ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หากทุกๆ ท่าน ได้ติดตามอ่านข้อความที่ท่านอาจารย์ และ คุณคำปั่น ได้สนทนาไว้ในสามตอนที่แล้ว ก็คงจะสังเกตุได้ว่า ท่านอาจารย์ และ คุณคำปั่น ได้บรรยายไว้อย่างละเอียด น่าฟัง มากเลยทีเดียวนะครับ โดยท่านจะเริ่มสนทนาให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจ ตั้งแต่เริ่มต้นว่า ธรรมะ คืออะไร มีความละเอียด ลึกซึ้งเพียงไร ควรศึกษาอย่างไร ในชีวิตประจำวันมีธรรมะอย่างไร ชีวิตนี้ อะไรเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ควรรู้ยิ่ง เป็นต้น ท่านที่สนใจ ขอเชิญอ่านตอนที่ผ่านมาได้ที่นี่....
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๑
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๒
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๓
โดยในตอนสุดท้ายนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการสนทนา ตอบคำถามจากพระคุณเจ้าที่เข้าฟังการสนทนา ซึ่งคำถามมีเป็นจำนวนมากจริงๆ ท่านอาจารย์และคุณคำปั่น ก็ได้ให้ความรู้ความเข้าใจในคำถามที่พระคุณเจ้าได้ถามมา เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนจะได้มีการนำคำถามที่น่าสนใจ มาตอบในกระดานนี้บ้างหรือไม่อย่างไร ก็คงต้องติดตามกันต่อไป ในตอนนี้ ข้าพเจ้าก็ขอนำมาเพียงบางส่วนดังนี้
อ.สงบ จิตก็ดี วิญญาณก็ดี เจตสิกก็ดี เหมือนกัน หรือว่าต่างกันอย่างไร? คนเราที่ตายแล้ว อะไรจะเป็นส่วนที่เสวยกรรม ในภพต่อๆ ไป?
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขอเชิญคุณคำปั่น
อ.คำปั่น ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คงจะได้ยิน คำว่า "วิญญาณ" แต่ก็ขอให้พิจารณานว่า "วิญญาณ" นั้น คือ อะไร? "วิญญาณ" เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมะ ที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่ ออกจากร่าง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา "วิญญาณ กับ จิต" คือ สภาพธรรมะ อย่างเดียวกัน คำว่า "วิญญาณ" ตามศัพท์แล้ว หมายถึง สภาพธรรมะ ที่รู้แจ้ง "รู้แจ้ง" อะไร? ก็คือ "รู้แจ้ง" สิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ นั่นเอง หมายถึง "รู้อารมณ์" เพราะเหตุว่า จิตก็ดี วิญญาณก็ดี เป็นสภาพธรรมะ ที่มีจริง เมื่อเกิดขึ้น ต้องรู้ สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ต้องรู้อารมณ์ อย่างเช่นในขณะนี้ ที่กำลังเห็น "เห็น" ก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง เรียกว่า "จักขุวิญญาณ" มีคำว่า "วิญญาณ" แล้ว ใช่ไหม? "จักขุวิญญาณ" หมายถึง สภาพธรรมะ ที่รู้แจ้ง "สี" ที่กำลังปรากฏ ทางตา เพราะฉะนั้น วิญญาณ จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเลย แต่ว่าเป็นสิ่งที่ ควรจะศึกษาให้เข้าใจว่า วิญญาณ ก็เป็นสภาพธรรมะ ที่มีจริง อย่างหนึ่ง วิญญาณไม่มีรูปร่าง วิญญาณไม่ใช่รูปธรรม วิญญาณไม่มีการล่องลอย
เพราะเหตุว่า วิญญาณ นั้น เป็นสภาพธรรมะ ที่มีจริง เกิดขึ้น ต้องอาศัยที่เกิดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป เพราะเหตุว่า สภาพธรรมะ ที่เป็นสังขารธรรมที่มีปัจจัย ปรุงแต่ง เกิดขึ้น แล้วก็ต้องดับไป ไม่มีอะไร ที่จะคงอยู่ยั่งยืนเลย
เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ของการได้ศึกษา พระพุทธศาสนา ศึกษาแล้ว ฟังแล้ว อย่างน้อยๆ ก็จะเข้าใจว่า "วิญญาณ" คือ อะไร? ก็คือ สภาพธรรมะ ที่กำลังมี ในขณะนี้ นั่นเอง เป็นสภาพธรรมะ ที่มีจริง ทุกขณะ ไม่ปราศจาก "วิญญาณ" เลย และที่บอกว่า ตายแล้วเกิด ตราบใดก็ตาม ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมี "อวิชชา" ซึ่งเป็น "ความไม่รู้" ยังมี "ตัณหา" ซึ่งเป็น "ความติดข้อง ยินดี พอใจ" อยู่ อย่างไรก็ต้องเกิดแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะไปเกิด ณ ที่ใด ถ้าหากว่า เป็นผลของกรรมดี ก็ทำให้ไปเกิด ในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ อันนี้เป็นผลของ กรรมดี เป็นผลของกุศลกรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของกรรมไม่ดี เป็นผลของ อกุศลกรรม ก็นำพาไปสู่ที่ต่ำ นำพาไปสู่ อบายภูมิ นะครับ มี นรก เปรต อสุรกาย และ สัตว์เดรัจฉาน อบายภูมิ เป็นภูมิที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ถ้าจะถามว่า กลัวอบายภูมิไหม? กลัวนรกไหม? ถ้าถามเรียงตามตัวบุคคล ก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "กลัว" กลัวการเกิดใน อบายภูมิ กลัวการเกิดเป็น สัตว์นรก ถ้าจะถามต่อไปอีกว่า แล้ว "กลัวเหตุ"ที่จะทำให้ไปเกิด ในอบายภูมิ หรือเปล่า? อันนี้ชักจะไม่แน่ใจแล้ว เพราะเหตุว่า เป็นเรื่องของ อกุศล เป็นเรื่องของ ความไม่ดี เพราะเหตุว่า คนเรามีการสะสมมา ที่แตกต่างกัน บางคนก็มี พฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะอะไร? ถึงเป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่ดี เพราะสะสมมา ที่จะมี กาย วาจา ที่ไม่ดี เป็นผลมาจากการสะสม นั่นเอง แต่บางคน บางท่าน ก็มีการสะสม ในทางที่ดี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีการอนุเคราะห์ สงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสะดวกสบาย ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ก็เป็นการสะสมมา ในทางที่ดี เพราะฉะนั้น ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของธรรมะเลย ไม่ว่าจะเป็นการ สะสม ในทางที่ดี หรือ ไม่ดี ก็เป็นเรื่องของ "ธรรมะ" ทั้งหมด แต่บุคคลที่ได้ฟังธรรมะ ได้ศึกษาธรรมะ รู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี ท่านก็สามารถจะดำเนินไป ในทางที่ถูก ที่ดีงาม ประพฤติ ปฏิบัติ ในสิ่งที่ดีงาม และ งดเว้น จากสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหลายทั้งปวงนั้น
ประการที่สำคัญก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ พระธรรม นี้เองที่จะเป็นเครื่อง เกื้อกูลอุปการะ ให้แต่ละคน แต่ละท่านนั้น มีความประพฤติ ที่ดีงาม ทั้ง ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะฉะนั้น "ปัญญา" จึงเป็น เครื่องปกครองคน เป็น "รัตนะ" ที่ประเสริฐ ของนรชนทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุด ในการฟังพระธรรม แต่ละครั้งๆ ก็คือ เพื่อเข้าใจธรรมะ เพื่อความเจริญขึ้นของ "ปัญญา" นั่นเอง กราบเรียน ท่านอาจารย์ ได้ช่วยเพิ่มเติมด้วยครับ
