การปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการอบรมปัญญาเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ละกิเลสอันเป็นเหตุของทุกข์ทั้งปวง พ้นจากวัฏฏสงสาร การเจริญกุศลขั้นศีล เจริญสมถภาวนา เจริญวิปัสสนาภาวนา เรียกว่าการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมที่จะถึงโลกุตตรธรรมได้ ต้องเป็นกุศลขั้นมรรคที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไปนั่งหรือไปเดินโดยไม่มีปัญญา ขณะนั้นจิตไม่เป็นกุศล ไม่มีปัญญา ไม่เรียกว่า ปฏิบัติธรรม
ถ้าปฏฺบัติธรรมผิด ไม่ปฏิบัติเลยยังดีกว่า เพราะว่าเราไม่ต้องสะสมความเห็นผิดและวัฎฎสงสารก็ไม่ยืดยาวออกไปอีก
ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้นั้นไม่ได้เข้าใจว่า ตนเองกำลังปฏิบัติผิด
แม้แต่ผู้ที่เคยมาฟังท่าน อ. สุจินต์ เป็นเวลาหลายปี ก็ยังหันไปหาสำนักปฏิบัติ โดยการนั่งสมาธิ ด้วยเหตุผลที่ว่า การฟังธรรมไปเรื่อยๆ เท่านั้นไม่ได้ช่วยให้ชีวิตประจำวันของเขาเปลี่ยนไปในทางที่มีความรู้สึกที่สุข สบายใจมากขึ้น มีความโกรธ ความไม่สบายใจน้อยลง
บางวันหนักขึ้นกว่าเดิมอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดว่า ศึกษาธรรมะแล้ว ต้องสุขใจ โกรธน้อยลง เพราะยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า โกรธไม่ใช่ "เราโกรธ" และยังเข้าใจผิดอีกว่า ศึกษาธรรมเพื่อให้ตนเอง สุขใจมากขึ้น
ก็ยัง งงๆ ที่ว่าฟังธรรมที่ ท่าน อ. สุจินต์ สอนอย่างไร เพราะท่านอาจารย์พูดชัดเสมอว่า ฟังเพื่อความเข้าใจในสิ่งที่ฟัง และความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย เหมือนการจับด้ามมีด เมื่อมีการฟังบ่อยๆ
นอกจากนี้ คนส่วนมากมักเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม คือการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งในพระไตรปิฏกก็มีข้อความ เช่น การเดินจงกลม ผู้ที่อ่านก็ตีความว่า นั่นแหละคือวิธีหนึ่งของการปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่ได้เข้าใจถูกว่า การศึกษาธรรม ก็คือการสั่งสมความเข้าใจ (ปัญญา) ซึ่งจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ทำหน้าที่ของปัญญา เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นปกติ อย่างนี้ในชีวิตประจำวัน จนทั่วทุกทวาร จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมของสภาพธรรมอย่างแท้จริง และถูกต้องตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขออนุโมทนาครับ