สภาพรู้ ธาตุรู้
โดย บ้านธัมมะ  23 ต.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 5209

จากการสนทนาธรรมของ ท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ถอดเทปโดย...คุณย่าสงวน สุจริตกุล

เพราะฉะนั้นเครื่องพิสูจน์ธรรมะ ก็คือว่าในขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ที่กำลังนั่งฟังเรื่องของสติปัฏฐาน แต่เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสิ้นเชิง เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวรรณะต่างๆ ทำให้เกิดการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางต่างๆ แต่สภาพรู้หรือธาตุรู้ ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสิ้นเชิงเพราะเป็นเพียงสภาพรู้เป็นธาตุรู้เท่านั้น นั่งเฉยๆ ไม่คิดอะไรเลยรู้ไหมคะ ขณะนั้น รู้หรือไม่รู้ ที่จะรู้ว่าสภาพรู้มีลักษณะอย่างไร ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริง หมดความสงสัยในสภาพรู้ ธาตุรู้ในลักษณะต่างๆ โดยสิ้นเชิง.....เพราะเหตุว่าสภาพรู้ธาตุรู้นั้นมีจริงแต่ต้องน้อมไปพร้อมสติที่จะศึกษาที่เข้าใจที่รู้ทีละเล็ก ทีละน้อย ในลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ สภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ความต้องการที่จะรู้ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ซึ่งเป็นความต้องการซึ่งต่างกับขณะซึ่งเป็นสภาพธรรมอื่น



ความคิดเห็น 2    โดย lichinda  วันที่ 23 ต.ค. 2550

น้อมไปพร้อมกับสติที่จะศึกษากับความต้องการที่จะรู้ จึงหมั่นสังเกตสิ่งที่กระทบสัมผัสทางทวารโดยไม่จ้องว่าเป็นทวารใดต่างกันหรือเหมือนกัน ที่ใช้คำว่าน้อมไปพร้อมสติที่จะศึกษานั้นเหมือนกับความต้องการ ที่จะรู้สภาพธรรมโดยไม่เจาะจงทวารไหมครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ครูโอ  วันที่ 23 ต.ค. 2550

โลภะ กับ สติ เกิดพร้อมกันไม่ได้ แต่เกิดดับสลับกันทีละขณะได้ สำหรับปุถุชน โลภะเกิดมากกว่าสติแน่นอน ส่วนพระอรหันต์ ดับโลภะเป็นสมุจเฉท ท่านจึงเป็นผู้ที่มีปรกติอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะครับ

โลภะ เป็นอกุศลเจตสิก ส่วน สติ เป็นกุศลเจตสิก เป็นธรรมะคนละฝ่ายกัน บางทีสติเกิด (นิดเดียวแล้วดับไปเร็วมาก) หลังจากนั้นโลภะ (หรือบางทีก็โมหะสัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา) ก็เกิดต่อทันที เหตุนี้ ผู้ที่ไม่มีปรกติอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา หรือทั้งสอง เวลากุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิด สติที่ระลึกไปในขณะให้ทาน หรือการวิรัติทุจริตทางกาย วาจา ก็ไม่รู้ เพราะไม่มีปัจจัยพอที่จะให้สติระลึกไปในจิตที่สงบเพราะกุศลจิตได้ชัด หรือไม่รู้เพราะไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกไปในสภาพที่ไม่ใช่ "ตัวตน" ในขณะนั้นโดยทันที โดยความเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้

การน้อมไปที่จะศึกษาจึงต้องประกอบไปด้วย "สติ" ไม่ใช่ความต้องการครับ เพราะโลภะเกิดบ่อยกว่า และถ้าสติไม่เกิด ก็อาจจะเข้าใจผิดไปได้ว่า โลภะ เป็น สติ ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่น้อมไป ไม่ใช่จะน้อมด้วยตัวตน เพราะนั่นช้าเสียแล้ว โลภะเกิดพร้อมกับโมหะแทรกขึ้นมาอย่างแนบเนียนแล้ว โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ครับ

เชิญคลิกฟังครับ --->

อย่าใช้เพียงคำ แต่ให้เข้าใจด้วย

ต้องอาศัยการฟังเพิ่มขึ้น

ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

ขณะใดที่เป็นกุศลขณะนั้นจึงเป็นสติ

สติปัฏฐานเกิดเพราะมีความเข้าใจเบื้องต้น


ความคิดเห็น 4    โดย lichinda  วันที่ 28 ต.ค. 2550

ความเห็นที่ ๓ กล่าวว่า.....

ผู้ที่ไม่มีปรกติอบรมเจริญสมถภาวนา หรือปัสสนาภาวนา หรือทั้งสอง เวลากุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิด สติที่ระลึกไปในขณะให้ทาน หรือการวิรัติทุจริตทาง กาย วาจา ก็ไม่รู้....

ผมขอให้ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า "กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา" เป็นอย่างไร กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญานั้น มีสติเกิดร่วมด้วยไหมครับ ในเมื่อไม่มีปัญญาแล้วจิตเป็นกุศลได้อย่างไรครับ? การทำกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นอย่างไรครับ ยกตัวอย่างได้ไหมครับ?


ความคิดเห็น 5    โดย ครูโอ  วันที่ 28 ต.ค. 2550

"กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา" เป็นอย่างไร คือจิตที่เกิดร่วมด้วยกับ โสภณสาธารณเจตสิก 19 ดวงที่เป็นชาติกุศลหรือภาษาบาลีเรียกว่า มหากุศลจิตญานวิปยุตต์ ได้แก่เจตสิกดังต่อไปนี้

1. สัทธาเจตสิก

2. สติเจตสิก

3. หิริเจตสิก

4. โอตตัปปเจตสิก

5. อโลภเจตสิก

6. อโทสเจตสิก

7. ตัตตรมัชฌัตตาเจตสิก

8. กายปัสสัสธิเจตสิก

9. จิตตปัสสัสธิเจตสิก

10. กายลหุตาเจตสิก

11. จิตลหุตาเจตสิก

12. กายมุฑุตาเจตสิก

13. จิตตมุฑุตาเจตสิก

14. กายกัมมัญญตาเจตสิก

15. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก

16. กายปาคุญญตาเจตสิก

17. จิตตปาคุญญตาเจตสิก

18. กายุชุกตาเจตสิก

19. จิตตุชุกตาเจตสิก

หากกุศลจิตเกิดขณะหนึ่งๆ เจตสิกทั้ง 19 ดวงนี้จะต้องเกิดกับขณะที่จิตเป็นชาติกุศลนั้นด้วยเสมอ โดยที่จะไม่ขาดดวงใดดวงหนึ่งเลยครับกุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมด้วยกับปัญญาในบางขณะ นอกจากจะเกิดร่วมกับโสภณสาธารณเจตสิกแล้ว อาจจะมีปัจจัยให้เกิดร่วมกับ อัปมัญญาเจตสิก ดวงใดดวงหนึ่งใน 2 ดวงตามเหตุปัจจัยได้แก่ กรุณาเจตสิก หรือมุฑิตาเจตสิก

กุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมด้วยกับปัญญาในบางขณะนอกจากจะเกิดร่วมกับโสภณสาธารณเจตสิกแล้วอาจจะมีปัจจัยให้เกิดร่วมกับ วิรตีเจตสิก ดวงใดดวงหนึ่งใน 3 ดวง ตามเหตุปัจจัย ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิกหรือสัมมากัมมันตเจตสิก หรือสัมมาอาชีวเจตสิก

กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญานั้น มีสติเกิดร่วมด้วยไหมครับ

"สติ" เป็นโสภณสาธารณเจตสิก กระทำกิจระลึกเป็นไป ทาน หรือศีล ก็ได้ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดร่วมด้วยกับปัญญาเสมอในขณะนั้นครับ บางทีสติเกิดระลึกไปในทานกุศล เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น การเกื้อกูลผู้ที่สงสาร การเห็นใจผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก การยินดีเวลาที่เห็นผู้อื่นได้ดี การใส่บาตรพระ การให้สิ่งของคนยากไร้ เป็นต้น บางทีสติระลึกไปในการที่จะรักษาศีล ไม่ล่วงศีล เช่น งดเว้นจากการฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียดหรือโกหก งดเว้นจากการลักขโมย หรือการประพฤติผิดในกาม หรือการประกอบอาชีพทุจริต เป็นต้น

ในเมื่อไม่มีปัญญาแล้วจิตจะเป็นกุศลได้อย่างไรเป็นได้ครับ เพราะกิจของปัญญา คือ เห็นถูก รู้ถูกตามสภาพธรรม และในเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ปัญญาไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดทุกขณะที่กุศลจิตทุกดวงเกิด

การทำกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นอย่างไรครับ ยกตัวอย่างได้ไหมครับ
ยกตัวอย่าง เวลาที่เมตตาเกิดแล้วเราก็เข้าไปช่วยเหลือผู้นั้นโดยทันที ขณะนั้นจิตมีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์จึงเข้าไปช่วย ถ้าไม่เห็นว่าสัตว์ บุคคล นั้นเป็นสัตว์ บุคคล ก็ไม่เห็นว่าเป็นเพื่อนไม่เกิดความหวังดีไม่เป็นมิตร ขณะนั้นก็จะไม่ช่วย ถ้าช่วยก็ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ของจิตคงจะไม่มีใครบอกผู้อื่นว่า เรามีเมตตาช่วยตุ๊กตาที่ตกน้ำ (ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นโลภะ หรือโทสะที่เอื้อมไปหยิบตุ๊กตาขึ้นมา) หรือเรามีเมตตาไม่โกรธ โต๊ะที่ขวางทางเรา ทำให้เราเดินไปชน (ถ้าไม่ได้พูดเล่นกัน ใครพูดอย่างนี้ก็คงไม่ปรกติแล้ว) ฯลฯ เหตุนี้กุศลจิตเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยได้ (แล้วก็บ่อยกว่าครับ)

เมตตาธรรมจึงค้ำจุณโลกไว้ ไม่เช่นนั้นโลกนี้ก็คงจะมอดไหม้ไม่เหลือเพราะถ้าทุกคน ไม่มีกุศลจิตเกิด ก็ย่อมจะคล้อยไปยินดีกับอกุศลจิตที่เกิดบ่อยกว่า จนก่อแต่อกุศลกรรมบถอย่างเดียวครับ

จิตของปุถุชนหนาไปด้วยกิเลสและไม่ได้มีปัญญามาก ถึงขนาดที่จะรู้วาระจิตโดยละเอียดจริงๆ ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่สามารถที่จะเจริญสมถภาวนาขั้นสูงๆ ที่สงบจากอกุศลโดยสติสัมปชัญญะเกิดได้อย่างคล่องแคล่วเพราะมีสมาธิที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลบ่อยๆ ได้ หรือหากไม่ได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า จิตของปุถุชนก็จะไม่สามารถคิดเองที่จะเป็นไปเพื่อการเจริญวิปัสสนาภาวนาได้เลย (ซึ่งจะมีก็ต่อเมื่อได้อบรมการเจริญสติปัฏฐานจนมีปัจจัยให้สติระลึกในสภาพธรรมได้เท่านั้น) ซึ่งทั้งสองภาวนาก็จะต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นครับ

คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ -->

หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป

โดย ท่าน อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์


ความคิดเห็น 6    โดย lichinda  วันที่ 29 ต.ค. 2550

ถามครับ

จิตที่เป็นกุศลแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กอปรด้วยโสภณสาธารณเจตสิค ๑๙ ดวง จิตอย่างนี้มีชื่อเรียกว่าอะไรครับ

จิตประภัสสรเป็นอย่างไรครับ เคยได้ฟังเทปว่าจิตประภัสสรคือจิตที่เป็นกุศล แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาครับผมอาจฟังมาผิดหรือเปล่าครับโปรดช่วยอธิบายด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ

คนส่วนมากไปทำบุญตักบาตรไปทอดกฐินผ้าป่า จิตเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี จิตเป็นกุศลแต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาก็มีจิตไม่ได้เป็นกุศลก็มีการได้บุญของเขาเหล่านี้แตกต่างกันไหมครับ

กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นอย่างไรครับ มีอานิสงค์อย่างไรครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ครูโอ  วันที่ 30 ต.ค. 2550

จิตที่เป็นกุศลแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กอปรด้วยโสภณสาธารณเจตสิค ๑๙ ดวง จิตอย่างนี้มีชื่อเรียกว่าอะไรครับ เรียกสั้นๆ ว่า มหากุศลจิต ครับจะเรียกยาวๆ ชื่อบาลีก็มีดังต่อไปนี้ครับโสมนสฺสสหคต ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

โสมนสฺสสหคต ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํกุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

อุเปกฺขาสหคต ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ กุศลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํกุศลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง


ความคิดเห็น 8    โดย ครูโอ  วันที่ 30 ต.ค. 2550

จิตประภัสสรเป็นอย่างไรครับ

เป็นอย่างนี้ครับ เชิญอ่าน...

