๑. จิตตสูตร
โดย บ้านธัมมะ  1 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 39514

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 105

ปฐมปัณณาสก์

มหายัญญวรรคที่ ๕

๑. จิตตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 105

มหายัญญวรรคที่ ๕

๑. จิตตสูตร

[๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) ๗ ประการนี้ วิญญาณฐิติ ๗ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๑ สัตว์บางพวกมีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทวดาชั้นพรหมกายิกาผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๒ สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เหมือนเทวดาชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๓ สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๔ สัตว์บางพวกเข้าถึงเทวดาชั้นอากาสานัญจายตนะโดยมนสิการว่าอากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๕ สัตว์บางพวกเข้าถึงเทวดาชั้นวิญญาณัญจายตนะโดยมนสิการว่าวิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๖ สัตว์บางพวกเข้าถึงเทวดาชั้นอากิญจัญญายตนะโดยมนสิการว่าไม่มีอะไรๆ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๗ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๗ ประการนี้แล.

จบ จิตตสูตรที่ ๑


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 106

มหายัญญวรรคที่ ๕

อรรถกถาจิตตสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๕ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า วิญฺาณฏฺิติโย ได้แก่ ที่ตั้งแห่งปฏิสนธิวิญญาณ. ศัพท์ว่า เสยฺยถาปิ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าเป็นตัวอย่าง. อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลาย. จริงอยู่ บรรดามนุษย์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ในจักรวาลหาประมาณมิได้ แม้ ๒ คนจะชื่อว่า เหมือนมนุษย์คนเดียวกันด้วยอำนาจสีและทรวดทรงเป็นอันหามีไม่. แม้มนุษย์ เหล่าใดเป็นพี่น้องฝาแฝดในที่ไหนๆ ย่อมเหมือนกันโดยสีและทรวดทรง แม้มนุษย์เหล่านั้นแปลกกันตรงที่แลดู เหลียวดู พูดหัวเราะ เดิน และยืนเป็นต้น นั่นแล. เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า นานตฺตกายา มีกายต่างกัน. ก็ปฏิสนธิสัญญาของสัตว์เหล่านั้นเป็นติเหตุกะก็มี เป็นทุเหตุกะก็มี เป็นอเหตุกะก็มี เพราะเหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า นานตฺตสญฺิโน มีสัญญาต่างกัน. บทว่า เอกจฺเจ จ เทวา ได้แก่ เทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้น. จริงอยู่ บรรดาเทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้นนั้น เทวดาบางพวกมีกายเขียว บางพวกมีกายเหลืองเป็นต้น ส่วนสัญญาของเทวดาเหล่านั้น เป็นทุเหตุกะก็มี เป็นติเหตุกะก็มี ที่เป็นอเหตุกะไม่มี บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ความว่า สัตว์ผู้พ้นจากอบาย ๔ มีอาทิอย่างนี้ คือ อุตตรมาตายักขิณี ปิยังกรมาตายักขิณี ผุสสมิตตายักขิณี ธัมมคุตตายักขิณี และเวมาณิกเปรตเหล่าอื่น. ก็สัตว์เหล่านั้นมีกายต่างกันโดยผิว มีผิวเหลือง ผิวขาว ผิวดำ และผิวคล้ำ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 107

เป็นต้น และโดยผอม อ้วน เตี้ยและสูง. แม้สัญญาก็ต่างกัน โดยเป็นทุเหตุกะ ติเหตุกะ และอเหตุกะ แต่สัตว์เหล่านั้นไม่มีอำนาจมากเหมือนเทวดา มีอำนาจน้อย มีอาหารและเรื่องนุ่งห่มหายาก อยู่เป็นทุกข์ เหมือนมนุษย์ยากไร้ บางพวกต้องทุกข์เวลาข้างแรม มีสุขเวลาข้างขึ้น เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่าวินิปาติกา เพราะตกไปจากกองสุข ส่วนบรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดเป็นติเหตุกะ สัตว์เหล่านั้นตรัสรู้ธรรมก็มี เหมือนปิยังกรมาตายักขิณีเป็นต้น.

บทว่า พฺรหฺมกายิกา ได้แก่ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา บทว่า ปฐมาภินิพฺพตฺตา ได้แก่ สัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดบังเกิดด้วยปฐมฌาน. ส่วนพรหมปาริสัชชาบังเกิดด้วยปฐมฌานอย่างอ่อน พรหมปาริสัชชาเหล่านั้นมีอายุประมาณเท่ากับส่วนที่ ๓ แห่งกัป พรหมปุโรหิตาบังเกิดด้วยปฐมฌานปานกลาง มีอายุประมาณกึ่งกัป พรหมเหล่านั้นจึงมีกายกว้างกว่ากัน มหาพรหมาบังเกิดด้วย ปฐมฌานอย่างประณีต มีอายุประมาณกัปหนึ่ง แต่มหาพรหมาเหล่านั้นมีกายกว้างอย่างยิ่ง ดังนั้น พรหมเหล่านั้น พึงทราบว่า นานตฺตกายา เอกตฺตสญฺิโน เพราะมีกายต่างกัน มีสัญญาเป็นอันเดียวกัน ด้วยอำนาจปฐมฌาน. สัตว์ในอบาย ๔ ก็เหมือนกับพรหมเหล่านั้น. จริงอยู่ ในนรกทั้งหลาย สัตว์บางพวกมีอัตภาพคาวุตหนึ่ง บางพวกกึ่งโยชน์ บางพวกโยชน์หนึ่ง แต่ของพระเทวทัต ๑๐๐ โยชน์. แม้ใน บรรดาสัตว์ดิรัจฉาน บางพวกเล็ก บางพวกใหญ่ แม้ในปิตติวิสัย บางพวก ๖๐ ศอก บางพวก ๘๐ ศอก บางพวกมีผิวพรรณดี บางพวก


