พระพุทธเจ้านิพพานแล้วไปอยู่ที่ไหน
โดย apiwit  10 ก.ค. 2558
หัวข้อหมายเลข 26762

คือผมสงสัยอยู่ประการหนึ่งว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว จิตขันธ์ดับสิ้นไม่เหลือแล้ว ตัวสตินั้นจะยังคงอยู่หรือไม่ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เคยบอกว่า "จักรวาลมีทั้งหมด 11 มิติ และนิพพานอยู่ในมิติที่ 11 ซึ่งมันเกินกำลังที่เราจะเข้าถึงมันได้ด้วยสติปัญญาของเรา นอกจากผู้ที่บรรลุพระอรหันต์เท่านั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องเข้าถึงด้วยญาณปัญญาและกำลังสติขั้นสูง" ดังนั้นผมจึงสงสัยว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงนิพพานไปแล้ว พระองค์ทรงไปอยู่ในรูปแบบใด ขอท่านอาจารย์ช่วยอธิบายสภาวะแห่งนิพพานโดยละเอียด



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 10 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ทั้งหลาย เมื่อดับขันธปรินิพพาน คือ การดับโดยรอบซึ่งขันธ์แล้ว (ตาย) ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการเกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏฏ์อีกเลย เนื่องจากว่า ดับเหตุ คือ กิเลสที่จะทำให้เกิดในภพใหม่ได้แล้ว นี้คือ ความเป็นจริง, จะเห็นได้ว่าใครก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเกิด มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก ตามกรรมที่จะทำให้เกิดในภพใหม่ ถ้าเป็นกุศลกรรมให้ผลนำเกิดก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลนำเกิด ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฌาน ถ้าฌานไม่เสื่อมก่อนจุติ ก็ไปเกิดในพรหมโลกตามควรแก่ระดับขั้นของฌานที่แต่ละท่านได้ แต่ถ้าดับกิเลสหมดสิ้น เป็นผู้สิ้นอาสวะ ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ แล้ว เมื่อปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านประทับอยู่ที่ใด

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย หกสิบสี่  วันที่ 10 ก.ค. 2558

อยากทราบว่าเมื่อหูเราได้ฟังเพื่อนว่าคนอื่นนั่นคือกรรมที่ทำให้เราต้องได้ยินใช่หรือไม่ และหลังจากนั้นเราก็เกิดความไม่ชอบใจไม่อยากได้ยินเพราะความไม่ชอบใจนั้นเป็นอกุศลที่จะทำให้เราสะสมกรรมหรือไม่ เราควรจะฝึกสติให้ทันแล้ววางเฉยหรืออย่างไร


ความคิดเห็น 3    โดย tanrat  วันที่ 10 ก.ค. 2558

สาธุ


ความคิดเห็น 4    โดย peem  วันที่ 11 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 11 ก.ค. 2558

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

การได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นวิบากทางหู เป็นผลของกรรมที่ตนเองทำมา ขณะที่เกิดอกุศลหลังจากการได้ยินเสียงไม่ดี เป็นอกุศลจิต แต่ ไม่เป็นอกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดผล การวางใจได้ ต้องด้วยปัญญา ที่อบรมอย่างยาวนานด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย j.jim  วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขณะที่ได้ยินเสียงไม่ดี เป็นผลของกรรม ถ้าปัญญาเกิดจะรู้ว่าแม้เสียงก็รูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีสาระ ไม่เที่ยง ไม่ใช่เสียงคนนั้นคนนี้ค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย WS202398  วันที่ 28 ก.ค. 2558

“สิ่ง” สิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบ, นั้นมีอยู่ ; ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้ ; ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่หยั่งลงได้ ; ใน “สิ่ง” นั้นแหละ นามรูป ดับสนิทไม่มีเหลือ ; นามรูป ดับสนิท ใน “สิ่ง” นี้ เพราะการดับสนิทของวิญญาณ ; ดังนี้แล.


ความคิดเห็น 9    โดย WS202398  วันที่ 28 ก.ค. 2558

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓

สุตตันตปิฎก

ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น

[๒๔๘] ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน?

ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ?

ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ?

ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ?

ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร.

[๒๔๙] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว อย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิด ดังนี้ ไม่ควร. ฯลฯ พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็

ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร. ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะ พระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว.

[๒๕๐] ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้ เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วย ความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจ เป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึง พยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึง รู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ ต่อหน้าเรา.

ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไร จึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัย อะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่.

ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว?

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้า เราแล้ว.

ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศ ไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะ พึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับ ไปแล้ว.

การละขันธ์ ๕

[๒๕๑] ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะ รูปใด รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูปมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณ ไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะ กล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้. บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด ... เพราะสัญญาใด ... เพราะ สังขารเหล่าใด ... เพราะวิญญาณใด ... วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือน มหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิด ก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้.


ความคิดเห็น 10    โดย นิตยา  วันที่ 3 ส.ค. 2558

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 11    โดย ประสาน  วันที่ 6 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 12    โดย jran  วันที่ 7 ส.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย chaiyaponguluchadha9  วันที่ 9 พ.ย. 2566

เมื่อนิพพานแล้ว จิต,วิญาญ ก็ดับไปด้วย แล้ว

พระอรหันต์ที่ลงมาโปรดสัตว์นรก (พระมาลัย) ท่านมาด้วย รูปใด

และรูปสักการะของพระอรหันต์ ที่บรรดา พุทธสาวกทำขึ้นมา แล้ว บนบาน,อธิฐาน แล้ว สำเร็จผล เป็นเพราะ องค์พระอรหันต์ ที่มาสักการะ หรือเป็นเพราะ สิ่งใด


ความคิดเห็น 17    โดย chatchai.k  วันที่ 10 พ.ย. 2566

ข้อความบางตอน จากความคิดเห็นที่ 1

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ทั้งหลาย เมื่อดับขันธปรินิพพาน คือ การดับโดยรอบซึ่งขันธ์แล้ว (ตาย) ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการเกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏฏ์อีกเลย เนื่องจากว่า ดับเหตุ คือ กิเลสที่จะทำให้เกิดในภพใหม่ได้แล้ว


พระอรหันต์เมื่อดับขันธปรินิพพาน จะไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีจิต เจตสิก และ รูป เพราะเหตุว่าดับเหตุที่จะทำให้เกิด คือ กิเลส ได้หมดสิ้นแล้ว นั่นเอง จึงไม่มีการไป ประทับหรือไปอยู่ ณ ที่ไหนเลย ไม่มีใครสามารถพบเห็นได้อีก เพราะไม่มีการเกิดอีกแล้ว ครับ.

เรื่อง พระมาลัย ไม่ปรากฏในพระไตปิฎก แต่งขึ้นตามความคิดความเห็นของผู้แต่ง ครับ