[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 35
๓. ปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา ๒
[๑๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงมิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทาพวกเธอจงฟังปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
[๒๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิปทา.
[๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน. เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่าสัมมาปฏิปทา
จบปฏิปทาสูตรที่ ๓
อรรถกถาปฏิปทาสูตรที่ ๓
ในปฏิปทาสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า มิจฺฉาปฏิปทํ ความว่า นี้เป็นปฏิปทา ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นอันดับแรก.
ถามว่า ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มิใช่หรือ อภิสังขารทั้งสองนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทา ได้อย่างไร
แก้ว่า เพราะถือว่าวัฏฏะเป็นสำคัญ. สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งบุคคลปรารถนา วัฏฏะ กล่าวคือ ภพ ๓ ปฏิบัติ โดยที่สุดอภิญญา ๕ หรือสมาบัติ ๘ สิ่งทั้งหมดเป็นไปในฝ่ายวัฏฏะ. จัดเป็น มิจฉาปฏิปทา เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ. สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันบุคคลปรารถนา วิวัฏฏะ คือ พระนิพพาน ปฏิบัติ โดยที่สุดถวายทานเพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่งก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่งก็ดี สิ่งทั้งหมดนั้น จัดเป็น สัมมาปฏิปทาโดยแท้ เพราะเป็นฝ่าย วิวัฏฏะ. บุคคลไม่บรรลุพระอรหัต แล้วจะถึงที่สุดหาได้ไม่ ดังนั้น พึงทราบว่า ท่านแสดง มิจฉาปฏิปทาด้วยอำนาจอนุโลมแสดงสัมมาปฏิปทา ด้วยอำนาจปฏิโลม.
ถามว่า ก็ในที่นี้ ท่านถามปฏิปทา จำแนกพระนิพพาน กำหนดปฏิปทา แม้ในการตอบ และ บทว่า ปฏิปทา ไม่เป็นชื่อแห่งพระนิพพาน แต่คำว่า ปฏิปทา นี้ เป็นชื่อของมรรค ๔ พร้อมด้วย วิปัสสนา. เพราะฉะนั้น บทภาชนะ จึงสมด้วยการถามการตอบมิใช่หรือ
แก้ว่า ไม่สมหามิได้. เพราะเหตุไร เพราะ ท่านแสดงปฏิปทาโดยผล. จริงอยู่ ในที่นี้ ท่านแสดงปฏิปทา โดยผล. ความในคำว่าเพราะอวิชชานั่นแล ดับไปโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ นี้มีอธิบายดังนี้ นิพพาน กล่าวคือ การดับสนิทนี้ เป็นผลของปฏิปทาใด ภิกษุทั้งหลายปฏิปทานี้ เราเรียกว่า สัมมาปฏิปทา. ก็ในอรรถนี้ วิราคะ ในคำว่า อเสสวิราคนิโรธา นี้เป็นไวพจน์ ของการดับสนิทนั่นเอง. ก็ในคำว่า อเสสวิราคนิโรธา นี้ เป็นไวพจน์ของการดับสนิทนั่นเอง. ก็ในคำว่า อเสสวิราคา อเสสนิโรธา นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ อีกอย่างหนึ่ง เพื่อแสดงมรรค กล่าวคือ วิราคะ อันเป็นเหตุดับสนิทโดยไม่เหลือ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิปทาอันเป็นไปกับด้วยอานุภาพเป็นอันพระองค์ทรงจำแนกแล้ว. ดังนั้น พระองค์จึงตรัสเฉพาะ วัฏฏะ และ วิวัฏฏะ แม้นี้เท่านั้นแล.
จบอรรถกถาปฏิปทาสูตรที่ ๓
สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น