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 108

มีผิวพรรณทราม. พวกกาลกัญชกอสูรก็เหมือนกัน. อีกอย่างหนึ่ง ในพวกอสูรเหล่านั้นชื่อว่าทีฆปิฏฐิกอสูร ๖๐ โยชน์ ก็สัญญาของอสูรแม้ทั้งหมดเป็นอกุศลวิบากอเหตุกะ. ดังนี้ สัตว์ผู้เกิดในอบายย่อมนับว่ามีกายต่างกัน มีสัญญาเป็นอันเดียวกัน.

บทว่า อาภสฺสรา ความว่า พรหมชื่อว่าอาภัสสรา เพราะพรหมเหล่านี้มีรัศมีซ่านออก คือแผ่ออกไปจากสรีระดุจขาดตกลงเหมือนเปลวไฟแห่งคบไฟฉะนั้น บรรดาอาภัสสรพรหมเหล่านั้น พรหมผู้เจริญทุติยฌานและตติยฌานทั้ง ๒ อย่างอ่อนในปัญจกนัยเกิดขึ้น ชื่อว่าปริตตาภาพรหม. ปริตตาภาพรหมเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๒ กัป ที่เจริญทุติยฌานตติยฌานอย่างกลางเกิดขึ้น ชื่อว่าอัปปมาณาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหมเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๔ กัป ที่เจริญทุติยฌานตติยฌานอย่างประณีตเกิดขึ้น ชื่อว่าอาภัสราพรหม. อาภัสราพรหมเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๘ กัป ในที่นี้ทรงถือเอาพรหมเหล่านั้นทั้งหมดโดยการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ ความจริง พรหมเหล่านั้นทั้งหมดมีกายกว้างเป็นอันเดียวกัน ส่วนสัญญาต่างๆ กัน ไม่มีวิตกเพียงมีวิจารบ้าง ไม่มีวิตกวิจารบ้าง.

บทว่า สุภกิณฺหา ความว่า พรหมทั้งหลายมีรัศมีจากสรีระ ระยิบระยับด้วยความงาม รัศมีแห่งสรีระโดยความงาม อธิบายว่า เป็นแท่งทึบโดยความงาม. จริงอยู่ สุภกิณหาพรหม พรหมเหล่านั้น รัศมีไม่ขาดไปเหมือนของอาภัสราพรหม. แต่ในปัญจนัย เหล่าพรหมณ์ที่บังเกิดชื่อว่าปริตตสุภาพรหม อัปปมาณาสุภาพรหม


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 109

และสุภกิณหพรหม มีอายุ ๑๖ กัป ๒๓ กัป ๖๔ กัป ด้วยอำนาจจตุตถฌานอย่างอ่อน อย่างกลาง มีกายเป็นอย่างเดียวกัน และพรหมเหล่านั้นทั้งหมดพึงทราบว่ามีกายเป็นอย่างเดียวกันและมีสัญญาเป็นอย่างเดียวกันด้วยสัญญาในจตตุถฌาน.

ฝ่ายเวหัปผลาพรหมก็ย่อมเทียบวิญญาณฐิติที่ ๔ เท่านั้น เหล่าอสัญญีสัตว์หรือวิญญาณาภาพรหมย่อมไม่สงเคราะห์เข้าในข้อนี้ แต่ไปในสัตตาวาสทั้งหลาย. สุทธาวาสพรหมตั้งอยู่ในฝ่ายวิวัฏฏะ ย่อมไม่มีตลอดกาลทุกเมื่อ คือไม่เกิดขึ้นในโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้า ตลอดแสนกัปบ้าง อสงไขยหนึ่งบ้าง. เมื่อพระพุทธเจ้า ทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นแล้วนั่นแล ย่อมเกิดขึ้นในภายในเขตกำหนดอายุ ๑๖,๐๐๐ กัป ย่อมเป็นเสมือนค่ายพักของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระธรรมจักรพรรดิ์ เพราะเหตุนั้น จึงไม่เทียบวิญญาณฐิติและสัตตาวาส. ส่วนพระมหาสิวเถระกล่าวว่า แม้พรหมชั้นสุทธาวาสก็ย่อมเทียบวิญญาณฐิติที่ ๔ และสัตตาวาสที่ ๔ โดยสูตรนี้ว่า ดูก่อนสารีบุตร ก็สัตตาวาสไม่ใช่โอกาสที่จะได้โดยง่ายแล สัตตาวาสนั้นเราไม่เคยอยู่เลยโดยกาลอันยืดยาวนานนี้ เว้นเทวดาเหล่าสุทธาวาส. คำนั้นท่านอนุญาตไว้แล้ว เพราะไม่มีพระสูตรห้ามไว้. เนวสัญญานาสัญญายตนฌานชื่อว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เพราะแม้วิญญาณเป็นของละเอียดเหมือนสัญญา ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นท่านจึงไม่กล่าวไว้ในวิญญาณฐิติทั้งหลาย.

จบ อรรถกถาจิตตสูตรที่ ๑