ถ. กระผมรู้สึกว่าจะได้ประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังทั้งหลายเป็นอันมาก ซึ่งจะทำให้ความสับสนต่างๆ ค่อยๆ จางไป ซึ่งบางครั้งการระลึกรู้กายนี้ ไม่ทราบว่าจะระลึกรู้ในฐานะอย่างไร เพราะพยัญชนะบอกว่า ยืน เดิน หรือนอน อะไรอย่างนี้ เป็นการบังสภาวะไว้ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อบังสภาวะเช่นนี้ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ไม่ทราบว่าเจริญอย่างไรจึงจะถูกต้อง
สุ. ตัวอย่างใน มหาสกุลุทายิสูตร มีข้อความว่า
กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ เกิดแต่บิดา มารดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้
ดูแล้วก็ทราบได้ว่า โลกทั้งหมดที่จะปรากฏได้ก็เพราะมีกายและเนื่องกับกาย เช่น ตาก็อยู่ที่กาย หู จมูก ลิ้น ก็อยู่ที่กาย แต่ทรงจำแนกออก ไม่ได้กล่าวถึง ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่องของตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี เพราะเหตุว่าทันทีที่เห็นมีการระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ ถ้าขณะนั้นสติระลึกว่าเป็นสภาพรู้เท่านั้น จะมีการยึดโยงเอาไว้ส่วนหนึ่งส่วนใดที่กายไหม ก็ไม่มี
นี่เป็นการที่จะกระจัดกระจายสิ่งที่เคยติดกันแน่นรวมกันแน่นให้ปรากฏสภาพนั้นเท่านั้น ทีละลักษณะ จึงสามารถที่จะประจักษ์ความเป็นธรรมของแต่ละนามแต่ละรูปได้
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าธรรมทั้งหลาย ก็แล้วแต่การพิจารณา ท่านพิจารณาเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่กาย ท่านพิจารณาเวทนา เวทนาก็ไม่ได้เกิดที่อื่น ก็ต้องเนื่องกับกาย เกิดกับจิต จิตก็เกิดที่กายนั้นเอง แต่ว่าพิจารณาระลึกรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึก เมื่อความรู้สึกกำลังเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว จึงจะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับจิตก็เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ได้ยินก็เป็นจิต เนื่องกับกาย เพราะเหตุว่าโสตปสาทก็อยู่ที่กาย แต่เวลาที่ท่านระลึกรู้สภาพที่เป็นนามธรรมในขณะนั้น เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 145