คือปกติผมก็นั่งสมาธิแบบพุทธโธนี่แหละครับ แล้ววันนี้เกิดอาการกลัวขึ้นมาครับ คืออยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าเราอยู่ในความมืดคนเดียว แล้วความรู้สึกทางกายมันหาย มันเงียบมากๆ มืดมากๆ รู้สึกเหมือนเราจะควบคุมอะไรไม่ได้ครับจนกลัว และกลัวว่านั่งต่อไปจะหนักกว่านี้จึงต้องออกจากสมาธิครับ ช่วยตอบคำถามดังนี้ครับ อาการนี้คืออะไรจะมีอันตรายกับเราไหม? ควรจะแก้อย่างไรครับ? เวลานั่งตอนดึกๆ แล้วมีอารมณ์กลัวผีขึ้นมาทำอย่างไรดีครับ? ผมไปถามที่เวปอื่นมาแล้วครับ แต่ไม่ได้คำตอบที่แน่นอน ไม่รู้ว่าผมควรจะหยุดแล้วไปหาอาจารย์สอนดีไหมน่ะครับ ขอบคุณครับ
การเจริญสมถภาวนาถ้าเจริญไม่ถูกต้องจิตขณะนั้นย่อมไม่สงบ อาการดังกล่าวน่าจะเป็นภาพหลอนทางมโนทวาร ควรศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจก่อนย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่า
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๖๖
[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น.
สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ไม่มีกำลังตั้งมั่นคงในอารมณ์เท่ากับเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ขณะใดที่จิตเกิดดับรู้อารมณ์เดียวสืบต่อกันนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์แต่ละขณะจิตนั้น ก็ปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ ขณะใดที่เป็นกุศล เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ขณะนั้นจึงเป็น สัมมาสมาธิ ตามลำดับขั้นของกุศลนั้นๆ
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๖๖
[๖๔] สมถะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไปความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสมถะมีในสมัยนั้น.
สงบหมายความว่าอย่างไร
จะต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฎฐัพพะและคิดนึก อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ จะรู้ว่าเมื่อเห็นสิ่งใดก็ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง โทษะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อได้ยินเสียงก็ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง โทษะบ้าง โมหะบ้าง
ส่วนกุศลจิตที่เกิดในวันหนึ่งๆ นั้นย่อมเป็นไปในทานบ้าง ศีลบ้าง เพียงเล็กๆ น้อยๆ ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจึงอบรมจิตให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้นด้วยในขณะที่ไม่ใช่ทานและศีล การอบรมจิตให้สงบจากอกุศลทั้งหลายเป็นกุศลขั้นสมถภาวนา แต่การจะระงับจิตให้สงบจากอกุศลนั้นต้องเป็นปัญญา
สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ
สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ
การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญาก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต
การเจริญสมถภาวนาเป็นการเจริญความสงบของจิตด้วยปัญญาที่เห็นโทษของจิตที่ไม่สงบ การอบรมเจริญความสงบของจิตจึงต้องมีสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตในขณะนี้เสียก่อน แล้วจึงจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นความสงบคือ สมถภาวนา
ปวดขามากๆ
เพราะอะไรเวลาที่ผมนั่งสมาธิแล้วจึงปวดขามากๆ ทำให้ไม่สงบ เมื่อหันมาดูที่ความปวดกลับยิ่งปวดมากขึ้น ไม่ทราบปฏิบัติผิดทางหรือไม่ครับทุกวันนี้สับสนมาก
เวลานั่งขัดสมาธิ์แล้วปวดขาเป็นเรื่องของร่างกายที่ไม่อำนวย แต่การอบรมสมถะหรือวิปัสสนาไม่ใช่ว่าจะอยู่เพียงอิริยาบถนั่งเท่านั้น ท่านที่เข้าใจในการอบรมสมถะและวิปัสสนาจะอยู่ในอิริยาบถไหน จะอยู่ที่ไหน จะทำอะไรก็อบรมได้ทุกที่ทุกเวลา อยู่ที่ความเข้าใจ ขอให้ท่านโปรดศึกษาในหลักธรรมให้เข้าใจในหลักธรรมก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด
การปฏิบัติธรรมเป็นการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุว่าพระธรรมไม่ใช่สำหรับอ่านหรือว่าไม่ใช่เพียงสำหรับพิจารณา ทุกท่านควรจะประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่เข้าใจด้วย ถ้าไม่ศึกษาด้วยการพิจารณาพระธรรมโดยละเอียดก็ยากที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้นลึกซึ้งและละเอียดจริงๆ ฉะนั้นส่วนใหญ่ของพุทธศาสนิกชนจึงปฏิบัติธรรมขั้นทานและขั้นศีล แต่การปฏิบัติธรรมขั้นอบรมเจริญปัญญานั้นต้องศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียดจึงจะอบรมเจริญได้
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