[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 574
๔. นังคุฏฐชาดก
ว่าด้วยบูชาไฟด้วยหางวัว
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 574
๔. นังคุฏฐชาดก
ว่าด้วยบูชาไฟด้วยหางวัว
[๑๔๔] "ไฟไม่ใช่ผู้ดี ที่เราบูชาเจ้าด้วยหางแม้เท่านี้ ก็มากไปแล้ว วันนี้เนื้อไม่มีสำหรับเจ้าผู้ชอบเนื้อ ท่านอัคคีผู้เจริญ จงรับเอาแต่เพียงหางไปเถิด".
จบ นังคุฏฐชาดกที่ ๔
อรรถกถานังคุฏฐชาดกที่ ๔
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภตบะที่ผิดของพวกอาชีวก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "พหุมฺเปตํ อสพฺภิ ชาตเวท" ดังนี้.
ได้ยินว่า ในครั้งนั้นพวกอาชีวกพากันประพฤติตบะผิดมีประการต่างๆ ที่หลังพระเชตวันมหาวิหาร ภิกษุทั้งหลายจำนวนมาก เห็นตบะที่ผิด อาทิเช่น อุกกุฏิกัปปธานะ (ตั้งหน้าในการนั่งกระโหย่ง) วัคคุลิวัตร (ทำอย่างค้างคาว) กัณฏกาปัสสยะ (นอนบนหนาม) ปัญจตมนะ (ย่างด้วยไฟ ๕ กอง) ของพวกนั้น พากันกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุศลหรือความเจริญ อาศัยตบะที่ผิดทั้งนี้ จะมีได้หรือ พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลหรือ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 575
ความเจริญ อาศัยตบะที่ผิดอย่างนี้มีไม่ได้ ในครั้งก่อนบัณฑิตสำคัญเสียว่า อาศัยตบะอย่างนี้ กุศลหรือความเจริญคงมีได้ ถือเอาไฟประจำกำเนิดเข้าป่า ไม่พบความเจริญอะไรเลย ด้วยอำนาจการบูชาไฟเป็นต้นจึงเอาน้ำดับไฟเสีย บำเพ็ญกสิณบริกรรม ให้อภิญญาสมาบัติบังเกิดแล้ว ได้ไปพรหมโลกต่อไป แล้วทรงนำเรื่องราวในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ ในวันที่ท่านเกิด บิดามารดาก็จุดไฟประจำกำเนิดตั้งไว้ให้ ครั้นท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี บิดามารดาบอกท่านว่า ลูกเอ๋ยในวันที่เจ้าเกิด เราจุดไฟไว้ให้ ถ้าเจ้าประสงค์จะครองเรือน จงเรียนพระเวททั้งสาม หรือมิฉะนั้นจะประสงค์ไปพรหมโลก ก็จงถือไฟเข้าป่าบำเรอไฟ ทำให้ท้าวมหาพรหมโปรดปรานแล้ว ก็จะเป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ข้าพเจ้า ไม่ต้องการอยู่ครองเรือน ถือไฟเข้าป่า สร้างอาศรมบท บำเรอไฟอยู่ในป่า วันหนึ่งได้รับของถวาย คือโคในหมู่บ้านชายแดน จึงจูงโคไปสู่อาศรมบท คิดว่า เราจักให้พระอัคคีผู้มีโชคฉันเนื้อโค ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้มีปริวิตกดังนี้ว่า ที่นี่ไม่มีเกลือ พระอัคคีผู้มีโชคจักไม่สามารถฉันเนื้อที่ไม่เค็มได้ เราจักไปหาเกลือมาจากบ้าน ให้พระอัคคีผู้มีโชคฉันเนื้อที่มีรสเค็ม พระโพธิสัตว์จึงผูกโคไว้ในที่ตรงนั้นเอง ได้ไปหมู่บ้านเพื่อหาเกลือ ขณะที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 576
ท่านไป มีพรานหลายคนมาถึงที่นั้น เห็นโคแล้วฆ่าย่างเนื้อกิน ทิ้งหาง แข้งและหนังไว้ตรงนั้นแหละ แล้วนำเนื้อที่เหลือไปเสียด้วย พราหมณ์มาแล้ว เห็นโคเหลือแต่หนังเป็นต้น คิดว่า พระอัคคีผู้มีโชคนี้ แม้แต่ของๆ ตน ยังไม่อาจรักษาไว้ได้ จักรักษาเราได้ที่ไหนเล่า การบำเรอไฟนี้น่าจะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ กุศลหรือความเจริญมีการบูชาไฟนี้เป็นเหตุ คงไม่มีแน่ พราหมณ์ก็หมดความพอใจในการบำเรอไฟ กล่าวว่า ข้าแต่พระอัคคีผู้เจริญ แม้แต่ของของตน ท่านยังไม่สามารถรักษาไว้ ที่ไหนจักรักษาเราได้เล่า เนื้อไม่มีแล้ว จงยินดีเพียงเท่านี้เถิด เมื่อจะโยนหางเป็นต้นเข้ากองไฟ กล่าวคาถานี้ ความว่า.
"ไฟไม่ใช่ผู้ดี ที่เราบูชาเจ้าด้วยหางแม้เท่านี้ก็มากไปแล้ว วันนี้เนื้อไม่มีสำหรับเจ้าผู้ชอบเนื้อ ท่านอัคคีผู้เจริญ จงรับเอาแต่เพียงหางเถิดนะ" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุมฺเปตํ ความว่า แม้ของเพียงเท่านี้ ก็ชื่อว่ามากไป.
บทว่า อสพฺภิ ความว่า ไฟไม่ใช่สัตบุรุษ คือไม่ใช่ผู้ดี.
พราหมณ์ เรียกไฟว่า ชาตเวทะ อธิบายว่า ไฟเพียงเกิดก็เป็นที่รู้กัน คือปรากฏเห็นกันทั่ว เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ชาตเวทะ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 577
ด้วยบทว่า ยนฺตํ วาลธินาภิปูชยาม ความว่า แม้การที่เราบูชาเจ้าผู้มีโชค ซึ่งไม่สามารถจะรักษาของๆ ตนไว้ได้ในวันนี้ ด้วยหางเพียงเท่านี้ก็มากไปแล้วสำหรับเจ้า.
บทว่า มํสารหสฺส ความว่า วันนี้ เนื้อไม่มีสำหรับเจ้าผู้ชอบเนื้อ.
บทว่า นงฺคุฏฺมฺปิ ภวํ ปฏิคฺคหาตุ ความว่า เมื่อเจ้าไม่สามารถจะรักษาของๆ ตนไว้ได้ ก็เชิญเจ้าผู้เจริญ รับแต่เพียงหางพร้อมทั้งแข้งและหนังนี้เถิด.
พระมหาสัตว์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เอาน้ำดับไฟเสีย บวชเป็นฤๅษี ทำอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิด แล้วได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ดาบสผู้ดับไฟเสียในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถานังคุฏฐชาดกที่ ๔