[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 487
จตุตถปัณณาสก์
มหาวรรคที่ ๕
๔. สามุคิยสูตร
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 487
๔. สามุคิยสูตร
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔
[๑๙๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ อยู่ที่นิคมของพวกโกฬิยะ ชื่อ สาปุคะ ในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวนิคมสาปุคะมากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะโกฬิยบุตรชาวสาปุคนิคมว่า ดูก่อนพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน องค์ ๔ ประการเป็นไฉน คือองค์เป็นที่ตั้งแห่ง ความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีล ๑ จิต ๑ ทิฏฐิ ๑ วิมุตติ ๑ ดูก่อน พยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร เพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีลเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกว่า สีลปาริสุทธิ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญา ประคับประคองสีลปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริสุทธิ.
ดูก่อนพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 488
... ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌานอยู่ นี้เรียกว่าจิตตปาริสุทธิ ความพอใจ... สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังจิตตปาริสุทธิ เห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประดับประคองจิตตปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิ.
ดูก่อนพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า ทิฏฐิปาริสุทธิ ความพอใจ... สติและสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า เรา จักยังทิฏฐิปาริสุทธิ เห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประดับประคองทิฏฐิปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิ.
ดูก่อนพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิเป็นไฉน อริยสาวกนี้แล เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริลุทธิ... จิตตปาริสุทธิ... ทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว ย่อมคลายจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย่อมเปลื้องในธรรมที่ควรเปลื้อง ครั้นแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุตติ นี้เรียกว่า วิมุตติปาริสุทธิ ความพอใจ... สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังวิมุตติปาริสุทธิเห็นปานนี้ อันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประดับประคองวิมุตติปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่า องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิ.
ดูก่อนพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระ-
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 489
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและการคร่ำครวญ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน.
จบสามุคิยสูตรที่ ๔
อรรถกถาสามุคิยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสามุคิยสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สาปุคิยา ได้แก่ กุลบุตรชาวนิคมสาปุคะ. บทว่า พยคฺฆปชฺช ความว่า พระอานนท์ เมื่อเรียกโกฬิยบุตรเหล่านั้น จึงกล่าวอย่างนี้ โกฬนคร มีสองชื่อ คือ นครโกฬะ เพราะเขานำไม้กระเบามาสร้าง ๑ ชื่อว่า พยัคฆปัชชะ เพราะเขาสร้างในทางเสือผ่าน ๑. บรรพบุรุษของชาวโกฬิยะเหล่านั้น อาศัยอยู่ในพยัคฆปัชชนครนั้น เพราะฉะนั้น ท่านเรียกว่า พยัคฆปัชชะ เพราะอาศัยอยู่ในพยัคฆปัชชนคร. ด้วยเหตุนั้น พระอานนท์เมื่อเรียกชาวโกฬิยะ เหล่านั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า ปาริสุทฺธิปธานิยงฺคานิ ได้แก่องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร เพื่อความบริสุทธิ์ อธิบายว่า องค์คือส่วนแห่งความเพียรที่ควรตั้งไว้. บทว่า สีลปาริสุทฺธิปธานิยงฺคํ นี้เป็นชื่อของความเพียรอันยังศีลให้บริสุทธิ์. จริงอยู่ ปาริสุทฺธิปธานิยังคะนั้น นี้เป็นองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อให้ความบริสุทธิ์แห่งศีลเต็มบริบูรณ์ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า สีลปาริสุทธิปธานิยังคะ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 490
บทว่า ตตฺถ ตตฺถ ปญฺาย อนุคฺคเหสฺสามิ ความว่า เราจัก ประคับประคองด้วยวิปัสสนาปัญญาไว้ในที่นั้นๆ. ในบทว่า โย ตตฺถ ฉนฺโท เป็นต้น พึงทราบความโดยนัยนี้ว่า กัตตุกัมมยตาฉันทะความพอใจ คือ ความ ใคร่ทำในการประคับประคองนั้นอันใด. ก็ สติ สัมปชัญญะ ท่านกล่าวใน ที่นี้เพื่อภิกษุเข้าไปตั้งสติไว้แล้วกำหนดด้วยญาณ ยังความเพียรให้ดำเนินไป บทว่า รชฺชนีเยสุ ธมฺเมสุ จิตฺตํ วิราเชติ ความว่า ย่อมทำโดยอาการที่จิตคลายกำหนดในอิฏฐารมณ์อันเป็นปัจจัยแห่งราคะ. บทว่า วิโมจนีเยสุ ธมฺเมสุ จิตฺตํ วิโมเจติ ความว่า ย่อมทำโดยอาการที่จิตเปลื้องไปจากอารมณ์ซึ่งจิตควรจะเปลื้อง. ในบทว่า วิราเชตฺวา นี้ชื่อว่า คลายกำหนัดในขณะแห่งมรรค ชื่อว่า คลายกำหนัดแล้วในขณะแห่งผล. แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สมฺมาวิมุตตึ ผุสติ ได้แก่ ถูกต้องอรหัตตผลวิมุตติ ตามเหตุตามนัยด้วยญาณผัสสะ.
จบอรรถกถาสามุคิยสูตรที่ ๔