[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 565
เอกาทสกนิบาต
ทุติยวรรคที่ ๒
๗. โคปาลกสูตร
ว่าด้วยองค์ ๑๑ ของผู้เลี้ยงโค
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 565
๗. โคปาลกสูตร
ว่าด้วยองค์ ๑๑ ของผู้เลี้ยงโค
[๒๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลาย องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลในโลกนี้ย่อมไม่รู้จักรูป ๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ ๑ ไม่กำจัดไข่ขาง ๑ ไม่ปกปิดแผล ๑ ไม่สุมไฟ ๑ ไม่รู้ท่าน้ำ ๑ ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้วหรือยัง ๑ ไม่รู้ทาง ๑ ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑ รีดนมไม่ให้เหลือ ๑ ไม่บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโคเป็นผู้นำฝูงโคด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลาย ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็เป็นผู้ไม่สามารถจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรม ๑๑ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้จักรูป ๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ ๑ ไม่กำจัดไข่ขาง ๑ ไม่ปกปิดแผล ๑ ไม่สุมไฟ ๑ ไม่รู้ท่าน้ำ ๑ ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๑ ไม่รู้ทาง ๑ ไม่ฉลาดในโคจร ๑ รีดไม่ให้มีเหลือ ๑ ไม่บูชาภิกษุทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 566
ผู้เป็นรัตตัญญูบวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่รู้จักรูป อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า มหาภูตรูป ๔ และรูปอันอาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่รู้จักรูป อย่างนั้นแล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่ฉลาดในลักษณะ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่ฉลาดในลักษณะ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมให้กามวิตกที่บังเกิดขึ้นครอบงำ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่กระทำให้สิ้นสุดซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วถึงความไม่มี ย่อมให้พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ ฯลฯ ย่อมให้วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ ฯลฯ ย่อมให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่กระทำให้สิ้นสุดซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ไม่ให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วถึงความไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง อย่างนั้นแล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่ปกปิดแผล อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมถือเอาโดยนิมิต ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 567
ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ ชื่อว่าย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าย่อมไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ปกปิดแผล อย่างนั้นแล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่สุมไฟ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เรียนมาแล้ว แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าไม่สุมไฟ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้ชำนาญนิกาย ผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามเวลาอันสมควร ย่อมไม่สอบถาม ย่อมไม่ไต่ถามว่า ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร อรรถแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมไม่เปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมไม่ทำให้ตื้นข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น และไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมากอย่างแก่ภิกษุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่รู้ท่าน้ำ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลอื่นแสดงอยู่ ย่อมไม่ได้ความรู้อรรถ ไม่ได้ความรู้ธรรม ไม่ได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว อย่างนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 568
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่รู้ทาง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ตามความจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้ทาง อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่ฉลาดในโคจร อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร อย่างนั้นแล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรีดไม่ให้เหลือ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้ประมาณเพื่อการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ท่านคฤหบดีผู้มีศรัทธาปวารณาเพื่อนำไปได้ตามพอใจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรีดไม่ให้เหลือ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่บูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ย่อมไม่เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรม ย่อมไม่เข้าไปตั้งเมตตามโนกรรม ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่บูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้ เป็นผู้ไม่สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลายได้ องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 569
