๘. สิคาลสูตร ว่าด้วยคนติดลาภสักการะเหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่
โดย บ้านธัมมะ  4 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36655

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 649

๘. สิคาลสูตร

ว่าด้วยคนติดลาภสักการะเหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 649

๘. สิคาลสูตร

ว่าด้วยคนติดลาภสักการะเหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่

[๕๕๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า.

[๕๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นสุนัขจิ้งจอกแก่ซึ่งอยู่ในกลางคืนตลอดถึงเช้าตรู่หรือหนอ.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้นเป็นโรคอุกกัณณกะ [โรคเรื้อน] อยู่บนบกก็ไม่สบาย อยู่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันลาภสักการะและความสรรเสริญครอบงำย่ำยีจิตแล้ว อยู่ในที่เรือนว่างก็ไม่สบาย อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

จบสิคาลสูตรที่ ๘


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 650

อรรถกถาสิคาลสูตรที่ ๘

พึงทราบวินิจฉัยในสิคาลสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้.

บทว่า ชรสิคาโล คือ สุนัขจิ้งจอก.

กายแม้มีสีดังทอง เขาก็เรียกว่า กายเปื่อยเน่า มูตรแม้ถ่ายในขณะนั้น เขาก็เรียกว่ามูตรเน่า ฉันใด สุนัขจิ้งจอกแม้เกิดในวันนั้น เขาก็เรียกว่าสุนัขจิ้งจอกแก่ๆ ฉันนั้น.

บทว่า อุกฺกณฺณเกน นาม ได้แก่ โรคมีชื่ออย่างนี้.

ได้ยินว่า โรคนั้นเกิดในเวลาหนาว. เมื่อมันเกิด ขนหลุดจากสรีระทั้งสิ้น. สรีระทั้งสิ้น ไม่มีขน ย่อมพุพองไปหมด แผลที่ถูกลมพัด เสียดแทง. คนถูกสุนัขบ้ากัด ทรงตัวไม่ได้ หมุนไป ฉันใด เมื่อมันเกิดอย่างนี้ คนนั้นพึงไปฉันนั้น ไม่ปรากฏว่าในที่โน้นจักมีความสวัสดี ดังนี้.

จบอรรถกถาสิคาลสูตรที่ ๘