[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 381
๖. โรหิตัสสสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 381
๖. โรหิตัสสสูตร
[๒๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ครั้งนั้น เมื่อล่วงปฐมยาม โรหิตัสสเทวบุตรมีวรรณะงามยิ่งนัก ทำพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่วแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
โรหิตัสสเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ณ โอกาสใดหนอ บุคคลจึงจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลอาจ หรือบรรลุที่สุดโลกได้ด้วยการเดินทางได้บ้างไหมหนอ.
[๒๙๖] พระผู้มีพระภาคเจ้า. ผู้มีอายุ โอกาสใดบุคคลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่เรียกโอกาสนั้นว่าที่สุดของโลกว่า ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการเดินทาง.
ร. น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วว่า ผู้มีอายุ โอกาสใดบุคคลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่เรียกโอกาสนั้นว่าที่สุดของโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการเดินทาง.
[๒๙๗] ร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรของอิสรชน มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ มีความเร็วประดุจอาจารย์สอนศิลปธนู จับธนูมั่น ชาญศึกษา ชำนาญมือ เคยประลองยิงธนูมาแล้ว ยิงผ่านเงาตาลตามขวางได้ด้วยลูกศรขนาดเบาโดยสะดวกดาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 382
ย่างเท้าของข้าพระองค์เห็นปานนี้ ประดุจจากมหาสมุทรด้านทิศบูรพา ก้าวถึงมหาสมุทรด้านทิศประจิม ข้าพระองค์มาประสงค์อยู่แต่เพียงว่า เราจักบรรลุถึงที่สุดของโลกด้วยการเดินทาง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเร็วขนาดนี้ ด้วยย่างเท้าขนาดนี้ เว้นจากการกิน การขบเคี้ยว และการลิ้มรสอาหาร เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากระงับความเหน็ดเหนื่อยด้วยการหลับนอน มีอายุถึงร้อยปี ดำรงชีพอยู่ถึงร้อยปี เดินทางตลอดร้อยปี ก็ยังไม่ถึงที่สุดของโลกได้ แต่มาทำกาลกิริยาเสียในระหว่าง น่าอัศจรรย์นัก พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วว่า ผู้มีอายุ ณ โอกาสใดบุคคลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่เรียกโอกาสนั้นว่าที่สุดของโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง.
[๒๙๘] พ. ดูก่อนผู้มีอายุ ณ โอกาสใดบุคคลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่เรียกโอกาสนั้นว่าที่สุดของโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง ก็ถ้าหากเรายังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในเรือนร่าง มีประมาณวาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจครอง.
แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วยการเดินทาง และเพราะที่ยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์.
เหตุนั้นแล คนมีปัญญาดี รู้แจ้งโลกถึงที่สุดโลกได้ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้สงบแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกอื่น.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 383
อรรถกถาโรหิตัสสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในโรหิตัสสสูตรที่ ๖ ต่อไป :-
บทว่า ยตฺถ เป็นสัตตมีวิภัติ ลงในโอกาสหนึ่งแห่งโลกจักรวาล.
คำว่า น จวติ น อุปปชฺชติ นี้ ท่านถือเอาด้วยอำนาจ การจุติปฏิสนธิในภพต่อๆ ไป.
บทว่า คมเนน ได้แก่ ด้วยการเดินไปด้วยเท้า.
พระศาสดาตรัสว่า นาหนฺตํ โลกสฺส อนฺตํ ดังนี้ ทรงหมายถึงที่สุดแห่งสังขารโลก.
ในบทว่า าเตยฺยํ เป็นต้น ความว่า พึงรู้พึงเห็นพึงถึง เทพบุตรทูลถามถึงที่สุดแห่งโลกจักรวาล ด้วยประการฉะนี้ พระศาสดาตรัสถึงที่สุดแห่งสังขารโลก. แต่เทพบุตรนั้นร่าเริงด้วยสำคัญว่า คำพยากรณ์ของพระศาสดา สมกับปัญหาของตน จึงกล่าวว่า น่าอัศจรรย์เป็นต้น.
บทว่า ทฬฺหธมฺโม แปลว่า มีธนูมั่น คือ ประกอบด้วยธนูขนาดเยี่ยม.