คือนายโคบาลในโลกนี้ ย่อมรู้จักรูป ๑ ฉลาดในลักษณะ ๑ กำจัดไข่ขาง ๑ ปกปิดแผล ๑ สุมไฟ ๑ รู้ท่าน้ำ ๑ รู้โคว่าดื่มน้ำแล้วหรือยัง ๑ รู้ทาง ๑ ฉลาดในที่หากิน ๑ รีดนมให้เหลือ ๑ บูชาโคผู้ที่เป็นพ่อโคเป็นผู้นำฝูงโคด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลายได้ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรม ๑๑ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักรูป ๑ ฉลาดในลักษณะ ๑ กำจัดไข่ขาง ๑ ปกปิดแผล ๑ สุมไฟ ๑ รู้ท่าน้ำ ๑ รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๑ รู้ทาง ๑ ฉลาดในโคจร ๑ รีดให้เหลือ ๑ บูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้จักรูป อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้รูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามเป็นจริงว่า มหาภูตรูป ๔ และรูปอาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้จักรูป อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมฉลาดในลักษณะ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ตามเป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉลาดในลักษณะ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมกำจัดไข่ขาง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ให้กามวิตกที่บังเกิดขึ้นครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้มีความสิ้นสุด ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วถึงความไม่มี ย่อมไม่ให้พยาบาทวิตกที่บังเกิดขึ้นครอบงำ ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 570
ย่อมไม่ให้วิหิงสาวิตกบังเกิดขึ้นครอบงำ ฯลฯ ย่อมไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้มีความสิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุกำจัดไข่ขาง อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมปกปิดแผล อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่าย่อมรักษามนินทรีย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมปกปิดแผล อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมสุมไฟ อย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงธรรมตามที่ตนฟังมาแล้ว ตามที่ตนเรียนมาแล้ว แก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมสุมไฟ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ท่าน้ำ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้ชำนาญนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา โดยกาลอันสมควร ย่อมสอบถามไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร อรรถแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร ท่าน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 571
เหล่านั้นย่อมเปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื้นในสิ่งที่ยังไม่ทำให้ตื้น และย่อมบรรเทาซึ่งความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมากอย่างแก่ภิกษุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุุย่อมรู้ท่าน้ำ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงอยู่ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ทาง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ตามเป็นจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ทาง อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมฉลาดในโคจร อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้สติปัฏฐาน ๔ ตามเป็นจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมฉลาดในโคจร อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรีดให้เหลือ อย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ประมาณเพื่อการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่คฤหบดีผู้มีศรัทธาปวารณาเพื่อนำไปได้ตามพอใจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรีดให้เหลือ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมบูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าไปตั้งเมตตากายกรรม ทั้งในที่แจ้ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 572
ทั้งในที่ลับ ย่อมเข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ในภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมบูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้.
จบโคปาลกสูตรที่ ๗
อรรถกถาโคปาลกสูตรที่ ๗
โคปาลกสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
มีกถาอยู่ ๓ กถาคือ เอกนาฬิกากถา ๑ จตุรัสสากถา ๑ นิสินนวัตติกากถา ๑ ใน ๓ กถานั้น การกล่าวบาลีแล้วกล่าวความแห่งบทไปทีละบท ชื่อว่าเอกนาฬิกากถา การกล่าวผูกให้เป็น ๔ บทดังนี้ว่า นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด ภิกษุผู้ไม่ฉลาด นายโคบาลผู้ฉลาด ภิกษุผู้ฉลาด ชื่อว่าจตุรัสสากถา และกถาอย่างนี้คือ การแสดงนายโคบาลผู้ไม่ฉลาดไปจนจบ การแสดงภิกษุผู้ไม่ฉลาดไปจนจบ การแสดงนายโคบาลผู้ฉลาดไปจนจบ การแสดงภิกษุผู้ฉลาดไปจนจบ ชื่อว่านิสินนวัตติกากถา. กถานี้อาจารย์ทุกอาจรย์ในพระศาสนานี้เคยประพฤติมาแล้ว.
บทว่า เอกาทสหิ ภิกฺขเว องฺเคหิ ได้แก่ โดยส่วนที่มิใช่คุณ ๑๑ ประการ. บทว่า โคคณํ ได้แก่ ฝูงโค. บทว่า ปริหริตุํ ได้แก่ เพื่อจะพาเที่ยวไป. บทว่า ผาติกาตุํ ได้แก่ เพื่อให้ถึงความเติบโต.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 573
บทว่า อิธ แปลว่า ในโลกนี้. บทว่า น รูปญฺญู โหติ ความว่า ย่อมไม่รู้จักรูปโดยจำนวนหรือโดยสี ย่อมไม่รู้การนับว่า โคของตนมี ๑๐๐ ตัว หรือ ๑,๐๐๐ ตัว ชื่อว่าย่อมไม่รู้โดยจำนวน. นายโคบาลนั้น เมื่อโคทั้งหลายถูกขโมยไปหรือหนีไป ก็นับฝูงโคของตน รู้ว่าวันนี้แม่โคจำนวนเท่านี้ไม่เห็น ก็เที่ยวไปตลอด ๒ - ๓ หมู่บ้าน หรือตลอดดงก็หาไม่ได้ เมื่อแม่โคของคนอื่นเข้าไปยังฝูงโคของตน ก็รู้ว่าแม่โคจำนวนเท่านี้ ไม่ใช่ของเรา ก็เอาไม้ไล่ต้อนไม่คัดออก แม่โคทั้งหลายของนายโคบาลนั้น ที่หายไป ก็เป็นอันสูญหายไปเลย นายโคบาลก็พาแม่โคของคนอื่นเที่ยวไป เจ้าของโคเห็นก็ตะคอกว่า นี่แม่โคนมของเรารีดนมตลอดเวลาเท่านี้ แล้วก็พาแม่โคของตนไป แม้ฝูงโคของเขาก็ลดลง เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างแม้จากการบริโภคปัญจโครส นายโคบาลไม่รู้ว่าแม่โคจำนวนเท่านี้ สีแดงจำนวนเท่านี้ สีขาวเท่านี้ สีดำเท่านี้ สีผ่องเท่านี้ สีแดงอ่อนเท่านี้ ชื่อว่าไม่รู้โดยสี นายโคบาลนั้น เมื่อแม่โคทั้งหลายถูกขโมยหรือหนีไป ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากการบริโภคปัญจโครส.
บทว่า น ลกฺขณกุสโล โหติ ความว่า ย่อมไม่รู้เครื่องหมายอันต่างโดยเป็นธนู หอก และหลาว เป็นต้น ที่เขาทำไว้ที่ตัวของแม่โคทั้งหลาย เมื่อใดถูกลักไปหรือหนีไป เขาคิดว่า วันนี้โคลักษณะชื่อโน้น และโคมีลักษณะชื่อโน้นไม่เห็น ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างแม้จากการบริโภคปัญจโครส.
บทว่า น อาสาฏิกํ สาเฏตา ความว่า โคทั้งหลายย่อมมีแผล ในที่ๆ ถูกตอและหนามเป็นต้นแทงเอา แมลงวันหัวเขียวย่อมหยอดไข่ขางในที่มีแผลนั้น ฟองไข่ของแมลงวันเหล่านั้น ชื่อว่าไข่ขาง พึงใช้ไม้เขี่ย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 574
ไข่ขางนั้นออกเสียแล้วใส่ยา. นายโคบาลโง่ ไม่กระทำอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า น อาสาฏิกํ สาเฏตา โหติ. แผลของโคของเขาย่อมขยายลึก หนอนทั้งหลายก็เข้าท้อง โคทั้งหลายก็เจ็บป่วย ไม่สามารถจะกินหญ้าดื่มน้ำได้ตามต้องการ. น้ำนมของโคทั้งหลายในฐานะนั้นย่อมขาดไป ความเร็วของโคก็เสื่อมถอย อันตรายแห่งชีวิตของโคทั้งสองพวกนั้นก็ย่อมมี แม้ฝูงโคของเขาย่อมลดลง ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างแม้จากปัญจโครส.
บทว่า น วณํ ปฏิจฺฉาเทตา โหติ ความว่า พึงใส่ยาในแผลที่เกิดแก่โคโดยนัยดังกล่าวแล้ว ผูกปิดด้วยปอหรือผ้าคากรอง. นายโคบาลโง่ ไม่กระทำดังนั้น. ต่อนั้น หนองย่อมไหลออกจากแผลของโคของเขา. แม่โคเหล่านั้นย่อมเสียดสีซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนั้น แผลของโคเหล่าอื่นก็เกิดขึ้น. โคทั้งหลายก็เจ็บป่วยด้วยอาการอย่างนี้ ไม่อาจกินหญ้าดื่มน้ำได้ตามความต้องการ ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างแม้จากการบริโภคปัญจโครส.
บทว่า น ธูมํ กตฺตา โหติ ความว่า ภายในหน้าฝน ในเวลาเป็นที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์เล็กๆ มีเหลือบและยุงเป็นต้น เมื่อฝูงโคเข้าคอก นายโคบาลพึงสุมควันใกล้ๆ คอกนั้น. นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด ไม่ทำดังนั้น ฝูงโคถูกสัตว์เล็กๆ มีเหลือบเป็นต้น รบกวนตลอดคืนยังรุ่ง ไม่ได้หลับนอน รุ่งขึ้น ไปนอนหลับที่โคนไม้เป็นต้นนั้นๆ ในป่า โคเหล่านั้นก็ไม่อาจกินหญ้าและดื่มน้ำได้ตามต้องการ ฯลฯ นายโคบาลนั้นก็เหินห่างแม้จากการบริโภคปัญจโครส.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 575
บทว่า น ติตฺถํ ชานาติ ความว่า ย่อมไม่รู้ท่าว่า เรียบหรือไม่เรียบ มีสัตว์ร้ายหรือไม่มีสัตว์ร้าย นายโคบาลนั้นย่อมให้แม่โคลงในที่มิใช่ท่า เมื่อแม่โคเหล่านั้น เหยียบแผ่นหินเป็นต้น ในที่ไม่เรียบ เท้าก็แตก. สัตว์ร้ายมีจระเข้เป็นต้น ย่อมจับแม่โคที่ลงท่าน้ำลึกมีสัตว์ร้าย. แม่โคทั้งหลายก็จะต้องถูกเขากล่าวว่า วันนี้แม่โคหายจำนวนเท่านี้ วันนี้แม่โคหายจำนวนเท่านี้. แม้ฝูงโคของนายโคบาลนั้นย่อมลดลง ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างแม้จากปัญจโครส.
บทว่า น ปีตํ ชานาติ ความว่า ย่อมไม่รู้ว่า โคดื่มน้ำแล้วหรือยัง จริงอยู่ นายโคบาลควรจะรู้ว่าโคดื่มน้ำแล้วหรือยังไม่ได้ดื่มอย่างนี้ว่า แม่โคนี้ดื่มน้ำแล้ว แม่โคนี้ยังไม่ได้ดื่มน้ำ แม่โคนี้ได้โอกาสที่ท่าดื่มน้ำ แม่โคนี้ไม่ได้โอกาส. ก็นายโคบาลนี้รักษาฝูงโคในป่าครึ่งวันแล้วคิดว่าจะให้มันดื่มน้ำ ก็พาไปยังแม่น้ำหรือบึง. ในที่นั้น โคจ่าฝูงแลโคลูกฝูง และแม่โคมีกำลังก็จะเอาเขาหรือสีข้างกระแทกโคที่มีกำลังน้อย และกระทำโอกาสให้แก่ตน แล้วลงน้ำแค่อกดื่มน้ำตามพอใจ. โคนอกนั้นเมื่อไม่ได้โอกาสก็ยืนที่ฝั่ง ดื่มน้ำปนโคลนหรือไม่ดื่ม ทีนั้น นายโคบาลนั้นก็จะตีที่หลังไล่เข้าป่าไปอีก แม่โคที่มิได้ดื่มน้ำในที่นั้น ก็เหนื่อยอ่อน เพราะกระหายน้ำ ก็กินหญ้าตามความต้องการไม่ได้. ในฐานะนั้น น้ำนมของโคทั้งหลายก็ขาดไป ความไวของโคทั้งหลายก็ลดไป ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างจากการบริโภคปัญจโครส.
บทว่า น วีถิํ ชานาติ ความว่า ย่อมไม่รู้ว่า ทางนี้เรียบปลอดภัย ทางนี้ไม่เรียบ น่ารังเกียจ น่ามีภัย นายโคบาลนั้น เว้นทางที่เรียบและปลอดภัย ให้ฝูงโคเดินไปทางนอกนี้. ในที่นั้น โคทั้งหลายได้กลิ่นราชสีห์และเสือเป็นต้น และอันตรายจากโจรคุกคาม เผชิญสัตว์ร้ายจู่โจม ยืนชะเง้อ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 576
คอไม่กินหญ้า ไม่ดื่มน้ำตามต้องการ ในฐานะนั้น น้ำนมของโคนั้นก็ขาดไป ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างจากการบริโภคปัญจโครส.
บทว่า น โคจรกุสโล โหติ ความว่า ก็นายโคบาลพึงเป็นผู้ฉลาดในโคจร พึงรู้ครั้งละ ๕ วัน หรือครั้งละ ๗ วัน ต้อนโคไปในทิศหนึ่ง วันรุ่งขึ้นไม่พึงต้อนไปในทิศนั้น ด้วยว่า สถานที่ที่โคฝูงใหญ่เที่ยวมาแล้วย่อมเหี้ยนเตียนเหมือนหน้ากลองไม่มีหญ้า แม้แต่น้ำก็ขุ่น เพราะฉะนั้น ในวันที่ ๕ หรือที่ ๗ นายโคบาลจึงควรต้อนไปในที่นั้นอีก ด้วยเหตุเท่านี้ ทั้งหญ้าก็กลับงอกขึ้น ทั้งน้ำก็ใส ก็นายโคบาลนี้ ไม่รู้ครั้งละ ๕ วันหรือ ๗ วันอันนี้ ย่อมเลี้ยงโคในที่ที่เลี้ยงแล้วทุกๆ วัน. ดังนั้น ฝูงโคของนายโคบาลก็ไม่ได้กินหญ้าสด กินแต่หญ้าแห้ง ดื่มแต่น้ำปนโคลน. ในฐานะนั้น น้ำนมของโคทั้งหลายก็ขาดไป ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างจากการบริโภคปัญจโครส.