ท่านอาจารย์ ธรรมะ เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไหม? หรือ ไม่เห็นจะน่าอัศจรรย์เลย แต่ถ้าคิดว่า ทำไม? มี "เห็น" ทำไม? มี "แข็ง" ทำไม? มี "เสียง" ทำไม? มี "กลิ่น" สิ่งต่างๆ นี้ มาจากไหน? ใคร? ทำให้เกิด ได้ไหม? ความน่าอัศจรรย์ คือ ไม่มีใคร ที่สามารถทำ จะทำอะไร ได้เลย เพราะเหตุว่า "ธรรมะ" เป็นอิสระ แต่ว่า ไม่พ้นจากปัจจัย ธรรมะ แม้ว่าเป็น อนัตตา ไม่อิสระ เพราะต้องเป็นไปตามปัจจัย ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่มีความน่าอัศจรรย์ เพราะ "ไม่รู้" แต่ถ้ารู้แล้ว ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์จริงๆ ว่า แม้ว่าธรรมะ ขณะนี้ก็มี ไม่ต้องเรียกชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ต้องใช้คำว่า "จิต" ไม่ต้องใช้คำว่า "ธรรมะ" ไม่ต้องใช้คำว่า "วิญญาณ" แต่ "สิ่งนี้" ก็กำลังมี กำลังปรากฏ แต่จำเป็นต้องใช้ "คำ"
เพราะฉะนั้น พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นภาษา มคธี ทรงแสดงธรรมแก่ชาว มคธ คำว่า "วิญาณ" หรือ "วิญญาณะ" ในภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย แต่หมายความถึง สภาพที่สามารถจะ รู้ เห็น คิด นึก ต่างๆ ได้ ธาตุนี้ มีจริงๆ จะไม่เรียกก็ได้ ทุกวันนี้ ก็มีความสุข โดยเราไม่ต้องเรียกชื่อว่า "สุข" หรือว่า "สุขะ" หรือ ภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ แต่สภาพธรรมะนั้น ก็เกิดขึ้นแล้ว เป็นอย่างนั้นแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะ บังคับบัญชา หรือ ทำให้เกิดได้
ด้วยเหตุนี้ คำว่า "วิญญาณ" หมายความถึง "ธาตุ" หรือ "ธรรมะ" ที่เป็น "ธาตุรู้" เพียงคำว่า "ธาตุรู้" คนไทยก็ไม่ชินแล้ว เพราะเหตุว่า พอได้ยิน เราก็บอกว่า "ได้ยิน" แต่ไม่รู้ความจริงของ "ได้ยิน" ว่า เป็น "ธาตุ" ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น สามารถที่จะรู้ว่า "เสียง" ที่ "ได้ยิน" มี "ลักษณะ" อย่างนี้ เพราะว่า "เสียง" ที่ "ได้ยิน" นั้น ต่างกัน หลากหลายมาก ตั้งแต่ เสียงคน เสียงสัตว์ เสียงดนตรี "เสียง" ก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย แต่ถ้า ไม่มี "ธาตุ" ที่ "ได้ยิน" เสียง เสียงจะ ปรากฏ ไม่ได้เลย แม้ว่า เสียงมี
ด้วยเหตุนี้ ธรรมะ ที่มีจริงๆ จึงต่างกัน เป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประเภทหนึ่ง ไม่รู้อะไรเลย เป็นธรรมะ ที่เป็น "รูปธรรม" อีกประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เช่น ขณะนี้ พอพูดถึง "เห็น" ทุกคน ไม่สงสัยเลย เพราะ "กำลังเห็น" แต่ "เห็น" คือ อะไร? "เห็น" คือ ขณะที่กำลังรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏ ทางตา เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะ "เห็น" ที่ไหน ก็ต้องสามารถ "เห็น" สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ได้ ความละเอียด ความลึกซึ้ง ของธรรมะ มากมาย เจ้าค่ะ แม้แต่เพียง ขณะนี้ ถ้าทุกคน กระทบสัมผัส ไม่เห็นสีสันวรรณะ เลย แต่ "รู้แข็ง" เพราะฉะนั้น "แข็ง" สามารถจะ "ปรากฏ" เมื่อ กระทบ "ลักษณะ" นั้น จึง "ปรากฏ" ว่ามีลักษณะที่ "แข็ง" เป็นสิ่งที่มี ไม่ต้องเรียกอะไรก็ได้
