จากคำบรรยายเรื่อง ธรรม ๒ นาที
ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขณะนี้ที่ตัว มีใครรู้ไหมว่ากลุ่มของรูป กลุ่มไหนกำลังเกิด และหลังจากนั้น ๑๗ ขณะ ก็ดับไป นี่เป็นความจริง และก็ไม่รู้ด้วยว่า ต่อไป รูปกลุ่มอื่นจะเกิดเมื่อไร แล้วก็จะดับไปอีก เมื่อไร เพราะเหตุว่าการเกิดดับของรูปก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว และก็เป็นไปโดยไม่ขาดสายตั้งแต่เกิด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ กลุ่มของรูปก็ทยอยกันเกิด ทยอยกันดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ดับไปเลย
ถ้าในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ปรากฏว่าดับ ขณะไหนๆ ซึ่งสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็จะไม่ปรากฏว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ดับ ทั้งๆ ที่มีอายุที่สั้นมาก เพียงแค่การเกิดและดับของจิต ๑๗ ขณะ
เพราะฉะนั้นก็จะอาศัยเพียงความเปลี่ยนแปลงสภาพของรูปนั้นๆ เท่านั้น ที่ทำให้พอจะปรากฏเกิด ให้รู้ได้ว่า รูปนั้นเปลี่ยนไป คือ ดับไป แต่ก็เป็นเพียงการคิด การเข้าใจ หรือการคาดคะเน แต่ไม่ใช่เป็นการประจักษ์การเกิดดับจริงๆ ของรูป
กราบเท้าบูชาท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพยิ่ง
จากคำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ ในเรื่องนี้ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การที่จะประจักษ์ การเกิดดับของรูป ซึ่งแม้จะหยาบกว่าจิตมาก แต่ก็ยาก ที่จะประจักษ์แจ้ง ได้จริงๆ
เมื่อได้ศึกษาแล้ว คิดว่าเข้าใจ เรื่องของการเกิดดับของรูป จากนั้น พิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพของรูปตามที่เข้าใจ เช่น เห็น รูปทางตาเปลี่ยนแปลงไป สังเกตจากการเคลื่อนไหวของรูป, ได้ยินเสียงทางหูแล้วดับไป, หรือทางกายเวลาเดินกระทบ แข็งเกิดแล้วดับไป นั้น เป็นเพียงความคิด การเข้าใจ หรือการคาดคะเน ดังที่ท่านอาจารย์สุจินต์ อธิบายข้างต้นเท่านั้นเอง ไม่ได้รู้จริงในการเกิดดับของรูปแต่อย่างใดเลย
ดังนั้น การที่มีหนังสือหรือคำบรรยายมากมาย ที่ยกเอาธรรมะ เรื่อง อนิจจังขึ้น แล้วอธิบายเพียงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิด แล้วก็ดับ โดยนำเอาความเปลี่ยนแปลงทั่วๆ ไปในแต่ละวันมาแสดง ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน เช่น สิ่งต่างๆ ไม่เที่ยง คนเรามีเกิดแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีสุข เดี๋ยวก็ทุกข์, ร่างกายทั่วไปที่ชอบเรียกกันว่า รูป หรือสังขาร ไม่นานก็เสื่อมโทรมไปตามวัย ไม่เที่ยง, มีทรัพย์สมบัติ เดี๋ยวก็หมดไป เป็นต้น
นี่ก็เป็นเรื่องผิวเผินมากๆ มิได้ชี้แนะ ให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริงโดยละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งในตอนแรกผมได้อ่าน ได้ฟังคำพูดลักษณะเช่นนี้ ในหนังสือธรรมะและคำบรรยายต่างๆ ก็ฟังดูดี และก็คิดว่า พอที่จะเข้าใจกันได้
แต่พอได้ศึกษาโดยละเอียด จากท่านอาจารย์สุจินต์และคณะวิทยากรแล้ว ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงความคิดของเราเองเท่านั้น และไม่มีทางที่จะไปต่อได้เลย หากไม่ศึกษาให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นๆ และเมื่อไม่เข้าใจถึงสภาวะของรูปจริงๆ แล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ทางที่จะเห็นความเกิดดับได้จริงๆ เลย มีแต่การคิดนึกเอาเองเท่านั้น
และนี่เองที่ทำให้เห็นได้ว่า แม้จะเป็นผู้ศึกษาธรรมทั่วไปหลายคน ซึ่งไม่มีผู้ชี้แนะ พอเจอะเจอเหตุการณ์จริงหรือเรื่องการสูญเสียจริงๆ เข้า ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ตามความเป็นจริงเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก แต่ในขณะเดียวกัน ผมยังโชคดีมีบุญกุศลเก่าที่สะสมมาบ้าง ได้พบผู้ชี้แนะที่ตรงที่สุด ทำให้สามารถ เปลี่ยนจากการศึกษาธรรมแบบผิวเผิน อย่างที่เคยปฏิบัติมา มาสนใจศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้น และจึงรู้ความจริงว่า ธรรมะละเอียด และลึกซึ้งมาก เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวนาน มากกว่าภพเดียวชาติเดียว ถ้าไม่เริ่มให้ถูกต้องตั้งแต่วันนี้ คงหมดโอกาสที่จะได้พบความจริงอย่างแน่นอน
กราบเท้าขอบพระคุณและขออนุโมทนา ท่านอาจารย์สุจินต์