บทว่า อนวเสสโทหี โหติ ความว่า ก็นายโคบาลผู้ฉลาดพึงรีดนมโคให้เหลือไว้ เว้นนมไว้เต้าหนึ่งสองเต้าพอที่เนื้อและเลือดของลูกโคจะคงอยู่ได้. นายโคบาลนี้รีดไม่ให้อะไรๆ เหลือไว้เลยสำหรับลูกโค. ลูกโคที่ดื่มนมโค ก็จะซูบซีด เพราะกระหายน้ำนม ไม่อาจดำรงอยู่ได้ สั่นล้มลงตายต่อหน้าแม่ แม่เห็นลูกน้อย คิดว่าลูกเราไม่ได้ดื่มนมแม่ของตน ด้วยความเศร้าโศกก็กินหญ้าดื่มน้ำไม่ได้ตามต้องการ น้ำนมในเต้า นมทั้งหลายก็ขาดไป แม้ฝูงโคของนายโคบาลนั้นก็ลดลง ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างแม้จากปัญจโครส.
ชื่อว่า โคบิดร เพราะทำหน้าที่พ่อของโคทั้งหลาย ชื่อว่า โคปริณายก เพราะบริหารโคทั้งหลาย คือพาไปตามชอบใจ. บทว่า เต น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 577
อติเรกปูชาย ความว่า นายโคบาลผู้ฉลาด ย่อมบูชาโคอุสภะเห็นปานนั้น ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ย่อมให้อาหารโคอันประณีต. ย่อมประดับด้วยการเจิมด้วยของหอม ๕ นิ้ว ประดับพวงมาลัย สวมปลอกทองปลอกเงินไว้ที่เขา ตามประทีปไว้ตลอดคืน ให้นอนภายใต้เพดานผ้า ก็นายโคบาลนี้ ย่อมไม่กระทำสักการะแม้แต่อย่างเดียวจากสักการะนั้น เหล่าโคอุสภะเมื่อไม่ได้การบูชาอย่างเหลือเกิน ก็ไม่รักษาฝูงโค ย่อมไม่ป้องกันอันตราย แม้ฝูงโคของนายโคบาลนั้น ย่อมลดลงด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ เขาย่อมเป็นผู้เหินห่างจากปัญจโครส.
บทว่า อิธ ได้แก่ ในศาสนานี้. บทว่า น รูปญฺญู โหติ ความว่า ย่อมไม่รู้รูปที่ตรัสไว้ด้วยอาการ ๒ อย่างนี้ คือมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ โดยการนับหรือโดยสมุฏฐาน ภิกษุผู้ไม่ฉลาด ย่อมไม่รู้ว่าส่วนแห่งรูปมี ๒๕ ที่มาในพระบาลีอย่างนี้คือ อายตนะคือจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ รูปะ สัททะ คันธะ รสะ โผฏฐัพพะ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ อากาสธาตุ (ปริเฉทรูป) อาโปธาตุ รูปัสสะ ลหุตา (ความเบาแห่งรูป) รูปัสสะ มุทุตา (ความอ่อนแห่งรูป) รูปัสสะ กัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งรูป) รูปัสสะ อุปัจจยะ (ความก่อขึ้นแห่งรูป) รูปัสสะ สันตติ (ความสืบต่อแห่งรูป) รูปัสสะ ชรตา (ความแก่แห่งรูป) รูปัสสะ อนิจจตา (ความไม่เที่ยงแห่งรูป) กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) ชื่อว่าไม่รู้โดยการนับ. ภิกษุนี้ก็เปรียบเหมือนนายโคบาลผู้ไม่รู้จักรูปของโคทั้งหลายโดยการนับ. ภิกษุนั้นเมื่อไม่รู้รูปทั้งหลายโดยการนับ กำหนดรูป แล้วกำหนดอรูป (นาม) แล้วกำหนดรูปและนาม กำหนดปัจจัย ยกขึ้นสู่ลักษณะ ไม่อาจให้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 578