แต่ว่า ที่ใดก็ตาม ที่มี ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม มหาภูตรูป ๔ ซึ่งคนไทยคุ้นกับคำนี้มาก เพราะเหตุว่า พอพูดคำว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ขาดเลย พูดได้ ครบทั้งสี่ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดิน คือ ลักษณะที่ "แข็ง" หรือ "อ่อน" ธาตุไฟ คือ ลักษณะที่ "ร้อน" หรือ "เย็น" ธาตุลม คือ ลักษณะที่ "ตึง" หรือ "ไหว" ธาตุน้ำ คือ ลักษณะ ที่ "เอิบอาบ เกาะกุม" สภาพธรรมะที่เกิดร่วมกัน แยกกันไม่ได้เลย เพราะว่า ธาตุนำ้เอิบอาบ แล้วก็ ซึมซาบ เอิบอาบ คุมลักษณะของธาตุทั้ง ๓ เป็นธาตุทั้ง ๔ ซึ่งแยกกันไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ แม้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่มีใครมองเห็น แต่ที่เห็นในขณะนี้ ก็เพราะว่า มีรูปธรรม หรือ ธาตุ ชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับ มหาภูตรูป แต่สามารถกระทบกับ จักขุปสาท แล้วปรากฏเป็น สีสันวรรณะ ต่างๆ ถ้าจะอุปมาว่า มหาภูตรูป ทั้ง ๔ เหมือนนางยักษิณี ซึ่งแปลงกายได้ แล้วแต่ว่าจะแปลงกายเป็น ต้นไม้ แปลงกายเป็น ดอกไม้ แปลงกายเป็น คน แปลงกายเป็น สัตว์ ต่างๆ ซึ่ง ความจริงก็คือ "มหาภูตรูป"
ด้วยเหตุนี้ ความลึกล้ำ ความละเอียด ของธรรมะ ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสรู้ เป็นความจริง ที่ทุกคน สามารถที่จะ ฟัง ไตร่ตรอง แล้วก็ เริ่มเข้าใจ สิ่งที่มีจริงในชีวิต ได้ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น
อ.สงบ อะไร? เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้คนทุกวันนี้ เกิดความทุกข์
ท่านอาจารย์ ทุกข์กาย หรือ ทุกข์ใจ มี ๒ อย่างค่ะ ถ้าทุกข์กาย ก็เพราะเหตุว่า มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถึงวาระที่จะทำให้ได้พบ สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นผลของ อกุศลกรรม ถ้าทางใจก็คือ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังไม่พ้น ทุกข์ใจ
อ.สงบ ทุกคน ก็พบกับ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ในปฏิจจสมุปปาท กี่ภพ กี่ชาติ ถึงจะหลุดพ้น จากสิ่งเหล่านี้ มีวิธีการที่จะเข้าถึง ธรรมะเช่นนี้ อย่างไร?
ท่านอาจารย์ ปฏิจจสมุปปาท เป็น อวิชชา เพราะ "ไม่รู้" จึงมีการเกิดขึ้น เป็นไป ถ้า "รู้" เมื่อไหร่ ก็สิ้นสุด การที่จะต้อง เกิด ดับ อีกต่อไป
อ.สงบ คนที่ตายแล้ว เกิดอีก สามารถ "ระลึกชาติ" ได้ เคยมีคนพูดว่า เขาจำอดีต ของตนได้ อันนี้ เป็นเพราะเหตุใด?
ท่านอาจารย์ "ระลึกชาติ" ไม่ใช่ "จำชาติ" เป็นบางส่วนได้ เจ้าค่ะ การระลึกชาติต้องเป็น "ปัญญา" ที่เกิดจากความสงบของจิต จนถึงขั้น อัปนาสมาธิ ที่ไม่รู้อารมณ์ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะจิตขณะนั้น สงบแนบแน่นอยู่กับอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ ที่ทำให้จิตขณะนั้น สงบได้ตามลำดับขั้น ขั้นต้น คือ ปฐมฌาน ยังไม่สามารถที่จะมีปัญญา ที่จะระลึกชาติได้เลย ขั้นที่สอง คือ ทุติยฌาน ความสงบที่แนบแน่นยิ่งขึ้น ปราศจากองค์ที่ทำให้ตรึก หรือ ตรอง ถึงสิ่งที่น้อมไป ที่จะรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ
นี่ก็เป็น เรื่องที่ละเอียดมาก แต่ให้ทราบว่า ใครว่าอะไร โดยที่ไม่แสดงเหตุ ควรเชื่อไหม? ถ้ามีใคร บอกว่าใครระลึกชาติได้ ระลึกได้ยังไง? ต้องแสดงเหตุให้ระลึกชาติว่า ควรแก่การระลึกชาติหรือเปล่า? มิฉะนั้น การเชื่อก็คือ การเชื่อที่ไร้เหตุผล พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงธรรมะเป็นที่พึ่ง ไม่ให้คนอื่น เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง หรือว่า ปราศจากเหตุผล เจ้าค่ะ
อ.สงบ มีคำถกเถียงกันอยู่ว่า อภิธรรม เป็นคำสั่งสอน จากพระโอษฐ์ ของพระพุทธเจ้า ใช่หรือไม่?