บทว่า ธนุคฺคโห แปลว่า อาจารย์ฝึกธนู.
บทว่า สุสิกฺขิโต ได้แก่ ศึกษาศิลปธนูมา ๑๒ ปี.
บทว่า กตหตฺโถ ได้แก่ ชื่อว่า ชำนาญมือ เพราะสามารถยิงปลายขนทรายได้ แม้ในระยะอุสภะหนึ่ง.
บทว่า กตุปาสโน ได้แก่ ยิงธนูชำนาญ ประลองศิลปะมาแล้ว.
บทว่า อสเนน ได้แก่ ลูกธนู.
บทว่า อติปาเตยฺย ได้แก่ พึงผ่าน.
เทพบุตรแสดงคุณสมบัติ คือ ความเร็วของตนว่า ลูกธนูนั้นพึงผ่านเงาตาลเพียงใด ข้าพระองค์ก็ผ่านจักรวาลไปโดยกาล [ชั่วขณะ] เพียงนั้น.
ด้วยบทว่า ปุริมา สมุทฺทา ปจฺฉิโม เทพบุตรกล่าวว่า ข้าพระองค์ย่างเท้าก้าวได้ไกล ทำนองไกลจากสมุทรด้านตะวันออกจดสมุทรด้านตะวันตก.
ได้ยินว่า เทพบุตรนั้นยืนที่ขอบปากจักรวาลทิศตะวันออก ย่างเท้าแรกก้าวเลยขอบปากจักรวาลทิศตะวันตกไป ย่างเท้าที่สองออก ก็ก้าวเลยขอบปากจักรวาลอื่นๆ ไป.
บทว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 384
อิจฺฉาคตํ แปลว่า ความอยากได้นั่นเอง.
เทพบุตรแสดงความไม่ชักช้าด้วยบทว่า อญฺเตฺรว ได้ยินว่า โรหิตัสสฤษีนั้น ในเวลาไปภิกขาจาร เคี้ยวไม้ชำระฟัน ชื่อนาคลดาแล้วบ้วนปากที่สระอโนดาด ถึงอุตตรกุรุทวีปแล้วออกหาอาหาร นั่งที่ขอบปากจักรวาล ฉันอาหาร ณ ที่นั้น พักชั่วครู่ก็เหาะไปเร็วอีก.
บทว่า วสฺสสตายุโก ได้แก่ ยุคนั้น เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุยืน. แต่โรหิตัสสฤษีนี้ เริ่มเดินทางเมื่ออายุเหลือ ๑๐๐ ปี.
บทว่า วสฺสสตชีวี ได้แก่ เป็นอยู่โดยไม่มีอันตรายตลอด ๑๐๐ ปีนั้น.
บทว่า อนฺตราว กาลกโต ได้แก่ ยังไม่ทันถึงที่สุดโลกจักรวาลก็ตายเสียในระหว่าง ก็โรหิตตัสสฤษีนั้นแม้ทำกาละในภพนั้น ก็มาบังเกิดในจักรวาลนี้นี่แล.
บทว่า อปฺปตฺวา ได้แก่ ยังไม่ถึงที่สุดแห่งสังขารโลก.
บทว่า ทุกฺขสฺส ได้แก่ วัฏทุกข์.
บทว่า อนฺตกิริยํ ได้แก่ การทำที่สุด.
บทว่า กเฬวเร ได้แก่ ในอัตภาพ.
บทว่า สสญฺมฺหิสมนเก ได้แก่ มีสัญญา มีจิต.
บทว่า โลกํ ได้แก่ ทุกขสัจ.
บทว่า โลกสมุทยํ ได้แก่ สมุทยสัจ.
บทว่า โลกนิโรธํ ได้แก่ นิโรธสัจ.
บทว่า ปฏิปทํ ได้แก่ มรรคสัจ.
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เราไม่บัญญัติสัจจะ ๔ นี้ลงในหญ้าและไม้ เป็นต้น แต่เราบัญญัติลงในกายที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ เท่านั้น.
บทว่า สมิตาวี ได้แก่ สงบบาป.
บทว่า นาสิํสติ ได้แก่ ไม่ปรารถนา.
จบอรรถกถาโรหิตัสสสูตรที่ ๖