กรรมฐานถึงที่สุดได้. ภิกษุนั้นย่อมไม่เจริญด้วยศีล สมาธิ วิปัสสนา มรรคผล และนิพพานในศาสนานี้ เหมือนฝูงโคของนายโคบาลนั้น ไม่เพิ่มขึ้นฉะนั้น. อนึ่ง ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากธรรมขันธ์ ๕ คือศีลขันธ์อันเป็นอเสกขะ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันเป็นอเสกขะ เหมือนนายโคบาลนั้นเป็นผู้เหินห่างจากปัญจโครสฉะนั้น. ภิกษุนั้นย่อมไม่รู้ว่า รูปมีประมาณเท่านี้ มีสมุฏฐานเดียว รูปมีประมาณเท่านี้ มี ๒ สมุฏฐาน รูปมีประมาณเท่านี้ มี ๓ สมุฏฐาน รูปมีประมาณเท่านี้ มี ๔ สมุฏฐาน รูปมีประมาณเท่านี้ ไม่เกิดแต่สมุฏฐานไหน ชื่อว่าไม่รู้โดยสมุฏฐาน. ภิกษุนี้ก็เปรียบเหมือนนายโคบาลนั้น ย่อมไม่รู้รูปของโคทั้งหลายโดยสี. ภิกษุนั้นเมื่อไม่รู้รูปโดยสมุฏฐาน กำหนดรูป แล้วกำหนดอรูป (นาม) ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า น ลกฺขณกุสโล โหติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่รู้กุศลธรรมและอกุศลธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ ดังนี้ว่า ลักษณะของบุคคลผู้เป็นพาลและเป็นบัณฑิต. ภิกษุนั้นเมื่อไม่รู้อย่างนี้ เว้นคนพาลแล้ว ย่อมไม่เสพบัณฑิต. เมื่อเว้นคนพาลไม่เสพบัณฑิตอยู่ ชื่อว่าย่อมไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร. กรรมที่เป็นกุศลและอกุศลกรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ กรรมหนักและเบา กรรมที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เหตุและมิใช่เหตุ เมื่อไม่รู้ดังนั้น รับกรรมฐานไปแล้ว ก็ไม่อาจให้เจริญได้ ภิกษุนั้นย่อมไม่เจริญด้วยศีลเป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วในพระศาสนานี้ เหมือนฝูงโคของนายโคบาลผู้ไม่ฉลาดนั้น ไม่เพิ่มขึ้นได้ฉะนั้น. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 579
เหินห่างจากธรรมขันธ์ ๕ เหมือนนายโคบาลผู้ไม่ฉลาดนั้น เหินห่างจากปัญจโครสฉะนั้น.
บทว่า น อสาฏิกํ สาเฏตา โหติ ความว่า ภิกษุไม่บรรเทากามวิตกเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า กามวิตกเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้. ภิกษุนั้นไม่ทำอกุศลวิตกนี้ให้หมดจดแล้ว เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งวิตกเที่ยวไป รับกรรมฐานแล้ว ก็ไม่อาจให้เจริญได้. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เหินห่าง ฯลฯ เหมือนฝูงโคของนายโคบาลฉะนั้น.
บทว่า น วณํ ปฏิจฺฉาเทตา โหติ ความว่า ภิกษุนั้นถือเอานิมิตในอารมณ์ทั้งปวง โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต ดังนี้ ย่อมไม่ยังความสำรวมให้ถึงพร้อม เหมือนนายโคบาลผู้ไม่ฉลาดนั้น ไม่ปิดแผลฉะนั้น. ภิกษุนั้นเป็นผู้เปิดทวารเที่ยวไป รับกรรมฐานแล้วก็ไม่อาจทำให้เจริญได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า น ธูมํ กตฺตา โหติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่กระทำการสุมควัน คือธรรมเทศนา ไม่กล่าวธรรม ไม่สวดสรภัญญะ ไม่นั่งสนทนาธรรม ไม่กระทำอนุโมทนา เหมือนนายโคบาลไม่สุมควันไฟ. จากนั้นมนุษย์ทั้งหลาย ก็ไม่รู้จักภิกษุนั้น ว่าภิกษุนี้เป็นพหูสูต เป็นผู้มีคุณธรรม ดังนี้. มนุษย์เหล่านั้น เมื่อไม่รู้คุณหรือมิใช่คุณ ก็ไม่กระทำการสงเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔. ภิกษุนั้น เมื่อลำบากด้วยปัจจัยทั้งหลาย ย่อมไม่อาจเพื่อจะทำการสาธยายพระพุทธวจนะ ไม่อาจบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ รับกรรมฐานแล้ว ย่อมไม่อาจให้เจริญได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 580
บทว่า น ติตฺถํ ชานาติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ผู้เป็นดุจท่าน้ำ เมื่อไม่เข้าไปหา ย่อมไม่ได้สอบถาม ย่อมไม่ได้ไต่ถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ จะพึงบำเพ็ญพยัญชนะนี้ให้บริบูรณ์ได้อย่างไร ภาษิตนี้มีอรรถว่าอย่างไร ในที่นี้บาลีว่าอย่างไร ในที่นี้อธิบายอย่างไร ในที่นี้อรรถแสดงอะไร อธิบายว่า ย่อมไม่ทำให้เขารู้. ภิกษุผู้เป็นพหูสูตเหล่านั้น อันภิกษุนั้นมิได้ถามอย่างนี้ ย่อมไม่เปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมไม่จำแนกแสดงธรรม ย่อมไม่กระทำข้อความที่ยังไม่ตื้นให้ตื้นขึ้น และย่อมไม่กระทำธรรมที่ไม่ปรากฏให้ปรากฏ และย่อมไม่บรรเทาความสงสัยสักอย่างหนึ่ง ในบรรดาความสงสัยซึ่งมีมากประการ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยซึ่งมีมากอย่าง. จริงอยู่ ความสงสัยนั่นแหละ ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย บรรดาความสงสัยเหล่านั้น แม้ข้อเดียวก็มิได้นำออกไป. ภิกษุนั้นไม่เข้าไปหาท่าน้ำ คือภิกษุผู้พหูสูตอย่างนี้ ยังมีความสงสัย รับกรรมฐานแล้ว ก็ไม่อาจให้เจริญได้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุนี้ย่อมไม่รู้ท่าน้ำคือธรรม เหมือนนายโคบาลนั้นไม่รู้จักท่าน้ำ เมื่อไม่รู้ย่อมถามปัญหาในที่มิใช่วิสัย เข้าไปภิกษุผู้ชำนาญอภิธรรม ก็ถามวินัยที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ เข้าไปหาพระวินัยธร ก็ถามถึงการกำหนดรูปและนาม. ภิกษุเหล่านั้น ก็ตอบคำถามในที่มิใช่วิสัยไม่ได้. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความสงสัยอยู่ด้วยตน รับกรรมฐานแล้ว ก็ไม่อาจทำให้เจริญได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า น ปีตํ ชานาติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่รู้ ย่อมไม่ได้ความปราโมทย์ที่อิงธรรม เหมือนนายโคบาลไม่รู้ว่าโคทั้งหลายดื่มน้ำแล้ว
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 581
หรือยังมิได้ดื่ม ฉะนั้น ย่อมไม่ได้อานิสงส์อาศัยบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยการฟัง. ครั้นไปยังโรงฟังธรรม ก็ไม่ฟังโดยเคารพ กลับนั่งหลับ พูดคุย ส่งใจไปในที่อื่น. ภิกษุนั้นเมื่อไม่ฟังธรรมโดยเคารพ รับกรรมฐานแล้ว ก็ไม่อาจทำให้เจริญได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า น วีถิํ ชานาติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่รู้ชัดตามความจริง ซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ว่า ทางนี้เป็นโลกิยะ ทางนี้เป็นโลกุตระ ดังนี้ เหมือนนายโคบาลไม่รู้ทางและมิใช่ทางฉะนั้น. เมื่อไม่รู้ทาง ยึดมั่นทางอันเป็นโลกิยะแล้ว ไม่อาจทำทางที่เป็นโลกุตระให้บังเกิดได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า น โคจรกุสโล โหติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ว่า เหล่านี้เป็นโลกิยะ เหล่านี้เป็นโลกกุตระ เหมือนนายโคบาลผู้ไม่รู้จักวาระ ๕ วัน ๗ วัน เมื่อไม่รู้ ไม่น้อมญาณของตนเข้าไปในกรรมฐานอันสุขุมละเอียด ยึดมั่นในสติปัฏฐานอันเป็นโลกิยะ ก็ไม่อาจทำสติปัฏฐานที่เป็นโลกุตระให้บังเกิดได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า อนวเสสโทหี โหติ ความว่า ภิกษุนั้นเมื่อไม่รู้ประมาณในการรับ ชื่อว่าย่อมรีดโดยไม่มีส่วนเหลือ. ก็ในนิเทสวาระแห่งคำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้. บทว่า อภิหฏฺฐุํ ปวาเรนฺติ ความว่า นำไปจำเพาะปวารณา.