อ.คำปั่น ครับ ก็เป็นพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง ถ้าหากว่าได้ค้นคว้า ในพระไตรปิฎก ก็จะพบคำว่า อภิธรรม อยู่ เยอะมาก นี้คือ เป็นพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ว่าเป็นธรรมะที่มีจริง เป็นธรรมะที่ละเอียดยิ่ง "อภิธรรม" ไม่ได้อยู่ที่ในหนังสือ "อภิธรรม" เป็น ธรรมะ ที่มีจริง ในชีวิตประจำวัน ทั้งหมด ทำไมจึงบอกว่าเป็น อภิธรรม เพราะเหตุว่า เป็นธรรมะที่ ละเอียดยิ่ง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา นั่นเอง จึงชื่อว่า อภิธรรม ถ้าหากว่า ไม่ได้ฟังเลย ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย ก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงธรรมะอย่างนี้ แม้แต่เมื่อสักครู่นี้ กล่าวถึงขณะที่นอนหลับสนิท เป็นอภิธรรม หรือเปล่า? ก็ต้องพิจารณาใช่ไหม? ว่า อภิธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด แม้แต่ขณะที่หลับสนิท ก็เป็นอภิธรรม เช่นกัน เพราะว่าในขณะนั้น มีจิตเกิดขึ้น สืบต่ออยู่ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่จิตที่ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส แต่ว่า เป็นจิตที่เกิดขึ้น สืบต่อ ดำรงภพชาติ ความเป็นบุคคลนั้นไว้
ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ชีวิตของทุกคน ที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ก็คือ วิถีจิต กับ ไม่ใช่วิถีจิต ก็ขอกล่าวคร่าวๆ ก่อนว่า วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ อันนี้ เป็นวิถีจิต และอีกประเภทหนึ่งก็คือ จิตที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ โดยไม่ต้องอาศัยทวารทั้ง ๖ เลย ไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยจมูก ไม่ต้องอาศัยลิ้น ไม่ต้องอาศัยกาย ไม้ต้องอาศัยใจเลย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็มีจิตอยู่ ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังค์จิต และ จุติจิต ซึ่งในภพนี้ ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นดับไปแล้ว ภวังคจิต ก็เกิดขึ้น เป็นไป แต่ว่า จุติจิต ยังไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ ชีวิตกำลังดำเนินไปอยู่นี้ ก็มี วิถีจิต สลับกับ ภวังค์จิต นั่นเอง ไม่ว่าจะศึกษา ในเรื่องของจิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี ไม่พ้นไปจาก "อภิธรรมะ" เลย เพราะเป็นธรรมะที่ละเอียดยิ่ง เป็นธรรมะที่ควรศึกษา เพื่อให้เข้าใจ ตามความเป็นจริงอย่างยิ่ง คือ "อภิธรรม" ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า อภิธรรมะ ธรรมะ สัจจธรรม ธาตุ ปรมัตถธรรม ก็หมายถึง สิ่งที่มีจริง ทั้งหมด เพราะเหตุว่า คำที่กล่าวมา เมื่อสักครู่นี้ เป็นภาษาบาลี เป็นภาษามคธ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงประกาศพระศาสนาด้วยคำเหล่านั้น แต่เมื่อกล่าวเป็นภาษาไทยแล้ว ก็คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมดนั่นเอง