คำว่า จิตประภัสสร หมายถึง จิตที่บริสุทธิ์คำนี้หมายถึง ภวังคจิตและในบางแห่งรวมหมายถึง กุศลจิตด้วย เพราะฉะนั้น คำนี้ใช้กับคนทั่วๆ ไป แต่เป็นจิตบางขณะบางประเภทเท่านั้น

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมองย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นประภัสสรแต่ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลส ทั้งหลายจรมา จิตนั้นแหละชื่อว่าปัณฑระ เพราะอรรถว่าบริสุทธิ์ คำว่า ปัณฑระนี้ หมายเอาภวังคจิต เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้ประภัสสร แต่จิตนั้นแลเศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลสที่จรมา ดังนี้อนึ่งแม้กุศลก็ตรัสเรียกว่า ปัณฑระเหมือนกัน เพราะออกจากจิตนั้นเหมือนแม่น้ำคงคาไหลมาจากแม่น้ำคงคา


ความคิดเห็น 9    โดย ครูโอ  วันที่ 30 ต.ค. 2550

คนส่วนมากไปทำบุญตักบาตร ไปทอดกฐิน ผ้าป่า จิตเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี มีเฉพาะผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา หรืออบรมเจริญวิปัสสนาภาวนาครับ จิตเป็นกุศลแต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาก็มี มีตามเหตุปัจจัยของการเกิดกุศลจิตของแต่ละบุคคลครับ จิตไม่ได้เป็นกุศลก็มี และก็มีบ่อยๆ แทบจะเป็นปรกติธรรมดาของปุถุชนผู้หลงลืมสติครับ

การได้บุญของเขาเหล่านี้แตกต่างกันไหมครับ?

นอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครรู้ขณะจิตของใครได้ครับ และก็ไม่สามารถจะวัดออกมาเป็นปริมาณบุญจากมูลค่าของวัตถุที่ให้ทานได้ ผู้ที่ไปทำบุญ ทอดกฐิน ผ้าป่าถ้าก่อนให้ ขณะให้ หลังให้ จิตเป็นกุศล รวมทั้งพระภิกษุรูปที่รับเอาทานนั้นเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมาก ก็ย่อมได้รับอานิสงส์มาก

กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นอย่างไรครับ? มีอานิสงค์อย่างไรครับ?

ถ้าหากว่าผู้ให้ทาน เป็นผู้ที่มีปรกติอบรมเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่ให้ทาน น้อมจิตระลึกไปถึงพระคุณของพระรัตนตรัยด้วยความปีติศรัทธา เพราะเห็นถึงคุณค่าด้วยปัญญา ทานนั้นย่อมมีอานิสงส์มากกว่าการให้ทานไป โดยที่ไม่รู้ว่าให้เพราะอะไร หรือหากเป็นผู้ที่มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน แล้วสติเกิดระลึกไปในสภาพ"รูปธรรม" หรือ "นามธรรม" ได้ในขณะที่ให้ทานทันทีในขณะนั้น แม้เพียงลัดนิ้วมือเดียว ปัญญาก็กระทำกิจเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นโดยความที่ไม่มีตัวตน ก็ย่อมทำให้ได้รับอานิสงส์มากด้วยเช่นกันครับ

แต่อย่างไรก็ตาม.....บุญสำเร็จจากการฟังธรรมเป็นระดับภาวนามัย คือสูงกว่าบุญขั้น ทาน และ ศีล เพราะการฟังธรรมทำให้เกิดปัญญา ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ทำให้ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลได้


ความคิดเห็น 10    โดย ครูโอ  วันที่ 30 ต.ค. 2550

คลิกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ใน -->

หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป


ความคิดเห็น 11    โดย lichinda  วันที่ 1 พ.ย. 2550

ก็กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญานอกจากจะมีโสภณเจตสิคเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังมีกรุณา มุทิตา มีการสำรวม วาจา การงาน อาชีพ ถึงปานนี้แล้ว ก็ยังไม่กอปรด้วยปัญญา