การนำไปโดยเฉพาะ มี ๒ อย่าง คือการนำไปโดยเฉพาะด้วยวาจา ๑ การนำไปโดยเฉพาะด้วยปัจจัย ๑. มนุษย์ทั้งหลายไปยังสำนัก
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 582
ของภิกษุ ย่อมปวารณาว่า ท่านขอรับ ท่านมีความต้องการสิ่งใด จงบอก ชื่อว่าการนำไปโดยเฉพาะด้วยวาจา. มนุษย์ทั้งหลายถือเอาผ้าหรือเนยใส และเนยข้นเป็นต้น ไปยังสำนักของภิกษุ แล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านมีความต้องการเท่าใด โปรดรับไว้. ชื่อว่าการนำไปเฉพาะด้วยปัจจัย.
บทว่า ตตฺร ภิกฺขุ มตฺตํ น ชานาติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่รู้ประมาณในปัจจัยเหล่านั้น. อธิบายว่า ภิกษุไม่รับเอาสิ่งของที่สมควรแก่ประมาณ โดยทำนองนี้ว่า พึงทราบอำนาจของทายก พึงทราบอำนาจไทยธรรม พึงทราบกำลังของตน ย่อมรับเอาปัจจัยที่พวกทายกนำมาทั้งหมด. มนุษย์ทั้งหลายร้อนใจจึงไม่นำมาปวารณาอีก ภิกษุนั้นเมื่อลำบากด้วยปัจจัยทั้งหลาย รับกรรมฐานแล้ว ไม่อาจให้เจริญได้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม.
บทว่า เต น อติเรกปูชาย ปูเชตา โหติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่บูชาภิกษุเหล่านั้นด้วยบูชาอย่างยิ่ง ที่มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตาเป็นต้น ทั้งในที่แจ้งและที่ลับนี้ เหมือนนายโคบาลนั้นไม่ยกย่องบูชาโคจ่าฝูง แต่นั้นพระเถระเหล่านั้นคิดว่า พวกนี้ไม่ทำความเคารพยำเกรงในพวกเรา จึงไม่สงเคราะห์พวกภิกษุใหม่ ด้วยการสงเคราะห์ ๒ อย่าง คือไม่สงเคราะห์ด้วยธรรมสังคหะ ๑ ไม่สงเคราะห์ด้วยอามิสสังคหะ ๑. ย่อมสงเคราะห์ด้วยอามิสสังคหะ คือด้วยจีวร หรือด้วยด้าย หรือด้วยวัตถุ อันเนื่องด้วยบาตร หรือด้วยที่อยู่. พระเถระเหล่านั้นย่อมไม่ทะนุบำรุงภิกษุ ผู้ใหม่ทั้งหลาย ผู้กำลังลำบาก ซูบซีดอยู่ ไม่ให้ศึกษาบาลี อรรถกถา กล่าวหรือแต่งธรรมกถาหรือคัมภีร์อันมีอรรถลี้ลับ. ภิกษุใหม่ทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 583
เมื่อไม่ได้การสงเคราะห์ทั้งสองอย่างนั้น จากสำนักพระเถระทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง ย่อมไม่อาจดำรงอยู่ในพระศาสนานี้ได้ ย่อมไม่เจริญศีลขันธ์เป็นต้น เหมือนฝูงโคของนายโคบาลนั้น ย่อมไม่เพิ่มขึ้น. ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากธรรมขันธ์ ๕ เหมือนนายโคบาลนั้นเหินห่างจากปัญจโครสฉะนั้น. ธรรมฝ่ายขาว (กุศลธรรม) ก็พึงทราบการประกอบความด้วยอำนาจความแผกกัน จากข้อความที่กล่าวไว้แล้วในธรรมฝ่ายดำ.
จบอรรถกถาโคปาลกสูตรที่ ๗