่ดี เจตนาดี แต่ผลคือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หากวัดเพียงผล ก็กลายเป็นตำรวจบาป แต่ในความเป็นจริง ตำรวจมีเจตนาดี เป็นกุศล ไม่บาป แม้ผู้ที่ถูกช่วยเหลือจะเสียชีวิตก็ตาม ครับ

การที่ทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าสัตว์หรือไม่ เพราะหากคิดสั้นๆ ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ สัตว์ก็ตายน้อยลง แต่เพราะเรากินเนื้อกัน สัตว์เลยต้องตาย ขณะที่ทานเนื้อสัตว์ มีเจตนาฆ่าหรือไม่ ไม่มีเจตนาฆ่า จึงไม่เป็นการฆ่าสัตว์ หรือมีเจตนาสนับสนุนการฆ่าในขณะนั้น ส่วนสัตว์ หากไม่มีกรรมที่จะต้องตายของตนเอง ก็จะไม่ตาย ไม่ถูกจับฆ่าเลย แม้โดยทั่วไป เราก็ไม่ทานเนื้อมนุษย์กัน แต่ทำไมยังมีการฆ่ามนุษย์กันอยู่ เพราะ ตาย เพราะกรรมของบุคคลนั้นเอง ครับ

การปล่อยปลา การให้ขอทานก็โดยนัยเดียวกัน ตามที่กล่าวมาครับ พระพุทธศาสนา พิจารณาที่สภาพจิต สำคัญที่เจตนาในขณะนั้นว่าเป็นเจตนาดี หรือ ไม่ดี ที่จะเป็นกรรมดี กรรมชั่ว ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย jaturong  วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรทราบว่าการช่วยเหลือผู้อื่น มีการช่วยเหลือหลายวิธี ไม่ได้ติดอยู่ที่ว่าจะต้องให้เงินเท่านั้น อาจจะให้น้ำดื่ม อาหาร สิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ หรือคำพูดที่เป็นประโยชน์ก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือคนขอทานเขาต้องการเงิน เป็นต้น จึงมาขอทาน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตามที ถ้าเราไม่ให้เขาอาจจะอดอยากก็ได้ ที่สำคัญคือ เราเองต้องรู้ว่าสภาพจิตของเราเป็นอย่างไร ตามธรรมดาสภาพของจิตใจกลับกลอก เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ไม่ให้ด้วยจิตอะไร ถูกลวงหรือเปล่า? แต่ถ้าจิตอ่อนโยนแล้ว จะไม่ให้หรือ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทาน คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับขณะนั้น มีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือ แม้ว่าจะเล็กน้อย ก็คือ สภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ไม่ได้มีเจตนาเบียดเบียนเลย แม้แต่น้อย

ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้มีปกติเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ย่อมจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใดก็ตามทั้งทาน ศีล และ การอบรมเจริญปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โอกาสแห่งการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมทั้งยังเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นด้วย ทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อขัดเกลามลทิน คือ กิเลสของตนเอง อย่างแท้จริง

การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก กุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 31 มี.ค. 2557

ให้ขอทานไม่บาป ตรงข้าม จิตที่เป็นกุศลจึงให้ได้ ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย Biggy  วันที่ 3 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณค่ะ

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย napachant  วันที่ 6 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย jirat wen  วันที่ 3 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