ถามว่า เหตุใดกุศลจิตอย่างนี้ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาเล่า ถ้าอย่างนั้น กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญานั้นเป็นอย่างไรเล่า เหตุไฉนครูโอไม่นำมาแสดงให้ผู้อ่านได้รู้โดยการเปรียบเทียบบ้างเล่า หรือว่าครูโอก็มีกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เท่านั้นหรือเปล่าหนอ จิตประภัสสรเป็นภวังคจิตทุกขณะหรือ ถ้าอย่านั้นภวังคจิตที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติชื่อว่าจิตประภัสสรไหมครับ แต่ก็ยังมีภวังคจิตที่ไหว ภวังคจิตที่รับอารมณ์ ภวังคจิตที่ส่งอารมณ์ ก่อนที่ปัญจทวารจิตจะตัดสินอารมณ์ที่มากระทบ ภวังคจิตทั้งสามนี้ชื่อว่าจิตประภัสสรหรือ ภวังคจิต ทำกิจต่างกันอย่างนี้ มีชื่อเรียกเฉพาะไหมครับ สภาพที่เป็นประภัสสร บริสุทธิ์ และบัณฑระ ชื่อเรียกว่าประภัสสร เป็นจิตหรือเจตสิก หมายถึงจิตหรือเจตสิกดวงใด มีชื่อว่าอะไรครับ


ความคิดเห็น 12    โดย ครูโอ  วันที่ 1 พ.ย. 2550

ถามว่า เหตุใดกุศลจิตอย่างนี้ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาเล่า

ต้องเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เท่านั้นครับ จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้

เหตุไฉนครูโอไม่นำมาแสดงให้ผู้อ่านได้รู้โดยการเปรียบเทียบบ้างเล่า

อยู่ในคำตอบด้านบนทั้งหมดครับ เปรียบเทียบระหว่างการให้ทานของผู้ที่มีปัญญากับผู้ที่ไม่มีปัญญาว่าเพียงการให้ทานก็ต่างกันแล้ว ว่าให้เพื่ออะไร เพื่อได้หรือเพื่อละ

หรือว่าครูโอก็มีกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เท่านั้น หรือเปล่าหนอ

กุศลจิตก็เป็นธรรมะไม่ใช่ตัวผมครับ ไม่เป็นประโยชน์ที่จะเอาตัวตนไปยึดว่าตัวผมเองมีกุศลจิตที่มีปัญญาหรือไม่มีปัญญาประกอบ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมะนั้นก็เพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป โดยไม่มีเราเข้าไปเป็นปัจจัยในการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นเลย การไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมะแล้วเข้าไปยึดไว้ว่าเป็นเรา จะพอกพูนตัวตน และความสำคัญตนให้เจริญขึ้นเปล่าๆ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยและการสั่งสมของจิตครับสั่งสมอย่างไหนก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอย่างนั้น

ขอเชิญอ่านข้อความเกี่ยวกับการสั่งสมจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปโดยตรงครับ

การสะสมกุศล อกุศล และมหากิริยาฝ่ายโลกีย์ด้วยสามารถแห่งชวนวิถีจิตนั้นสะสมไปทุกขณะ จนกระทั่งทำให้เกิดเป็นอุปนิสัยต่างๆ การกระทำกิริยาอาการทางกาย ทางวาจาต่างๆ บางท่านที่เห็นพระอรหันต์ก็ยังดูหมิ่นโดยสันนิษฐานตามอาการที่ปรากฏภายนอก เช่น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธเห็นท่านพระมหากัจจานะลงจากภูเขาก็กล่าวว่าท่านผู้นี้มีอาการเหมือนลิง การสั่งสมของชวนวิถีจิตของวัสสการ-พราหมณ์ทำให้สำคัญตน แม้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสให้วัสสการพราหมณ์ขอให้ท่านพระมหากัจจานะอดโทษให้ แต่มานะความสำคัญตนที่สะสมมาก็ทำให้วัสสการพราหมณ์ไม่สามารถจะกระทำเช่นนั้นได้ แม้พระผู้มีพระ-ภาคจะทรงพยากรณ์ว่า เมื่อวัสสการพราหมณ์สิ้นชีวิตลง จะต้องเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ วัสสการพราหมณ์ก็ให้คนไปปลูกกล้วย และอาหารของลิงไว้พร้อมที่จะไปเกิดเป็นลิงในป่าไผ่นั้น