และคณะวิทยากร และทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมและรูปธรรม จะต้องเป็นปัญญาระดับสูง ระดับวิปัสสนาญาณ ขั้นที่ ๓ และ ๔ และที่สำคัญ หากยังไม่รู้จักตัว ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ การเกิดดับ ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมได้เลย ครับ เพราะ ถ้าไม่รู้จักตัวธรรม แล้วจะรู้ว่า อะไรเกิดดับ
เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดพิจารณาว่า ไม่เที่ยง ก็เป็นเขา เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลที่ไม่เที่ยง ซึ่งในความเป็นจริง คน สัตว์ สิ่งต่างๆ ที่เป็นสมมติบัญญัติ ไม่ได้มีลักษณะของอนิจจัง ทุกข์ อนัตตาเลย เพราะเป็นแต่เพียง สมมติบัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของความไม่เที่ยงจริงๆ เพียงแต่คิดเป็นเรื่องราวของสภาพธรรม ที่คิดว่าเกิด ดับ เท่านั้น ดังนั้น หนทางที่ถูก คือ ต้องเริ่มจากปัญญา ที่รู้ลักษณะของตัวธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ย่อมจะถึงการประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมอื่นๆ มีความไม่เที่ยงได้ในอนาคต ครับ
ซึ่ง ขออนุโมทนา คุณผู้ร่วมเดินทางที่นำข้อความบรรยาย ของท่านอาจารย์สุจินต์ ในประเด็น เรื่อง การเห็นการเกิดดับ ว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ครับ
ขออนุโมทนา
ผมได้ย้อนไปอ่านบทความเรื่องหนึ่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวถึง คุณ Alan Driver ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ที่สนใจศึกษาธรรมะจนแตกฉาน ได้เคยบวชเป็นพระภิกษุ นามว่าธัมมธโร อีกทั้งได้ร่วมสนทนาธรรม กับท่านอาจารย์สุจินต์หลายครั้ง แต่ท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เมื่อปี ๒๕๓๑ ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง คุณ Alan ไว้ใน เรื่อง รำลึกถึง คุณอลัน ไดรเวอร์ มีบางตอนท่านอาจารย์กล่าวถึง เรื่องที่คุณ Alan เห็นถึงความผิวเผินของ ไม่ว่าจะเป็นหลักปรัชญา หลักจิตวิทยา บทกลอน บทกวี (ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำประยุกต์ เปรียบเทียบธรรมะทั่วๆ ไป ที่มีอยู่ในปัจจุบัน) ที่ไพเราะและทำให้คล้อยตามไปเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความละเอียด ที่พอจะทำให้เห็นสัจจธรรมได้เลย
ซึ่งต่อมา คุณ Alan แม้จะเป็นชาวต่างประเทศ ก็ได้ศึกษาพระธรรมอย่างละเอียดจนสามารถที่จะอธิบายธรรมะได้อย่างลึกซึ้งมากๆ
ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
"... เมื่อเลิกสอนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุแล้ว ดิฉันก็ได้สนทนาธรรม กับชาวต่างประเทศที่สนใจพระธรรมทุกวันพุธตอนบ่าย ที่ห้องสมุดของวัดบวรนิเวศ ซึ่งท่านพระภิกษุ ธัมมธโร หรือคุณอลัน ก็ได้มาร่วมสนทนาธรรมด้วย ในภายหลังที่ได้มาสนทนาธรรมหลายครั้ง คุณอลันก็ได้กล่าวถึงความรู้สึก ที่ได้มาสนทนาธรรมด้วยในครั้งแรกว่า
วันแรกที่ได้ฟัง ที่ดิฉันพูด คุณอลันก็คิดว่า ผู้หญิงคนนี้โง่มาก ไม่ฉลาดเลย ถามอะไรก็ไม่ได้ตอบเฉยๆ แต่ให้คุณอลันคิด แล้วก็กลับถามในสิ่งที่คุณอลันจะต้องพิจารณา ซึ่งตอนแรกคุณอลันก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจเลย เพราะเหตุว่า รู้สึกออกจะขุ่นใจ ออกจะโกรธๆ
ถ้าท่านจำได้ มีนิตยสารฉบับหนึ่งขอสัมภาษณ์คุณอลัน คุณอลันก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย แต่หลังจากที่คุณอลันกลับคิดทบทวนถึงการสนทนา คุณอลันก็รู้สึกตัวได้ว่า ก่อนนั้น ที่คุณอลันเข้าใจว่าตนเองมีความฉลาด มีความเข้าใจชีวิต ปรัชญา และจิตวิทยานั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นความพอใจผิวเผินในบทกวีที่ไพเราะ แต่ยังไม่ใช่สัจจธรรม เพราะเหตุว่า บทกวีบางบทกลอน ก็ทำให้เราโน้มเอียงไปที่จะเห็นความจริงของชีวิต แต่แม้กระนั้น ก็ไม่มีความละเอียด มาเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสัจจธรรมจริงๆ เพียงแต่เป็นความไพเราะที่ทำให้คนคล้อยตามเท่านั้นเอง ... "
เห็นได้ว่า ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดมากๆ นะครับ ไม่มีความผิวเผินเลย ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล และต้องตรงจริงๆ แบบคุณ Alan เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เลยนะครับ
กุศลใดๆ ที่เกิดขึ้นจากความเห็นถูกข้างต้นนั้น ผมก็ขออุทิศให้แก่คุณ Alan Driver ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยนะครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