ท่านอาจารย์ กุศลาธรรม อกุศลาธรรมา อัพยากตาธรรมา เป็น "อภิธรรม" หรือเปล่า?....."เป็น"...... "อัพยากตาธรรมา" เป็นชื่อใหม่ ซึ่งคนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่คุ้นหู เพียงแต่ได้ยิน กุศลธรรม อกุศลธรรม แต่คัมภีร์แรก ในอภิธรรม คือ ธรรมสังคณีปกรณ์ ก็จะเริ่มด้วย กุศลาธรรมา อกุศลาธรรมา อัพยากตาธรรมา
เพราะฉะนั้น อัพยากตาธรรมา ธรรมะ ที่เป็น อัพยากตะ คือ อะไร? ธรรมะ ที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ทั้งหมด เป็น อัพยากตธรรม ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ "เห็น" ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็น "วิบากจิต" เป็น "ผลของกรรม" ที่ทำให้ต้องเห็น เมื่อรูปนั้น กระทบกับ จักขุปสาท ถึงกาละที่ต้องเห็น ใครจะห้ามไม่ให้เห็น ไม่ได้เลย เห็นฟ้าแลบ ใคร? จะชอบ? ใคร? จะอยาก? แต่ก็เห็นแล้ว เป็น "ผลของกรรม" ที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่กรรม คือ กุศล และ อกุศล
ด้วยเหตุนี้ "เห็น" ขณะนี้ เป็น "อภิธรรม" หรือเปล่า? เพราะเหตุว่า "อัพยากตาธรรมา" หมายความถึง ธรรมะ ที่ไม่ใช่กุศล และ ไม่ใช่อกุศล ก็เป็น "อัพยากตธรรม" เพราะฉะนั้น "ได้ยิน" นี้เอง ก็เป็น "อภิธรรม" จะกล่าวว่า ไม่ใช่ "อภิธรรม" ก็ไม่ได้
อ.สงบ ฟังท่านอาจารย์ ได้ตอบคำถาม แล้วก็ท่านอาจารย์คำปั่น ได้ตอบ ก็มีความเข้าใจอยู่ระดับหนึ่งว่า สภาพที่เกิดขึ้น เกิดดับ เป็นสภาพ เป็นอนัตตา ในส่วนซึ่งเป็นธรรมะละเอียด ซึ่งเป็นอภิธรรม พระพุทธองค์ ก็ทรงแสดง แล้วพุทธองค์ก็ทรงตรัสอยู่แล้ว มีคำถามต่อมาว่า อะไรเป็นเครื่องยืนยัน ผมเข้าใจว่า แค่ความจริงของความเป็นจริง ก็เป็นเครื่องที่ยืนยันแล้วว่า เป็นพุทธพจน์
แต่ถ้าจะยืนยันจากตำรับตำรา นี้ก็คงจะต้องคุยกันอีกนาน คือคำถามของท่าน ท่านบอกว่า มีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน ที่ว่าใช่ และ ไม่ใช่ ทีนี้ ในการที่จะตรัสรู้ สภาพธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้ง ได้จริงๆ นี่ คนธรรมดา ก็ยากที่จะตรัส ยากที่จะแสดงได้ ไม่มีใคร "คิด" ได้ เรื่องของการเกิดดับ เป็นสภาพ เป็นอนัตตา ยืนยันในความเป็นจริงก็คือ ก็น่าจะเป็นหลักฐานได้
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เป็น "ภาษา" หรือเป็น "คำ" ที่เราจะต้องติด ถ้ารู้จักคำว่า "ธรรมะ" จริงๆ จะ "เข้าใจ" ว่า "ธรรมะ เป็น อภิธรรม" แน่นอน เพราะเหตุว่า ลึกซึ้งมาก เช่น "เห็น" ขณะนี้ มีจริง เคยเป็นเรา เพราะเข้าใจว่า "เราเห็น" แต่ว่าความจริง "เห็น" เกิดขึ้น และ "เห็น" ก็ดับไป เพราะว่า ไม่ได้มีเห็นตลอดไปเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยึดถือว่า "เป็นเรา" ความจริงก็เป็น "ธรรมะ" แต่ละลักษณะ ซึ่ง ละเอียด ลึกซึ้ง อย่างยิ่ง จึงกล่าวว่า "อภิธรรมะ"
อ.สงบ เหลือเวลาอีก ๕ นาที คำถามนี้คงจะเป็น คำถามสุดท้าย สำหรับวันนี้ มีคำถาม ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทุกอย่าง เป็นอนัตตา และสิ่งที่ปรากฏอยู่ให้เราเห็นในขณะนี้ ได้ยินในขณะนี้ เป็นอัตตา จะว่า เป็นอนัตตา ได้อย่างไร?