จิตประภัสสรเป็นภวังคจิตทุกขณะหรือ

คำตอบ อยู่ในความเห็นของท่านวิทยากรของมูลนิธิฯ ด้านบนครับ

ถ้าอย่างนั้นภวังคจิตที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติ ชื่อว่า "จิตประภัสสร" ไหมครับ

ขอเชิญอ่านจากข้อความในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปโดยตรงครับ

ฉะนั้น ที่จิตชื่อว่า “ปัณฑระ” เพราะความหมายว่า “บริสุทธิ์” นั้น ตรัสหมายเอาภวังคจิตซึ่งบริสุทธิ์เพียงชั่วขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น ขณะที่หลับสนิททุกคนดูเหมือนบริสุทธิ์ ไม่รู้สึกชอบ ไม่รู้สึกชัง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่สำคัญตนไม่เมตตา ไม่กรุณาเพราะไม่เห็นไม่ได้ยินไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้ได้ว่า จิตไม่บริสุทธิ์ เพราะสะสมกิเลสต่างๆ ไว้มาก จึงทำให้เกิดความยินดีพอใจเมื่อเห็นสิ่งที่น่าพอใจ และรู้สึกขุ่นเคืองไม่แช่มชื่นเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแต่ก็ยังมีภวังคจิตที่ไหว ภวังคจิตที่รับอารมณ์ ภวังคจิตที่ส่งอารมณ์ ก่อนที่ปัญจทารจิตจะตัดสินอารมณ์ที่มากระทบ ภวังคจิตทั้งสามนี้ชื่อว่าจิตประภัสสรหรือ

ปัญจทวารวัชชนจิต กระทำอาวัชชนกิจ รำพึง (นึก) ถึงอารมณ์ที่มากระทบกับทวารในขณะนั้น ส่วนจิตที่กระทำกิจตัดสินว่าจะให้จิตเป็นกุศลหรืออกุศล เป็น โวฏฑัพพนจิต
ครับ วิถีจิตแต่ละขณะก็แสนจะรวดเร็วมาก ยากที่จะรู้ได้ด้วยปัญญาเพียงขั้นฟัง หรือขั้นคิด แต่ก็จำเป็นที่พุทธสาวกควรที่จะต้องศึกษาเพื่อให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของจิตแต่ละขณะว่าไม่มีเราที่จะบังคับบัญชาได้เลยสักขณะเดียว ถ้าค่อยๆ เห็นถูกขึ้นก็จะซาบซึ้งในพระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณและพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า อันประมาณมิได้เลยทีเดียวครับ

ภวังคจิต ไม่ว่าจะชื่อไหนก็มีกิจเดียวกัน คือ สืบต่อดำรงภพชาติไว้ ภวังคจิตรู้อารมณ์เดียวกับอารมณ์ของปฏิสนธิจิต จึงเป็นจิตที่สงบจากกิเลสสำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยผลของกุศลวิบาก เพราะไม่ต้องเดือดร้อนหรือยินดีพอใจไปกับอารมณ์ของรูปที่มากระทบปสาททางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ทำให้กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดได้ ยกเว้น ทางมโนทวาร ที่ภวังคุปัจเฉทจิตเกิดขึ้นเป็นทวารรู้อารมณ์เดียวกับวิถีจิตทางปัญจทวารที่เพิ่งดับไปแล้วนั้นในวาระหนึ่งๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมแนะนำให้อ่านในหนังสือ -->

หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป

ภวังคจิตทำกิจต่างกันอย่างนี้ มีชื่อเรียกเฉพาะไหมครับ

มีครับ ภวัง.....ภวัง.....ภวัง.....ภวัง..... ภวัง.....ภวัง.....ภวัง.....ภวัง..... ---- กระแสภวัง -------> อตีตภวัง ถูกกระทบด้วยรูปที่กระทบกับทวารหนึ่งๆ พออตีตภวังดับไป---> ภวังคจลนะเกิด ไหวเพื่อเตรียมที่จะสลัดทิ้งอารมณ์ของภวังค์ พอดับไป ----> ภวังคุปัจเฉทะ ภวังคจิตดวงสุดท้าย ถ้าดับก็สิ้นสุดกระแสภวังค์ในขณะนั้น ชื่อเรียกว่าประภัสสร เป็นจิตหรือเจตสิก ทั้งจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยครับ หมายถึงจิตหรือเจตสิกดวงใด มีชื่อว่าอะไรครับ ถ้าเป็นภวังคจิตที่มีชาติวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต้องเสมอกับจิตนั้น คือมีชาติวิบากด้วยครับ จะมีเจตสิกดวงใดเกิดด้วยนั้น ก็แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะปฏิสนธิด้วยเหตุสอง (อโลภะ อโทสะ) หรือเหตุสาม (อโลภะ อโทสะ อโมหะ) แต่เจตสิกที่จะต้องเกิดร่วมด้วยกับจิตทุกดวงไม่ขาด ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นชาติกุศล อกุศล วิบากหรือ กิริยาคือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 7 ดวง ได้แก่

