ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “มรณ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า มรณ เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก มร ธาตุ ลงในอรรถว่า ตาย + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน แล้วแปลง น เป็น ณ จึงสำเร็จรูปเป็น มรณ (อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - ระ - นะ อ่านตามภาษาไทยได้ทั้ง มอ - ระ - นะ, มะ - ระ - นะ) เขียนเป็นไทย ว่า มรณะ แปลว่า ความตาย ดังอรรถที่ปรากฏใน พระอภิธรรมปิฎก พระวิภังคปกรณ์ ว่า มรณะ เป็นไฉน?
ความเคลื่อน ภาวะที่เคลื่อน ความทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่ามรณะ
พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับความตาย ที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเครื่องเตือนที่ดีเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต มีดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
“ท่านจงดูเอาเถิด เมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตาย กำลังแลดู รำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้น ถูกความตายนำไปเหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่า ถูกนำไปตัวเดียว ฉะนั้น, ความตาย และความแก่ กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย ทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”
(ข้อความบางตอนจาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สัลลสูตร)
พระเตมิยกุมาร (พระโพธิสัตว์) กราบทูลพระราชบิดา ว่า “มหาบพิตร จงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำซึ่งเต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น”
(ข้อความบางตอนจาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เตมิยชาดก)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า
“มัจจุราช (ความตาย) มิได้มีความเกรงใจเลยว่าผู้นี้เป็นกษัตริย์ ผู้นี้เป็นพราหมณ์ ผู้นี้มั่งคั่ง ผู้นี้มีกำลัง ผู้นี้มีเดชานุภาพ ย่อมย่ำยีทั่วไปหมด”
(จาก... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก อโยฆรชาดก)
ความตาย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชาติหนึ่งๆ เป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ทำกิจจุติ คือ ทำกิจเคลื่อนหรือพรากให้สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ จะกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ความตาย เป็นความจริงที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้น เมื่อถึงคราวตาย ใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ ใครๆ ก็ต้านทานไว้ไม่ได้ เราจักต้องตายแน่แท้ เราจะต้องตายเหมือนกับคนที่ตายไปแล้วนั่นแหละ
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา แสดงความตาย ไว้ ๓ อย่าง คือ
- ขณิกมรณะ การตายชั่วขณะ เป็นการตายแต่ละขณะ เป็นการแตกดับของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา
- สมมติมรณะ การตายโดยสมมติ หมายถึง ความตายของสัตว์บุคคลในภพหนึ่งชาติหนึ่ง เช่น นายติสสะ ตายแล้ว นายปุสสะ ตายแล้ว เป็นต้น
-สมุจเฉทมรณะ การตายของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีปฏิสนธิ อีกต่อไป
ถึงอย่างไรก็จะต้องถึงวันที่จะต้องตายอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว แต่ช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ควรที่จะเป็นโอกาสของการสะสมคุณงามความดี เจริญกุศลประการต่างๆ ตามกำลังความสามารถของตนเองที่พอจะเป็นไปได้ รวมถึงการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าจะเป็นวันไหนและเวลาใด เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย จึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ แต่ระลึกแล้วเกิดสติและปัญญาเพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาท ด้วยการเริ่มต้นจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ พร้อมทั้งตั้งตนไว้ชอบ คือ ศึกษาพระธรรมแล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และไม่ประมาทในอกุศลแม้จะเล็กน้อยด้วย จึงจะเป็นชีวิตที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์อย่างแท้จริง บุคคลผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ ย่อมจะไม่เดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในที่สุดแล้วทุกคนก็จะต้องหายไปจากโลกนี้ ด้วยกันทั้งนั้น (ตาย) อย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้หายไปนั้น ทำอะไร?
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนา อ.คำปั่นค่ะ