ท่านอาจารย์ ก็น่าจะเปลี่ยนกลับว่า ทำไมว่า เป็นอัตตา ในเมื่อเห็น ก็บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องเห็น เกิดแล้วเห็น แล้วก็มี ได้ยิน ชึ่งไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างที่เกิด ก็เป็นสภาพธรรมะที่ ไม่มีใครสามารถ บังคับบัญชาได้ แล้วจะเป็น อัตตา ได้อย่างไร? ใครว่าเห็น เป็นอัตตา ก็คือเป็นเรา หรือว่า เป็นตัวตน แต่ความจริง "เห็น" เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมะ ซึ่งเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ยิน ไม่ใช่เกิดขึ้นคิดนึก
เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างนี้ ก็มีความละเอียดมาก ซึ่ง ถ้าเป็นเรา บังคับบัญชา "เรา" ได้ไหม? ถ้าบังคับบัญชาไม่ได้ แล้ว "เป็นเรา" ในลักษณะไหน? ที่ว่า "เป็นเรา" หรือว่า "เป็นของเรา"?
อ.สงบ สำหรับวันนี้ ก็ขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เมตตา ให้ธรรมะ เป็นทาน สำหรับ พระคุณเจ้าทั้งหลาย ที่จะได้ ไปเผยแผ่ธรรมะ เป็นครูสอนธรรมะ ในโรงเรียนต่างๆ หวังว่าโอกาสหน้า คงได้รับความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ สำหรับมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ต่อไป
ขอนิมนต์ พระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้อนุโมทนา กับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ โดยพร้อมกัน นะครับ
สาธุ
[๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความเสื่อมแห่งโภคะมีประมาณน้อยความเสื่อมแห่งปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย. [๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความเจริญด้วยโภคะมีประมาณน้อยความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลายเพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่าเราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญปัญญาดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 143
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
คุณคำปั่น อักษรวิลัย ท่านรองศาสตราจารย์ สงบ เชื้อทอง และ ท่านพลอากาศตรีหญิง กาญจนา เชื้อทอง รวมทั้งทุกๆ ท่านที่เกี่ยวข้อง ใน ณ กาลครั้งนี้ ซึ่งได้ถูกบันทึก และจดจำไว้ว่า เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่มีค่า และ มีความหมายยิ่ง ต่อวงการพระศาสนาของไทย และ เป็นขณะ ของกุศลจิต ที่เกิดขึ้น เป็นไปด้วยความปีติยิ่ง ยากที่จะบรรยายได้ และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอเชิญคลิกชมวีดีโอการสนทนาธรรมในครั้งนี้ได้ที่นี่...
ขอเชิญคลิกอ่านตอนที่ผ่านมาทั้งหมด ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง....
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๑
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๒
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๓
ท่านอาจารย์ กุศลาธรรม อกุศลาธรรมา อัพยากตาธรรมา เป็น "อภิธรรม" ถ้ารู้จักคำว่า "ธรรมะ" จริงๆ จะ "เข้าใจ" ว่า "ธรรมะ เป็น อภิธรรม" แน่นอน
...กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ...
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น และคุณวันชัยค่ะ
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คุณคำปั่น อักษรวิลัย และ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ติดตามจนจบ เป็นประโยชน์มากค่ะ ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และ
ทีมงานทุกคนอีกครั้ง
"ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่มีค่า และ มีความหมายยิ่ง ต่อวงการพระศาสนาของไทย" ขอกราบอนุโมทนาครับ
ธรรมทานอันประเสริฐยิ่ง
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และ คุณวันชัย ในสุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณ คุณป้าหมู และ คุณลุงสมพร ด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ
ขอขอบพระคุณ และ กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อาจารย์คำปั่น และคุณวันชัยคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นอย่างยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา/กุศลวิริยะของพี่วันชัย และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกทุกท่านครับ
กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์และอาจารย์คำปั่น
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในความกรุณาและวิริยะของคุณวันชัยเป็นอย่างยิ่งครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
"ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่มีค่า และ มีความหมายยิ่ง ต่อวงการพระศาสนาของไทย" ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกทุกท่านค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกดวงค่ะ
ขอกราบอนุโมทนาท่านอจ.สุจินต์ อจ.คำปั่น และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
เจริญพรและขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งในกุศลเจตนาของทุกท่าน
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คุณคำปั่น อักษรวิลัย ท่านรองศาสตราจารย์ สงบ เชื้อทอง และ ท่านพลอากาศตรีหญิง กาญจนา เชื้อทอง รวมทั้งทุกๆ ท่านที่เกี่ยวข้อง ใน ณ กาลครั้งนี้