1. ผัสสเจตสิก

2. เวทนาเจตสิก

3. สัญญาเจตสิก

4. เจตนาเจตสิก

5. เอกัคคตาเจตสิก

6. ชีวิตินทริยเจตสิก

7. มนสิการเจตสิก

ขออธิบายชื่อ เรื่องราว บัญญัติคร่าวๆ เพราะสภาพธรรมะจริงๆ มีปรากฏในขณะนี้ครับ


ความคิดเห็น 13    โดย lichinda  วันที่ 2 พ.ย. 2550

ขอกราบพระคุณ ครูโอที่ยกเรื่องการสะสมชวนวิถีจิตของวัสสการพราหมณ์ มาให้สติ ผู้กำลังศึกษาครับ ผมขอถือโอกาสตรงนี้ก่อนนะครับว่า ถ้าผมได้สะสมอกุศลอย่างนั้นแล้ว ผมขอกราบอภัยไว้ ณ ที่นี้ ด้วยครับ

การสะสมกุศล อกุศล และมหากิริยาฝ่ายโลกีย์ด้วยสามารถแห่งชวนวิถีจิตนั้น สะสมไปทุกขณะ จนกระทั่งทำให้เกิดเป็นอุปนิสัยต่างๆ การกระทำ กิริยาอาการ ทางกาย ทางวาจาต่างๆ

ผมขออนุโมทนาที่ครูโอที่นำเรื่องการสั่งสมมาประกอบการตอบคำถามด้วย

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย ครูโอ  วันที่ 3 พ.ย. 2550

พยายามจะตอบให้เกื้อกูลสหายธรรมด้วยกัน โดยถนอมน้ำใจของผู้อ่านให้มากที่สุดครับ ถ้าบางคำพูด ยังขัดเกลาไม่ดี คือ ยังทำให้ท่านเกิดโทสะ ขุ่นเคืองใจ โดยที่ไม่ทันได้สังเกต หรือพิจารณาให้รอบคอบเพียงพอเพราะอกุศลก็ยังคงเกิดแทรกคั่นในจิตได้บ่อยๆ ก็กราบขออภัยทุกๆ ท่านเช่นกัน ถ้าผิดตรงไหนก็ขอกรุณาช่วยทักท้วง เพราะผมก็กำลังเริ่มต้นศึกษาพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อละความไม่รู้ที่มีมากมายเช่นกัน ครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย lichinda  วันที่ 3 พ.ย. 2550

สาธุ สาธุ สาธุ ที่ครูโอเกื้อกูลสหายธรรม พึงข่ม พึงสอน ผู้มีกิเลส พึงสงเคราะห์ผู้กำลังศึกษาเถิดครับ ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาที่กำหนดโดยชื่อว่าครู ครูโอพึงกระทำหน้าที่ ทำกุศลเจตนานี้เถิดครับ ครูพึงดึงความดี ความสามารถของศิตย์ให้ปรากฏออกมา เป็นสภาพธรรมของผู้รู้ กับสภาพธรรมของผู้ศึกษา การศึกษาวิชาความรู้จึงเกิดผลสัมฤทธิ์ครับ

ขออนุโมทนาครับ สาธุ สาธุ สาธุ


ความคิดเห็น 16    โดย บักกะปอม  วันที่ 22 พ.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณครูโอค่ะ

การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวงเป็นปัจจัยเพื่อความมั่นคงในกุศลธรรม


ความคิดเห็น 17    โดย chatchai.k  วันที่ 28 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 18    โดย chatchai.k  วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขอเชิญรับฟังเพิ่มเติม...

ธาตุ


ความคิดเห็น 19    โดย Sea  วันที่ 26 ก.พ. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